Digital Marketing
เงินไม่มีแต่อยากเริ่มธุรกิจ? ทำได้ไม่ยาก แค่ก้าวตามบันได 6 ขั้นก็ปั้นธุรกิจได้
คำถามคือ เราสามารถเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่มีเงินได้หรือเปล่า คำตอบคือ ได้ แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าคนที่มีเงินทุนพร้อมกว่านั่นเอง ดังนั้น หากเราคิดว่าเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการคือชีวิตที่กำลังรอคอยอยู่ แค่ยังไม่มีเงิน ก็ต้องบอกว่าบทความนี้จะช่วยเติมเต็มความพร้อมในการเริ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี
1. เริ่มต้นจากไอเดีย
สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ไม่มีเงิน ไม่ได้หมายถึงไม่มีความพร้อมและทรัพยากร เช่น องค์ความรู้ ทีมงาน ประสบการณ์ ที่ปรึกษา ทักษะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และที่ขาดไม่ได้คือ ไอเดีย โดยไอเดียแรกเริ่มไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เพราะสงครามด้านการตลาดที่เราต้องไปพบยังมีอีกมากมาย ทั้ง ถูกกว่า หรูกว่า บริการดีกว่า ใช้ง่ายกว่า สะดวกกว่า เร็วกว่า และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น แค่เริ่มจากไอเดียที่เรียบง่าย พร้อมปรับประยุกต์ใช้ได้กับทรัพยากรที่มีอยู่ก็พอแล้ว การแข่งขันด้านอื่นๆ ไว้รอทดสอบตลาดในเบื้องต้นแล้วค่อยนำมาประยุกต์และพัฒนาอีกครั้ง
2. จัดทำแผน ลองร่างแผนแบบง่ายๆ เท่าที่มี โดยแบ่งเป็น
2.1 ร่างแผน แค่อธิบายสั้นๆ ว่าธุรกิจคืออะไร ใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งไม่ว่าใครอ่านก็สามารถเข้าใจได้ทันที
2.2 แผนแบบมีงบ เพิ่มจากข้อ 2.1 ไปอีกก็คือ มีเงินทุนเบื้องต้นกี่บาท มีทรัพยากร บุคลากร คอนเนคชัน และองค์ความรู้อะไรบ้าง
2.3 แผนธุรกิจฉบับย่อ หัวข้อนี้เหมาะกับคนที่มีเงิน และพร้อมลงทุนแล้ว โดยอาจหาที่ปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนเพื่อช่วยทำอย่างเป็นระบบ
3. การจัดหาเงินทุน
หากไม่มีเงินลงทุน หรือมีแต่ไม่เพียงพอ ทางเดียวที่จะเริ่มได้คือการขอเงินทุนจากเพื่อนหรือคนในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีทางเลือกที่น่าสนใจอีกมากมาย ดังนี้
3.1 Crowdfunding คือ การระดมทุนจากสาธารณะในรูปแบบการรับบริจาคคนละไม่มาก เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์โครงการ
3.2 การสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการมากมายที่เกี่ยวกับ Start Up และการบ่มเพาะธุรกิจ ของหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการมือใหม่ (และมือเก๋า) อยู่มากมาย
3.3 กู้ธนาคาร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งควรผ่านกระบวนการตามข้อ 3.2 เพื่อให้โครงการหรือแนวคิดธุรกิจได้รับการยอมรับในวงกว้างเสียก่อน เพราะไอเดียอย่างเดียว ธนาคารคงไม่ยอมเสี่ยงปล่อยกู้แน่นอน
3.4 Angel ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนั่งรอนางฟ้าเทวดามาโปรดเพื่อให้โชคดี แต่หมายถึง Angel Investor นักลงทุนที่เลือกลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการที่มีโมเดล แนวคิด และแผนธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สูง
3.5 เงินเก็บจากการทำงาน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะต่อให้ไม่มีใครเห็นความเป็นไปได้จากไอเดียของเรา ตัวเราเองอาจเป็นคนเริ่มลงทุนจากเงินเก็บ เพื่อให้ความเป็นไปได้ที่เล็กน้อย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไอเดียกลายเป็นธุรกิจจริงด้วยมือของตัวเอง
4. เริ่มจากเล็กๆ เพื่อประหยัดเงิน
การที่เราไม่มีเงินลงทุนธุรกิจ ทำให้ในอนาคตการได้รายได้มาทุกบาทเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนการเงินให้ดี ดังนั้น พยายามเริ่มจากเล็กๆ และดำเนินธุรกิจโดยมีต้นทุนคงที่น้อยที่สุด เช่น ตัดค่าเช่าต่างๆ หรือค่าบริการรายเดือนที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นต้น รวมถึงอาจทำ List รายการที่จำเป็นต้องใช้สำหรับธุรกิจ และสิ่งใดที่สามารถใช้ได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียเงิน เช่น การทดสอบผลิตภัณฑ์กับหน่วยงานภาครัฐฯ และอะไรที่เราสามารถแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายได้โดยไม่ต้องลงทุน เพื่อให้ธุรกิจมีกำไรเหลือเก็บให้ได้มากที่สุด
5. หารายได้
ในช่วงเริ่มต้น เราสามารถขายสินค้าหรือบริการได้จากคนใกล้ตัว เริ่มจากเพื่อน คนแถวบ้าน คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญคืออย่าลืมขอความคิดเห็นจากผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเราไปด้วย หลังจากปรับปรุงและพัฒนาตามคำแนะนำของผู้ซื้อกลุ่มแรกแล้ว ค่อยเดินเกมส์รุกไปยังเพื่อนใน Line และ โซเชียลมีเดีย ต่อไป
6. เคล็ดลับความยั่งยืนทางธุรกิจ
6.1 Low Cost ไม่ว่าธุรกิจของเราจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่อย่างไร หัวใจสำคัญของธุรกิจคือต้องพยายามรักษาต้นทุนให้ต่ำอยู่เสมอ (โดยที่ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพด้วย)
6.2 สายป่านก็สำคัญ ลองคำนวณงบประมาณค่าใช้จ่ายรายเดือนดู เช่น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท ในฐานะผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องมีเงินสำรองในการทำธุรกิจอยู่ที่ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อที่เวลาพบวิกฤตต่างๆ จะได้มีเวลาปรับแผน และบริหารจัดการภาพรวมได้ทันก่อนธุรกิจจะล้มลง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup