Digital Marketing
เผยเทคนิครีวิว 3 ข้อ กรุยทางสู่ Influencer สายชิมร้านหรูสู่สินค้าไฮโซ
Main Idea
- ในยุคดิจิทัล การเป็นเจ้าของพื้นที่สื่อไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการนำเสนอคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้คนให้มาติดตามได้
- แต่ Influencer ป้ายแดงจากมาเลเซีย เจ้าของไอจี Anne Luxury Eats ที่เพิ่งก้าวสู่วงการรีวิวอาหารได้ไม่ถึง 4 เดือน แต่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมแล้วเกือบ 20,000 บัญชี
ไม่ว่าจะธุรกิจไหน ๆ การสร้างความแตกต่างดูจะทำให้เป็นที่จดจำได้รวดเร็ว สามารถสร้างฐานผู้ติดตามได้กว้างในเวลาอันสั้น วงการวิจารณ์หรือรีวิวร้านอาหารก็เช่นกัน ในยุคดิจิทัล การเป็นเจ้าของพื้นที่สื่อ หรือเจ้าของช่องไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการนำเสนอคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่สามารถดึงดูดผู้คนให้มาติดตามได้
วันนี้มีตัวอย่างของ influencer ป้ายแดงจากมาเลเซีย เจ้าของไอจี Anne Luxury Eats ที่กำลังเป็นที่รู้จักทั้งที่เพิ่งก้าวสู่วงการรีวิวอาหารได้ไม่ถึง 4 เดือน แต่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมแล้วเกือบ 20,000 บัญชี ที่สำคัญ การไม่เปิดเผยประวัติหรือปูมหลังก็อาจจะเป็นอีก gimmick (ลูกเล่น) หนึ่งที่ทำให้ influencer สาวรายนี้กลายเป็นจุดสนใจ ทำให้ผู้คนยิ่งอยากทำความรู้จักเธอมากขึ้น
ล่าสุดเธอเพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อโดยบอกเพียงว่าแอนคือชื่อของเธอจริง ๆ และแม้เธอจะเริ่มทำคอนเทนต์รีวิวอาหารจากร้านต่าง ๆ ลงในไอจี Anne Luxury Eats (เรียกสั้น ๆ ว่า ALE) และบนเว็บไซต์ชื่อเดียวกันเมื่อวันที่ 29 พค.ที่ผ่านมา แต่ความชื่นชอบในการเสาะแสวงหาร้านอร่อย ๆ นั้นเกิดขึ้น 3-4 ปีก่อน แต่ถ้าพูดถึงการชอบกิน สิ่งนี้เกิดขึ้นนานแล้ว ด้วยทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าหรู ทำให้แอนมีรายได้มากพอที่จะสนองกิเลสและความต้องการของตัวเองในเรื่องอาหาร ซึ่งบางครั้ง เธอต้องจ่ายค่าอาหารต่อหัวสูงถึง 2,000 ริงกิต (ราว 15,000 บาท) หรือมากกว่านั้น
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจทำรีวิวร้านอาหารเนื่องจากแอนชอบตระเวณทานโดยเฉพาะตามร้านอาหารหรู และบ่อยครั้งพบว่าการรีวิวร้านอาหารส่วนใหญ่เชื่อถือไม่ได้ และไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง เธอจึงตัดสินใจสร้าง Anne Luxury Eats ขึ้นมา ประมาณว่า กินเอง จ่ายเอง รีวิวเองโดยไม่พึ่งพาผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์เลยสักราย จุดประสงค์ของการทำคอนเทนต์รีวิวร้านอาหาร นอกจากเก็บเป็นข้อมูลอ้างอิงแล้ว แอนยังต้องการแบ่งปันประสบการณ์แก่คนอื่นโดยใช้มาตรฐานตัวเองเป็นสิ่งตัดสิน
สิ่งที่ทำให้การรีวิวร้านอาหารของแอนแตกต่างจากการรีวิวของเจ้าอื่นคือร้านที่เธอเลือกโดยมากเป็นร้านอาหารหรู ประเภท fine dining หรือไม่ก็ค่อนไปทางหรู และด้วยความที่เธอจ่ายค่าอาหารเอง การรีวิวจึงอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องเกรงใจสปอนเซอร์ โดยเธอได้ยึดหลัก 3 อย่างในการรีวิว ได้แก่ ไม่อคติ ไม่รับจ้างรีวิว (คือการปฏิเสธสปอนเซอร์นั่นเอง) และรีวิวตามความเป็นจริง
ในความคิดของแอน การรีวิวอาหารหรูจะแตกต่างจากอาหารทั่วไปเนื่องจากการดื่มด่ำในรสชาติของอาหารจะเป็นอีกระดับหนึ่ง “อาหารแต่ละจานที่เสิร์ฟถือเป็นงานศิลปะที่รังสรรค์โดยเชฟ เป็นงานที่ผสมผสานระหว่างรสชาติ เนื้อสัมผัส เทคนิคการปรุง การนำเสนอ รวมไปถึงความรู้ความชำนาญในเรื่องอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย มีหลายคนที่ต้องการเลือกร้านอาหารดี ๆ เพื่อฉลองในวาระพิเศษ แต่พวกเขาก็เลือกไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร” แอนกล่าว
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอสร้าง Anne Luxury Eats ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้คนที่ต้องการไปสัมผัสประสบการณ์ตามร้านเหล่านี้ได้เห็นภาพคร่าว ๆ ว่าจะได้เจออะไรบ้าง ในการทำคอนเทนต์แต่ละชิ้น แอนไม่ได้ฉายเดี่ยว เธอมีทีมงาน 2-4 คนติดตามไปด้วยเสมอ ทีมงานของเธอประกอบด้วยช่างภาพ และคนที่จะช่วยเธอชิม และออกความเห็น แอนใช้เกณฑ์ที่ว่าเมื่อเธอชิมแล้ว รู้สึกแบบนี้ หากทีมงานมากกว่า 1 เสียงเห็นด้วย เธอจึงจะเคาะคำตัดสินออกมา
สำหรับร้านที่แอนเลือกไปชิมและรีวิวนั้น เธอเลือกจากร้านที่อยากไป และบางร้านก็มาจากการแนะนำของคนรอบตัว แต่ไม่ว่าจะเป็นร้านที่เลือกเอง หรือร้านที่คนอื่นแนะนำ กฏการรีวิวก็จะยังเป็นไปตามที่เธอกำหนดไว้ คือ ไม่อคติ ไม่รับจ้างรีวิว และรีวิวตามความเป็นจริง ที่สำคัญ ร้านธรรมดาทั่วไปเธอจะมองข้าม และเลือกรีวิวเฉพาะร้านหรู
ต่อคำถามที่ว่าการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของเธอ ซึ่งบางครั้งก็มีรีวิวแบบด้านลบ มีร้านอาหารใดตอบโต้หรือแสดงความไม่พอใจหรือไม่ แอนกล่าวว่าที่ผ่านมาและจนถึงขณะนี้ มีแต่ได้รับคำเชิยให้กลับไปใช้บริการอีก ซึ่งบางร้านเธอก็กลับไปอีก หลายร้านเธอปฏิเสธไป แน่นอนว่าทุกครั้งที่กลับไปใช้บริการอีก เธอปฏิเสธไม่ยอมทานฟรี แต่ยอมจ่ายค่าอาหารเองทุกครั้ง เป็นการจ่ายราคาเต็มโดยไม่รับส่วนลดด้วยซ้ำ
นอกจากเป็นการชี้ลายแทงให้ผู้คนตามไปกิน แอนยังหวังรีวิวของเธอจะเป็นการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารหรูแก่คนหมู่มาก ร้านอาหารหรูก็มีหลายระดับ ความคาดหวังจากลูกค้าก็แตกต่างกันไป บางคนจ่ายร้อย คาดหวังคุณภาพระดับพัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าจ่ายเท่าไร ก็จะได้เท่านั้น
หลังจากที่คอนเทนต์ Anne Luxury Eats ทั้งในไอจี และเว็บไซต์ได้รับการตอบรับดีเนื่องจากความตรงไปตรงมาซึ่งถือเป็นจุดแข็งของเธอ แอนก็เริ่มมองหาหนทางในการทำเงินจากแบรนด์ที่เธอสร้างขึ้นมา ซึ่งเธอเผยว่าจะไม่ใช้รูปแบบเดียวกับที่ influencer คนอื่นใช้ เช่น การรับเงินจากสปอนเซอร์ หรือการแนะนำลิงค์สินค้าและบริการของร้านบนพื้นที่ของเธอ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การรีวิวร้านในมาเลเซียส่วนใหญ่จะเป็นการรีวิวร้านทั่วไปที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถจ่ายได้ การรีวิวร้านอาหารหรูของแอนจึงค่อนข้างจะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าแอนจะใช้วิธีใดในการสร้างเม็ดเงินจากคอนเทนต์ของเธอ ซึ่งแอนกล่าวว่าเธอมีวิธีการในใจอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้ขอยังไม่เปิดเผย แต่จะไม่กระทบต่อกฏการรีวิวที่เธอวางไว้แน่นอน นอกเหนือจากร้านอาหารหรู แอนแย้มว่าเธออาจขยายการรีวิวไปยังอย่างอื่น อาทิ สินค้าแบรนด์เนมระดับไฮเอนด์ โรงแรมและที่พักราคาแพง หรืออะไรที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรูหรา
ที่มา
https://vulcanpost.com/714729/anne-luxury-eats-malaysia-unsponsored-fine-dining-reviews/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup