Digital Marketing

รู้จัก 6 เทคโนโลยีที่ธุรกิจยุคใหม่ต้องมี ถ้าอยากโตกว่าคู่แข่ง

  


Main Idea
 
  • เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในทุกๆ ด้านของมนุษย์ แม้แต่การดำเนินธุรกิจที่เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นทั้งอาวุธและแต้มต่อให้กับธุรกิจที่ใช้มันเป็น
 


     นับวันรูปแบบการทำธุรกิจยิ่งมีการพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมือถือได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของมนุษย์เป็นเสมือนอุปกรณ์คู่กายที่ทำได้สารพัดนึกแม้แต่การซื้อสินค้า แค่เหตุผลนี้ทำให้ทุกธุรกิจจึงไม่อาจปฏิเสธนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้แนะนำให้ธุรกิจไทยควรนำเทคโนโลยีที่สำคัญมาปรับใช้ ได้แก่ AI, Blockchain, Cloud, Data, E-Business และ platForm



.

     AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์

     โปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำความเข้าใจ เรียนรู้ วิเคราะห์ และประมวลผลต่างๆ อย่างอัตโนมัติ ซึ่ง AI แบ่งออกเป็นหลายระดับตามความสามารถหรือความฉลาดเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ โดยผู้เชี่ยวชาญ ได้อธิบายว่า AI มีรูปแบบการทำงาน 5 ลักษณะ ได้แก่
1. การวิเคราะห์และอธิบายเบื้องต้น (Describe)
2. การพยากรณ์ (Predict)
3. การทำงานอัตโนมัติ (Automate)
4. การจัดประเภท (Classify) และ
5. การให้คำแนะนำ (Prescribe)
.
     ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ ในปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้เพื่อลดการทำงานบางส่วน อาทิ Chatbot ในการตอบคำถามลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า โดย AI จะมาช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าให้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มการตลาดและการลงทุน



     Blockchain ช่วยป้องกันการปลอมข้อมูล

     คือ ระบบการกระจายฐานข้อมูล (Distributed Ledgers) ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้งการมีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) โดยข้อมูลที่จัดเก็บแบบกระจายทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนข้อมูล สามารถตรวจสอบที่มาหรือติดตามข้อมูลการทำธุรกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า
.
     ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ ภาคการเงินการธนาคารเป็นกลุ่มที่มีการเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีนี้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น Thailand Blockchain Community Initiative (BCI) ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มจัดตั้งบริษัทระหว่างธนาคารพาณิชย์ 22 แห่งของไทย ในการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน นอกจากนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนยังถูกนำไปใช้ในธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ ธุรกิจเพลงออนไลน์ และการ traceability สินค้าใน Supply Chain เป็นต้น




 

     Cloud ตัวช่วยเก็บข้อมูล

     คือ การให้การบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างอิสระ สามารถใช้งาน Cloud ผ่านอินเตอร์เน็ต สามารถใช้งานได้โดยไม่จำกัดสถานที่ เวลา มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามความเหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย
.
     ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ  หลายองค์กรใช้ Cloud ในการเก็บรักษา Backup Media ซึ่งสามารถกำหนดการเก็บข้อมูลแบบ Long-term Retention Period ได้สะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้งานแบบดั้งเดิมบน Server ของหน่วยงาน นอกจากนี้การพัฒนา Application ในปัจจุบันมักใช้ Cloud เนื่องจากมีเครื่องมือในการพัฒนาครบถ้วน


 
     Data การต่อยอดข้อมูลใช้ประโยชน์

     คือ ข้อมูลทุกอย่างที่สามารถแปลงเป็นดิจิทัลได้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของตัวเลข ตัวหนังสือ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว โดยใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์และประมวลผล 
.
     ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ บริษัทชั้นนำของโลก ทั้ง Facebook, YouTube, Google, Netflix รวมไปถึง Starbucks ในประโยชน์การการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น Netflix ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากการเก็บข้อมูลผู้ชมทั้งในด้านประวัติการเข้าชม การกดหยุดเล่น อุปกรณ์ที่ใช้ การค้นหา การให้คะแนน ฯลฯ นำมาทำเป็น Big Data ที่วิเคราะห์จากการเลือกดูหนังที่ผ่านมาว่า ผู้ชมน่าจะอยากดูเรื่องใดเป็นเรื่องต่อไป ทำให้มีผู้สมัครสมาชิกมากกว่า 137 ล้านราย (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2018)





     E-Business ธุรกิจต้องมีออนไลน์

     คือ การดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต อาทิ การค้าออนไลน์ (E-Commerce) ธุรกิจบริการออนไลน์ (E-Service) ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)
.
     ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ  ธุรกิจเหล่านี้มีทั้งการเริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจที่ดำเนินโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก และธุรกิจพัฒนาจากธุรกิจดั้งเดิมเป็นธุรกิจดิจิทัล เช่น Central.com, DHL ไทยรัฐออนไลน์ รวมไปถึงการโอนเงินผ่านระบบ Prompt Pay ของกลุ่มธนาคาร เป็นต้น

 
     platForm

     คือ รูปแบบธุรกิจที่ใช้ Digital Platform ในการดำเนินธุรกิจ รองรับ E-Business แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

     1 Innovation Platform ที่เปิดโอกาสให้บริษัทหรือบุคคลอื่นได้พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ แล้วนำมาวางไว้ใน Platform ของตนเอง ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ เช่น Apple iOS หรือ Google Android

     2 Transaction Platform เป็นลักษณะคล้ายๆ ตลาด ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันและเกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการขึ้น Platform ในลักษณะนี้เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่ Sharing Economy ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น Uber, Grab, Airbnb เป็นเสมือนตลาดกลางที่ช่วยให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายได้มีโอกาสเจอและจับคู่กันมากขึ้น

     3 Integration Platform เป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่มีทั้งแบบ Innovation และ Transaction platform รวมกัน เช่น Apple กับ Google เน้นนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดกลางให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน

     4 Investment platform เป็นพวกบริษัทหรือนักลงทุนที่เน้นการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ใช้ Platform หลายๆ บริษัท เช่น Priceline Group ที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและเดินทางก็เข้าไปลงทุนทั้งใน Priceline, Kayak, Open Table เป็นต้น
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup