Digital Marketing
เลขา กลต. แนะระดมทุนผ่านเว็บไซต์ช่วยปลดล็อกการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนตัวเล็ก
Main Idea
- การเข้าถึงเงินทุนคือ ก้างชิ้นใหญ่ทำให้ ผู้ประกอบการ SME และ Startup ไม่สามารถขยายธุรกิจได้ อาจเป็นเพียงอดีต
- การระดมทุน Crowdfunding ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงเงินแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
ผู้ประกอบการ SME และ Startup มักจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนส่วนตัว แต่เมื่อดำเนินธุรกิจไปสักระยะจะมีอุปสรรคในการเข้าถึงเงินทุน ทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจได้ในระยะยาว เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งการขาดหลักประกัน หรือการไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงภาระในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการระดมทุนผ่านตลาดทุน ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน
ด้วยเหตุนี้ การระดมทุน Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนจากพลังเงินเล็กๆ จากคนจำนวนมากผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับ SME และ Startup ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน อย่างไรก็ตาม การระดมทุนแบบ Crowdfunding ที่ให้หุ้นหรือหุ้นกู้เป็นสิ่งตอบแทน ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ตลาดทุนไทยสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยส่งเสริม SME และ Startup ให้สามารถระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล
“เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก.ล.ต.สนับสนุนให้มีการระดมทุนผ่าน Crowdfunding โดยพยายามดูให้เหมาะสมกับกฎเกณฑ์ กติกา และลดอุปสรรคต่างๆ นอกจากนี้ ยังเปิดให้ SME และ Startup ที่เป็นบริษัทจำกัดสามารถระดมทุนในวงจำกัด (Private Placement) ได้ โดยเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนรวม ซึ่งจะช่วยให้สามารถระดมทุนได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น หลายคนมองว่าตลาดทุนเป็นอะไรที่ซับซ้อน SME และ Startup อาจจะรู้จักเราไม่มาก แต่อยากบอกว่าตลาดทุนไทยไม่ใช่ที่สำหรับคนตัวใหญ่เท่านั้นแต่เป็นของทุกคน”
สำหรับ Crowfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนทางเลือกที่ช่วยให้ SME และ Startup สามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพในต้นทุนที่ต่ำกว่า และยังมีกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับการระดมทุนในรูปแบบอื่น โดยเลขาธิการ ก.ล.ต.อธิบายหลักเกณฑ์ที่วางเอาไว้ว่า ก.ล.ต.จะต้องดูแลทั้ง 2 ส่วนคือ ส่วนของผู้ระดมลงทุน และการคุ้มครองผู้ลงทุน จึงได้มีการวางกรอบจำกัดความเสียหายจากการลงทุนเอาไว้ ด้วยการจำกัดจำนวนเงินลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกิน 100,000 บาทต่อ 1 บริษัท และมูลค่าเงินลงทุนรวมไม่เกิน 1 ล้านบาทในรอบ 12 เดือน (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้) ขณะเดียวกันก็จำกัดวงเงินระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อย โดยบริษัทสามารถระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อย ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนแรก และวงเงินการระดมทุนรวมทั้งหมดไม่เกิน 40 ล้านบาท (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้)
นอกจากนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขของการระดมทุนการออกเสนอขายหุ้น Crowdfunding ใช้หลัก All-or-Nothing ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ระดมทุน Crowdfunding จะได้รับเงินจากผู้ลงทุนต่อเมื่อระดมทุนได้ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้เท่านั้น โดยในการนี้ ก.ล.ต.กำหนดว่าหากสามารถระดมทุนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนมูลค่าที่เสนอขาย ผู้ระดมทุนก็สามารถรับเงินที่ระดมทุนนั้นไปใช้ดำเนินธุรกิจหรือโครงการธุรกิจได้
ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.ให้เป็น Funding Portal จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.ไลฟ์ฟินคอร์ป (เฉพาะหุ้น) 2.สินวัฒนา (เฉพาะหุ้น) 3.เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม (หุ้นและหุ้นกู้) และ 4.ดรีมเมคเกอร์ อิควิตี้ คราวด์ฟันดิ้ง (เฉพาะหุ้น) มากกว่านั้นยังมีผู้สนใจขอรับความเห็นชอบเป็น Funding Portal ประมาณ 10 ราย ซึ่งมีทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มี SME และ Startup ที่ระดมทุนสำเร็จแล้ว 10 กว่าบริษัท โดยแบ่งเป็นหุ้น Crowdfunding 2 บริษัท จำนวน 30.34 ล้านบาท และหุ้นกู้ Crowdfunding 9 บริษัท จำนวน 29.85 ล้านบาท
ในส่วนของอีกช่องทางระดมทุนที่ ก.ล.ต.ออกหลักเกณฑ์ คือ โครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนระหว่าง สำนักงาน ก.ล.ต. และ สสว.นั้น เลขาธิการ ก.ล.ต.บอกว่า เป็นการให้ SME และ Startup ที่เป็นบริษัทจำกัดสามารถระดมทุนในวงจำกัด โดยเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ให้แก่ผู้ลงทุนรวมถึงกรรมการและพนักงานได้โดยตรง ซึ่งช่วยให้สามารถระดมทุนได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และยังเป็นเครื่องมือการระดมทุนที่ดึงดูดความสนใจจากบริษัทร่วมลงทุน หรือ VC ได้ด้วย โดยหลังจากที่เปิดโครงการนี้ ปรากฏว่ามีกิจการ SME และ Startup ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 56 ราย นอกจากนี้ มีกิจการ SME ที่อยู่ระหว่างเตรียมออกหุ้นกู้แปลงสภาพประมาณ 15 ราย
“ผู้ลงทุนหากสนใจลงทุนในบริษัทเล็กๆ อย่าง SME หรือ Startup การลงทุนผ่าน Crowdfunding เป็นอีกทางเลือกที่จะได้เจอธุรกิจที่มีความหลากหลาย โดย ก.ล.ต.จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ลงทุนกับ SME หรือ Startup ที่ต้องการระดมทุน เพื่อให้การเข้าถึงตลาดทุนเกิดขึ้นได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ” รื่นวดีกล่าวถึงบทบาทของ ก.ล.ต.ที่จะช่วยให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME และ Startup ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup