Digital Marketing
เปิด 5 เงื่อนไขที่ทำให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้าขึ้นมาทันทีแม้ไม่ได้โฆษณา
สำหรับผู้ประกอบการป้ายแดง การนำผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาดอาจดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่เราเคยได้เห็นหรือได้ฟังผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้มเหลวและไปไม่ถึงฝั่ง แต่รู้หรือไม่ว่าที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ จำนวนมากไปไม่รอดเป็นเพราะขาดการวางแผนที่ดี โดยเฉพาะการทดสอบตลาดเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรานั้นมีความต้องการจากกลุ่มเป้าหมายจริงๆ จากนั้นค่อยลงทุนไอเดียและเงินทุนเพื่อต่อยอดให้ถึงเป้าหมาย ซึ่ง 5 สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเริ่มต้นเปิดตัวผลิตภัณฑ์ มีดังนี้
1. การวิจัยตลาด (Market Research)
ขั้นตอนแรกที่เราควรทำก็คือ การหาข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการประเภทเดียวกับเราในตลาดอย่างละเอียด การระบุและวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ขนาดตลาด และคู่แข่ง เพราะจะทำให้เรามองเห็นโอกาสจากกลุ่มเป้าหมายและผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของเรา ซึ่งเราจะได้รับข้อมูลนี้จากการวิจัยตลาด และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมาย หรือในยุคปัจจุบันอาจเปลี่ยนเป็นการสำรวจตลาดด้วยแบบฟอร์มออนไลน์ หรือทาง e-mail หรือทางโทรศัพท์เพื่อให้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทั้งนี้ หากเราประสบปัญหาเรื่องจำนวนผู้ทำแบบสอบถามมีปริมาณน้อยหรือไม่ได้รับความร่วมมือ ลองคิดเรื่องของตอบแทนหรือของที่ระลึกต่างๆ ที่จะสามารถมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายดู น่าจะช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น
2. พิสูจน์แนวคิดทางธุรกิจ
ลำดับต่อมาต้องทดสอบแนวคิดหรือพิสูจน์ให้ได้ว่า แนวคิดในผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรามีโอกาสเป็นไปได้จริง ไม่ใช่เรื่องที่ฝันหรือยกเมฆขึ้นมา นั่นก็คือ หลังจากพิสูจน์ได้แล้วว่ามีความต้องการในตลาดจริง เราจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นมาขายได้จริงๆ ใช่ไหม และมีผลตอบแทนจากการลงทุนโดยหักลบค่าใช้จ่ายแล้วยังคงเหลือกำไรใช่หรือไม่ ซึ่งเราจำเป็นต้องวิเคราะห์คู่แข่ง วิเคราะห์ธุรกิจและสภาพการเงินการลงทุน เพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่จะนำมาลงุทนนั้นคุ้มค่ากับความพยายาม และมีกำไรให้ไปต่อได้
3. เลือกสถานที่ผลิต (โรงงาน) ที่เหมาะสม
อีกปัจจัยความสำเร็จของผลิตภัณฑ์จะอยู่ขึ้นอยู่กับสถานที่ผลิต ซึ่งผู้ประกอบการควรเลือกโรงงานที่มีมาตรฐานการผลิตรับรองครบถ้วนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ และเลือกโรงงานที่มีความชำนาญในประเภทผลิตภัณฑ์แบบเดียวกับสินค้าของเรา ทั้งนี้ โรงงานบางแห่งรับผลิตในปริมาณขั้นต่ำ 1,000 ชิ้น บางโรงงานอาจรับที่ 5,000 ชิ้น ราคาต่อชิ้นก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าใครมีสถานที่ผลิตเป็นของตัวเองก็อาจต้องพิจารณาในเรื่องของการลงทุนพัฒนาสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายด้วย
4. สร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์
การสร้างประสบการณ์หรือ Story รวมถึงเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญพอๆ กับการสร้างผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นเลยทีเดียว เพราะในแต่ละวันกลุ่มเป้าหมายจะมีโอกาสได้เห็นและสัมผัสแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย การทำให้แบรนด์ของเราโดดเด่นมีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำ จะทำให้เรากลายเป็นจุดดึงดูดทางความคิดของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
5. เลือกช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสม
จริงๆ แล้วช่องทางการจำหน่ายมีมากมายหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การขายจากหน้าร้าน ฝากจำหน่าย ระบบตัวแทนจำหน่าย ขายผ่านโซเชียลมีเดีย ร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น แต่หลังจากที่ทุกคนได้รู้จักกับเจ้าไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว รูปแบบการจำหน่ายทั้งหมดแทบจะเปลี่ยนถ่ายจากออฟไลน์เป็นออนไลน์แบบเต็มรูปแบบกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ลองเลือกช่องทางที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ โดยวิเคราะห์จากกลุ่มเป้าหมาย ว่าพวกเขาท่องโลกออนไลน์อยู่บนแพลตฟอร์มใด ใช้โซเชียลมีเดียประเภทใด และมักออนไลน์ในช่วงเวลาใด เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างการรับรู้แบรนด์ไปได้พร้อมๆ กับยอดขายนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup