Digital Marketing
แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ให้ทัน! 3 สิ่งที่ต้องระวัง หากอยากอยู่รอดในอนาคต
Main Idea
- แม้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเป็นขุมทรัพย์ตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ไม่ใช่ทุกรายสามารถยืนระยาวได้แบบยั่งยืน
- นิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment ให้คำแนะนำถึง 3 สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ หากต้องการเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่รอดในอนาคต
ถึงแม้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีการขยายตัว และเป็นขุมทรัพย์ตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ก่อนจะบุกทำตลาดผู้ประกอบการต้องเข้าใจทิศทางตลาดและผู้บริโภคให้ถ่องแท้ เพื่อระมัดระวัง เตรียมตัวรับมือ และสามารถอยู่รอดในโลกของอีคอมเมิร์ซในอนาคต ซึ่งนิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment ให้คำแนะนำถึง 3 สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ประกอบด้วย
1. Understand lifestyles not trend ต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้าก่อน ไม่ใช่เทรนด์ เนื่องจากยุคดิจิทัลเทรนด์ตลาดหรือผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจอยู่ได้ไม่กี่วัน เทียบอดีตอยู่ได้เป็นเดือนหรือเป็นปี แต่การเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเชิงลึกจะทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้อย่างยั่งยืน เช่น ผู้บริโภคซื้อแอลกฮอล์ หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และมองหาสินค้าอื่นเพื่อดูแลสุขอนามัย สะท้อนความต้องการสินค้าอื่นอย่างต่อเนื่อง เพราะไลฟ์สไตล์กลัวเชื้อโรค รักสุขภาพไม่เปลี่ยน แต่ความต้องการสินค้าเปลี่ยนได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการยึดติดที่ตัวสินค้าจะขายดีแค่ช่วงเวลาหนึ่งแต่การเข้าใจปัญหาลูกค้า จะสามารถขายดีได้อย่างต่อเนื่อง
2. Understand journey not channels ต้องเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าก่อนเลือกช่องทาง การเข้าใจเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภค (Customer journey) มีความสำคัญมาก เพื่อให้พ่อค้าแม่ขายสามารถนำเสนอสินค้าและบริการ โปรโมชั่น ผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Marketplace อย่างLazada, Shopee, JD Central Social Commerce อย่าง Facebook, Instagram หรือ ช่องทางเว็ปไซต์ ได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
“ปัจจุบันทุกช่องทางจำหน่ายมีความสำคัญเท่าๆ กัน เพราะตอบโจทย์คนละอย่างกัน ไม่มีช่องทางออฟไลน์ หรือออนไลน์สำคัญกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน, Shopee, Lazada หรือ Facebook เพราะแต่ละช่องทางมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ไม่ใช่ว่าทุกช่องทางจะเหมาะกับทุกคน เช่น Marketplace เป็นการค้นหาสินค้าใหม่ๆ โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นช่องทางอ้างอิงว่าสินค้าน่าเชื่อถือ และ Website หรือ Line@ เป็นช่องทางช่วยทำให้เกิดการซื้อซ้ำ แต่ละช่องทางคาแร็กเตอร์ต่างกัน ผู้คนที่เข้ามาในช่องทางแต่ละอันก็คาดหวังไม่เหมือนกัน เส้นทางการซื้อสินค้า (Customer journey) ต่างกัน หากคุณทำช่องทางMarketplace แพงๆ หวังกำไร โพสต์ขายของหนักๆ บนโซเชียลมีเดีย และทำเว็บไซต์ตัวเองหรือไลน์ไว้เพื่อหาลูกค้าใหม่ ธุรกิจคุณไปต่อได้ยากแน่ๆ เพราะใช้แต่ละช่องทางผิดจุดประสงค์ ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ก่อน เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการ โปรโมชั่นที่สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า”
3. Understand patterns not numbers ต้องเข้าใจรูปแบบไม่ใช่ตัวเลข การขายสินค้าออนไลน์ค่อนข้างมีรูปแบบ อย่างการจัดโปรโมชั่น 11 11, 12 12 ของ Marketplace แบรนด์ต่างๆ หรือสถานการณ์ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะรู้ทิศทางสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ สินค้าขายดี เช่น สินค้าแฟชั่น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เมื่อถูกกระทบจากโควิดยอดขายจึงหดตัว เป็นต้น
“ไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการยึดติดกับตัวเลขที่คาดการณ์ไปล่วงหน้า เพราะความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน แม้จะมีดาต้า เราก็ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่การเข้าใจแพทเทิร์น ทำให้รู้ว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำเราจะไม่พลาดอีก เช่น หากเกิดโรคระบาดอีกครั้ง จะทราบว่าสินค้าหมวดไหนจะตก อันไหนจะเติบโต ที่สำคัญคุณต้องไว้วางใจผู้อื่นมากขึ้นอย่าถือทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง กระจายการทำงานที่ไม่ถนัดให้คนที่เค้าถนัดทำ คุณจะได้สามารถโฟกัสเฉพาะแค่สิ่งที่ถนัดได้ และหากเกิดวิกฤตอีก จะได้ยืดหยุ่นพอที่จะปรับแปลงบริบทได้แบบทันท่วงที ทั้งนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการนำเงินไปลงทุน ต้องกระจายความเสี่ยง อย่าเพิ่งลงทุนหวังผลระยะยาวและความคุ้มค่า ลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นก่อนดีกว่า”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup