Digital Marketing
How to วิธีเปลี่ยนอาชีพเสริมให้เป็นสินค้าขึ้นห้าง สร้างรายได้ถาวรแบบแบรนด์ Little Nonya
สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน แอนโทนี่ ตัน หนุ่มสิงคโปร์วัย 38 ปีไม่คาดคิดว่าธุรกิจคุกกี้ที่สร้างรายได้เสริมให้เขาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาจะกลับกลายมาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักในยุคที่โลกถูกคุกคามด้วยไวรัสโควิด-19 วิกฤติการระบาดของโรคทำให้เขาต้องยุติงานประจำแล้วหันมาทำพึ่งธุรกิจเบเกอรีภายใต้แบรนด์ Little Nonya อย่างจริงจัง
เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เมื่อ 14 ปีก่อนตอนที่แอนโทนี่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เขาต้องการหารายได้เสริมจึงชักชวนมารดาทำทาร์ตสับปะรดขายช่วงเทศกาลตรุษจีน ทาร์ตสับปะรดเป็นขนมที่ชาวสิงคโปร์และชาวมาเลเซียมักมอบให้กันช่วงตรุษจีน เนื่องจากทาร์ตสับปะรดในภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ong lai หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ทั้งสองช่วยกันอบขนมในครัวที่บ้านเพื่อขายให้กับญาติ ๆ และเพื่อนฝูง สร้างรายได้หลายพันริงกิต และผลตอบรับก็ดีมาก มีการแนะนำต่อ ๆ กัน
แอนโทนี่กับแม่ก็ช่วยกันทำทาร์ตสับปะรดและขนมอบอย่างอื่นขายต่อเนื่องโดยใช้ชื่อแบรนด์ Little Nonya ซึ่งภายหลังกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงมากโดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนจะเป็นช่วงที่ขายดีสุด โดยใน 2 เดือนของทุกปีช่วงใกล้ตรุษจีน Little Nonya จะทำยอดขายมากกว่า 40,000 กล่องเลยทีเดียว สิ่งที่ทำให้ขนมของแบรนด์นี้โดดเด่นมาจากสูตรที่ถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่นมากกว่า 3 ชั่วอายุคน
แอนโทนี่เล่าว่าคุณยายของเขาเรียนรู้การทำอาหารและขนมตามแบบเปอรานากัน (Peranakan) หรือ ญอญญ่า (Nonya) จากเพื่อนบ้าน เปอรานากัน/ญอญญ่าคือ การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมมลายูกับวัฒนธรรมจีน และมีการถ่ายทอดสูตรมายังคุณแม่ของแอนโทนี่ โดยที่เขาก็เรียนรู้และซึมซับจากคุณแม่อีกที
ช่วงแรก ๆ แอนโทนี่และคุณแม่อบขนมทาร์ตสับปะรดและคุกกี้ขายแค่ปีละครั้งช่วงตรุษจีน แต่ผลของการตอบรับดี จำนวนลูกค้าคนนอกที่ไม่ใช่ญาติและเพื่อนเพิ่มมากขึ้น Little Nonya จึงขยับขยายไปเปิดเป็นรถเข็นขายในห้าง Raffles Xchange กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้าขายดีคือทางร้านจะให้ลูกค้าชิมขนมหรือแจกตัวอย่างขนมแบบไม่อั้น กระทั่งมาถึงจุดที่ Little Nonya เป็นที่รู้จักมาขึ้นเมื่อห้าง Takashimaya เชิญไปเปิดร้านในงานเทศกาลตรุษจีนของทางห้าง
แอนโทนี่ไม่ปล่อยให้เสียโอกาส ไหน ๆ ก็ได้มาเปิดให้ห้างดังแล้วเขาจึงพยายามทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำมากขึ้นโดยการตั้งเตาเพื่ออบขนมกลางห้าง และคอยสอบถามลูกค้าที่ผ่านไปมาว่าเคยชิม Little Nonya หรือยัง ถ้ายัง เขาจะหยิบขนมที่อบใหม่จากเตาโน้มน้าวให้ลองชิม ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อได้ชิมก็มักถูกใจ และกลายมาเป็นลูกค้า ชื่อเสียงของ Little Nonya เริ่มขจรขยายเมื่อมีสื่อต่าง ๆ รายงานถึง ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และเว็บไซต์ นับจากนั้น Little Nonya ก็เดินสายออกงานแฟร์ตามที่ต่าง ๆ
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จัก ผู้บริโภคต้องการสินค้ามากขึ้น กำลังการผลิตไม่พอเนื่องจากแอนโทนี่ยังผลิตขนมในสไตล์โฮมเมดซึ่งทำให้ขนมไม่พอขาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เขาจึงติดต่อโรงงานของญาติในมาเลเซีย และอินโดนีเซียให้ช่วยผลิต ใช้สูตรของครอบครัวเขา โดยลงทุนไป 100,000-200,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2.3-4.5 ล้านบาท) กระทั่งคืนทุนในเวลาเพียง 2 ปี
แม้ธุรกิจ Little Nonya จะเติบโตขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากแอนโทนี่มีงานหลักซึ่งเป็นงานประจำคือการจัดหาสินค้าประเภทหลอดไฟ โคมไฟ และแชนเดอเลียร์ให้กับโรงแรมต่าง ๆ อันเป็นธุรกิจที่ลงขันทำร่วมกับเพื่อน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด -19 เมื่อเกิดการระบาดรอบที่สอง เพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนก็ตัดสินใจพับกิจการ แอนโทนี่จึงหันกลับไปโฟกัสที่ธุรกิจขนมอย่างเต็มตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
จากที่เปิดขายแบบรถเข็นในห้าง และตระเวณออกงานแฟร์ แอนโทนี่ลงทุนเปิด Little Nonya เป็นร้านถาวรแห่งแรกที่ชางงี นอกจากทาร์ตสับปะรดแล้วยังมีคุกกี้ต่าง ๆ รวม 23 รสให้เลือก ที่ขายดีสุดคือมาร์ตสับปะรด คุกกี้อัลมอนด์ และคุกกี้ถั่วลันเตา
แอนโทนี่กล่าวว่าความสำเร็จของแบรนด์ Little Nonya มาจากขนมมีรสชาติอร่อย แต่ราคาไม่แพง ซึ่งราคาเป็นอะไรที่จูงใจอย่างมาก เมื่อเทียบกับแบรนด์สินค้าประเภทเดียวกันในห้าง Little Nonya จะราคาถูกกว่า ยิ่งถ้าซื้อเป็นเซ็ต 6 กล่อง 90 ดอลลาร์ ตกกล่องละ 15 ดอลลาร์เท่านั้นเอง แม้กำไรไม่มากมาย แอนโทนี่เผยเขาเน้นปริมาณการขายมากกว่า ล่าสุดได้เพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์แล้ว
แอนโทนี่กล่าวอีกว่าสินค้าแบรนด์ Little Nonya ได้รับความนิยมถึงขนาดได้รับออร์เดอร์จากลูกค้าล่วงหน้าเป็นเดือนก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน เพื่อลบภาพลักษณ์การเป็นขนมเฉพาะเทศกาล Little Nonya ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นแบรนด์ขนมที่รับประทานได้ตลอดปีโดยปีนี้ได้แนะนำสินค้าใหม่ 9 ชนิด อาทิ ทาร์ตสับปะรดผสมลิ้นจี่ คุกกี้รสหมาล่า และคุกกี้รสต้มยำ เป็นต้น สำหรับแผนธุรกิจขั้นต่อไป แอนโทนี่เตรียมขยายจากเมนูขนมอบไปยังอาหารเปอรานากัน
ที่มา
https://vulcanpost.com/732101/little-nonyas-cookies-singapore/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup