Digital Marketing
เริ่มธุรกิจยังไงในวันที่ประสบการณ์เป็นศูนย์ 3 วิธีเปลี่ยนมือใหม่ให้เป็นมือโปร
การเริ่มต้นธุรกิจโดยยังไม่มีประสบการณ์ อาจเป็นสิ่งที่น่ากลัวและน่ากังวลสำหรับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเริ่มต้นโดยไม่มีผู้ให้คำแนะนำหรือหน่วยงานที่คอยให้การสนับสนุนใดๆ แต่ในโลกความจริงแล้ว การไม่มีประสบการณ์มาก่อน ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการก้าวเข้าสู่การเริ่มต้นธุรกิจแต่อย่างใด เพราะว่าเราสามารถเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มจาก
1. สังเกตตลาดในมุมมองของผู้บริโภค
เราสามารถมองตลาดในมุมมองของผู้บริโภค แล้วค้นหาสิ่งที่ขาด สิ่งที่แตกต่าง สิ่งที่ลูกค้าต้องการ แล้วพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา พร้อมกับมอบสิ่งที่ดีกว่าให้กับลูกค้า โดยสิ่งที่ต้องคำนึงคือเรื่องความคุ้มค่าด้านเวลาและราคา หากผลิตภัณฑ์เราสามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาเรื่องการประหยัดเวลา หรือมอบความคุ้มค่าด้านราคาได้ดีกว่าคู่แข่งในตลาด ก็คุ้มค่าที่จะลองทำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อทดสอบตลาด
ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์โอ๊ตบาร์ แบรนด์ Bobo’s จากสหรัฐฯ ซึ่งตอนเริ่มต้นเมื่อทำธุรกิจเมื่อปี ค.ศ. 2003 พวกเขาพบว่าโอ๊ตบาร์ของพวกเขาแม้ว่าจะไม่ได้มีรสชาติที่อร่อยมาก แต่ก็น่าจะดีที่สุดในตลาด ณ ช่วงเวลานั้น ทว่าแค่เรื่องรสชาติอย่างเดียวคงไม่พอ พวกเขาพยายามหาจุดเด่นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจนั่นก็คือ เรื่องของสุขภาพ จึงพัฒนา โอ๊ตบาร์ปราศจากกลูเตน พร้อมกับแก้ปัญหาเรื่องเวลาด้วยการพัฒนาเป็นมื้อเช้าแบบง่ายๆ พกพาสะดวก ในราคาที่ทุกคนสามารถมีติดครัวได้ เรียกได้ว่าการช่างสังเกตครั้งนี้ทำให้โอ๊ตบาร์จาก Bobo’s เป็นที่รู้จักและสร้างยอดขายหล่อเลี้ยงธุรกิจได้จนถึงปัจจุบัน
2. การเติบโตที่รอคอยอยู่ในอนาคต
อย่ากลัวที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเริ่มต้นธุรกิจด้วยข้าวพองอบกรอบที่ปราศจากกลูเตน เน้นส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ และปราศจากวัตถุกันเสีย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกค่อนข้างจำกัด แต่หลังจากประกอบธุรกิจไปแล้วเราจะพบว่ามีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่จัดโครงการต่างๆ มากมาย ทั้งโครงการอบรม พัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่จะทำให้เราได้พบกับที่ปรึกษา เพื่อนร่วมธุรกิจ เครือข่ายต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญมากมาย การพบกันเหล่านี้มักช่วยให้เราได้เจอทางออกใหม่ๆ เช่น การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของตลาด การสเปรย์เพื่อเคลือบรสชาติต่างๆ ลงบนข้าวพองอบกรอบ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และด้านอื่นๆ อีกมากมาย
3. ความคิดเห็น (เพื่อพัฒนาธุรกิจ) มีอยู่รอบตัว
บางครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราในช่องทางออฟไลน์ก็คือ การไปที่ร้านค้าปลีกที่เราฝากขายผลิตภัณฑ์ จากนั้นสังเกตว่าผู้บริโภคหยิบสินค้าของเรา หรือพูดถึงสินค้าของเราอย่างไร รวมถึงสอบถามกับเจ้าของร้านเกี่ยวกับ Feed Back ด้วยอีกทาง การได้รับคำติชมอย่างตรงไปตรงมาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนช่องทางออนไลน์เราสามารถใช้ Direct Message ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือตรวจดูจากคอมเมนต์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ การได้รับ Feed Back ที่ไม่ดีไม่ใช่ความล้มเหลว แต่ให้มองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดีขึ้น ซึ่งต้องอย่าลืมขอบคุณผู้ที่ให้คอมเมนต์ต่างๆ ในการพัฒนากับเราด้วย เพราะเขาอาจเป็นลูกค้าที่ต้องการให้ธุรกิจของเราอยู่ไปอีกนานๆ ก็ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup