Digital Marketing
4 เคล็ดลับ สร้างจุดต่างให้ธุรกิจเติบโต
Main Idea
- เพราะสินค้าเราไม่ได้มีชิ้นเดียวในโลก การสร้างความโดดเด่นเพื่อแทรกตัวเข้าไปในสมรภูมิทางธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- แล้วเราจะเริ่มต้นสร้างความแตกต่างได้อย่างไร คำตอบอยู่ในบทความนี้แล้ว
ถ้าเราลองพิมพ์รูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการลงใน Google เราจะพบผลลัพธ์มากมายนับล้าน ซึ่งความจริงก็คือ การทำตลาดและยอดขายในปัจจุบันค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นคู่แข่งของเราวางขายอยู่ในตลาดเต็มไปหมด ทั้งตลาดออฟไลน์และออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการตัดราคา การจ้างโรงงานผลิตเพื่อให้สินค้าได้รับมาตรฐาน อย. GMP HACCP ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาด เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ จนสามารถแทรกตัวเข้าไปในสมรภูมิทางธุรกิจ และโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คำถามก็คือ แล้วเราจะเริ่มต้นสร้างความแตกต่างได้อย่างไร คำตอบอยู่ในบทความนี้แล้ว โดยเริ่มต้นจาก
1. เรียนรู้คู่แข่ง
แม้เราจะพบคู่แข่งจำนวนมหาศาลผ่านการค้นหาข้อมูลใน Google แต่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะเราจะสามารถประเมินสถานการณ์และรู้จักคู่แข่งจากลำดับการสืบค้นต้นๆ ได้แล้วว่าใครคือคู่แข่งของเรา ทำให้เราสามารถเรียนรู้จากคู่แข่งได้ตั้งแต่ราคาขาย สถานที่วางขาย จุดเด่นของสินค้า นโยบายการคืนสินค้า ช่องทางการประชาสัมพันธ์ แนวทางการสร้าง Engagement ในโซเชียลมีเดีย คอมเมนต์ต่างๆ ที่ลูกค้าชื่นชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเตรียมความพร้อม พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดให้เหนือกว่าคู่แข่งได้อย่างเป็นระบบ
2. หากลุ่มเป้าหมาย (ที่ใช่) ให้พบ
เชื่อไหมว่า ในกลุ่มเป้าหมายที่ดูเนืองแน่น จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่พอใจผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมที่วางขายอยู่ในตลาด ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจรับจ้างดูแลสนามหญ้า ก็จะมีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น B2B กับ B2C เพราะบ้านขนาดเล็ก ก็ไม่ต้องการรายละเอียดและค่าใช้จ่ายที่สูงเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ หรือธุรกิจบริการรับจ้างส่งอาหาร สมมติว่าแบรนด์ A คิดค่าจัดส่งเป็นจำนวนกล่อง เช่น บวกเพิ่มจากราคาหน้าร้านกล่องละ 10 บาท หากสั่ง 10 กล่อง ก็จะมีค่าส่งเพิ่มอย่างน้อย 100 บาท ขณะที่แบรนด์ B คิดเหมาเป็นการส่งต่อเที่ยว เที่ยวละ 69 บาทโดยไม่บวกราคาเพิ่มจากหน้าร้านเลย เพราะฉะนั้น ถ้าใครสั่งข้าวไม่กี่กล่องก็สามารถเรียกใช้บริการแบรนด์ A ได้ ขณะที่กลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มที่สั่งเกิน 7 กล่อง ก็สามารถเรียกใช้บริการแบรนด์ B เพราะมีราคาประหยัดกว่า เป็นต้น จะเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้แบรนด์ A และไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้แบรนด์ B ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องหาช่องว่างทางการตลาด เพื่อหากลุ่มเป้าหมายเฉพาะของตัวเองให้พบ
3. สร้างความน่าเชื่อถือ
หากผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ของเราปราศจากความน่าเชื่อถือ และไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า การตัดสินใจชำระเงินจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
ในปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไม่มีเวลาทำความรู้จักและเรียนรู้แบรนด์นับร้อยนับพันอย่างแน่นอน ดังนั้น พวกเขาจะเลือกแบรนด์ที่รู้จักและไว้วางใจเท่านั้น สำหรับผู้ประกอบการรายใดที่มียอดขายแล้ว มีโซเชียลมีเดียเพื่อพูดคุยและสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ก็ควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอว่าลูกค้าพูดถึงแบรนด์เราอย่างไร มีคอมเมนต์ส่วนใดให้พัฒนาปรับปรุง รวมถึงถ้ามีคอมเมนต์เชิงลบก็ไม่ควรโกรธ หรือไปลบคอมเมนต์ แต่ควรแก้ปัญหาในเชิงบวก เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นว่าแบรนด์ใส่ใจต่อปัญหาของลูกค้า รวมถึงรับมือและรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อความไว้วางใจและการบอกต่อๆ กันไปในอนาคต
4. ขายของอย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วย
อีกหนึ่งเหตุผลที่การสร้างแบรนด์ต้องใช้เวลา เป็นเพราะว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาข้ามคืน และการขายไม่ใช่เพียงแค่ครั้งเดียวแล้วจบลง แต่เรายังต้องการให้ลูกค้าบอกต่อและกลับมาซื้อซ้ำด้วย ประกอบกับธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงมาก บางครั้งแค่ตอบคำถามผิดนิดเดียว ตอบไม่ชัดเจน หรือตอบช้า ลูกค้าก็สามารถค้นหาข้อมูลเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์อื่นแทนแล้ว เป็นอันจบเกมส์ อดขายของแถมยังไปเพิ่มยอดจำหน่ายให้กับคู่แข่งอีกต่างหาก ดังนั้น อย่าลืมศึกษากลยุทธ์ Customer Relation Management (CRM) เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และสร้างลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่องด้วยละ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup