Digital Marketing
เจาะทริคทำตลาดญี่ปุ่นและวิธีขายสินค้า Eco ไปทั่วโลกจากกระเป๋าใบไม้ Mr.Leaf
Main Idea
- มีคำกล่าวที่ว่าถ้าส่งสินค้าไปประเทศญี่ปุ่นได้ก็สามารถส่งสินค้าไปขายได้ทั่วโลก หากคิดจะทำตลาดกับคนญี่ปุ่นอย่างแรกเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก
- แม้เวลาเป็นของที่ได้มาฟรีแต่คนญี่ปุ่นมองว่าถ้าคุณยังบริหารไม่ได้ก็ยากที่จะบริหารอย่างอื่น
ความเข้มงวดหรือตรงต่อเวลาอาจทำให้การทำงานกับคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องสยองของใครบางคน หรือบางคนอาจมองเป็นความท้าทาย และบางคนอาจมองเป็นเรื่องปกติหากเข้าใจถึงวัฒนธรรมในการทำงานจะทำให้การทำงานไม่รู้สึกกดดัน เหมือนกับ ปรเมศร์ (ปอ) สายอุปราช กรรมการผู้จัดการ บริษัท Leaf Creation เจ้าของไอเดียนำใบตองตึงมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำกระเป๋าแบรนด์ Mr.Leaf ที่เริ่มต้นจากตลาดญี่ปุ่น จนกลายเป็นที่ยอมรับในตลาดทั่วโลก
“ได้ยินหลายคนบอกทำตลาดญี่ปุ่นยาก แต่เราก็ทำตามขั้นตอนมาตรฐานต่างๆ การทำงานกับคนญี่ปุ่นไม่มีคำว่าสินค้าเกรด a, b, c มีแค่คำเดียวคือ คำว่า “มาตรฐาน” ที่สำคัญคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องเวลามาก ต้องตรงต่อเวลา ทุกวินาทีของเขามีค่า ถึงแม้เวลาเป็นสิ่งที่ได้มาฟรี แต่ถ้าบริหารเวลาไม่ได้ไม่เป็นเขามองเรื่องใหญ่ ในขณะที่เรื่องความเก่งไม่เก่งสามารถเรียนรู้พัฒนากันได้ พอได้ทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่นทำให้เราคิดเป็นตรรกะมากขึ้น”
ปออธิบายเพิ่มว่า ด้วยลักษณะภูมิประเทศของญี่ปุ่นเป็นเมืองที่มีเกาะมากพอสมควร สินค้าเข้าไปขายที่นั่นต้องตอบโจทย์เรื่องการย่อยสลาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นสินค้าที่เป็น Eco จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากคนญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่แค่สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวจะทำให้บุกตลาดซามูไรได้
“เพราะลำพังแค่ใบตองอย่างเดียวประเทศอื่นก็มี แต่ คอนเซปต์ของเราคือ Culture moving ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ต้อง action ให้ลูกค้าเห็นว่าใบตองของเราแตกต่างจากใบตองประเทศอื่นๆ อย่างไร ถ้าสังเกตให้ดีคนไทยใช้ใบตองเข้าไปในชีวิตตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อาทิ พิธีแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ กลายเป็น storytelling ที่สามารถเป็นจุดขายเมื่อบวกกับ innovation ของเราทำให้สินค้าได้รับความน่าสนใจ”
ส่วนในการผลิตสินค้า eco นั้นหนุ่มเหนือบอกว่าสินค้าเหล่านี้เหมือนเป็นของใกล้ตัวที่คุ้นเคยอยู่แล้ว แต่เมื่อมาผลิตจริงก็อาจเจออุปสรรคบ้างโดยเฉพาะหน้าหนาวที่จะทำให้ใบไม้แตกหักง่าย
“เราเอาโนว์ฮาวเรื่องการถนอมอาหารสมัยโบราณมาช่วย เอาใบไม้ไปผ่านกระบวนการตาก หมัก แช่ จนมันนิ่ม ผมว่าการผลิตสินค้าไม่ยากเท่ากับการขายสินค้า ต้องรู้จักกลไกลการตลาด”
เทคนิคพาสินค้า Eco ไปลุยตลาดโลก
ประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับคนญี่ปุ่นนอกจากเรื่องการตรงเวลาแล้ว ยังทำให้เขามีแนวทางการผลิตสินค้าที่ชัดเจน ไม่เอนตามกระแสทำให้แบรนด์ค่อยๆ เติบโตจากใบตองตึงก็เพิ่มใบไม้อีกหลายสิบชนิด และสามารถแตกสินค้าออกเป็น 4 part คือ 1. Accessories กระเป๋าใส่ปากกา ดินสอ แท็บเล็ต 2. Cosmetics bag กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง 3. Travel Set เป้สำหรับท่องเที่ยว 4. Decorate ของตกแต่งบ้าน ผ้าม่าน มูลี่ โดยเน้นทำตลาดส่งออกเป็นหลักทั้งญี่ปุ่น อเมริ ยุโรปกา เกาหลี ไต้หวัน จีน
“ด้วยกลไกการตลาด ต่างประเทศมันมีดีมานต์ที่มากกว่า แต่เราต้องรู้จักปรับตัววางกลยุทธ์ให้สินค้ามันขายได้ ต้องรู้ว่าสิ่งที่เขาต้องการคือไม่ทำร้ายโลก ฉะนั้นคุณต้องทำให้เขาเห็นว่า บริษัทหรือกระบวนการผลิตของเราให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลในทุกเรื่อง เพราะคำถามแรกที่ลูกค้ามักถามคือ คุณมีวิธีช่วยเหลือสังคมและชุมชนที่คุณอยู่ด้วยวิธีไหน ซึ่งเป็นการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเราว่าทำจริงไม่ได้สร้างภาพ”
นอกจากนี้เขายังได้แง่คิดที่ดีจากชาวต่างชาติที่ทำให้รู้ว่าการขายของสักชิ้นต้องมีระบบจัดการที่ดี กระบวนการคิดวิเคราะห์ให้เป็นสมการที่แตะต้องได้
“อันนี้ผมได้ข้อคิดจากฝรั่ง สมมุตคุณซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม key word แรกๆ ที่ลูกค้าถามคือ ราคา ซึ่งถ้าหากบอกราคาไปแล้วลูกค้าบอกแพง คนขายไปโทษคนซื้อไม่ได้ต้องโทษตัวเรา เขาจะมองว่าคุณจะเอาคอร์สทั้งหมดมาไว้ที่ลูกค้าทำไม ฉะนั้นคุณต้องไปหาวิธีการ เช่น เพิ่มกำลังการผลิต เป็นต้น”
เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นดีเป็นไปตามที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าก็จะสามารถขายได้ด้วยตัวมันเอง
“ทุกวันนี้ทำแบรนด์โดยไม่ต้องพัฒนาแบรนด์ ให้สินค้าเป็นตัวพาไป หลังๆ ลูกค้ามาหาเขาเอง โดยเสิร์ซข้อมูลจนรู้ประวัติ การทำธุรกิจมันก็เหมือนกับการเลือกที่จะขึ้นลิฟต์หรือขึ้นบันได แต่ส่วนตัวผมทำธุรกิจเริ่มจากมีเป้าหมายชัดเจน ตัดสินใจทิ้งงานประจำมาทำงานส่วนตัว ฉะนั้นอันดับแรกคือ เราต้องทำทุกอย่างเกิน 100 ทำให้ถึงที่สุด”
สำหรับเป้าหมายของ Mr.Leaf เจ้าของแบรนด์บอกว่าต่อจากนี้คงเน้นพัฒนาสินค้าประเภทของตกแต่งบ้านมากขึ้นรับเทรนด์ที่คนอยู่กับบ้าน รวมทั้งจะสร้างพิพิธภัณฑ์ของตนเองที่เชียงใหม่ เป็นที่เรียนรู้เรื่องนวัตกรรม Eco
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup