Digital Marketing
Startup ต้องรู้ 5 วิธีเจรจากับนักลงทุนให้ได้ทุนแบบไม่ขาดดุล
Main Idea
- ศิลปะการเจรจาก็เป็นอีกทักษะหนี่งที่ startup ต้องมี
- เป็นเรื่องปกติที่ Startup ต้องการผู้ลงทุนมาช่วยเสริมศักยภาพทางการเงินให้กับธุรกิจ แต่จะดีลอย่างไรให้ได้ทั้งทุนและได้ทั้งหุ้นส่วนทางธุรกิจ นี่คือประเด็นทั้ง 5 ข้อที่ startup ควรเคลียร์ให้ชัดเจนก่อนการร่วมลงทุน
เป็นเรื่องปกติที่ Startup หรือธุรกิจสมัยใหม่ที่จะเปิดรับผู้ลงทุนมาช่วยเสริมศักยภาพทางการเงินให้กับธุรกิจ ขณะเดียวกันผู้ลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเช่นกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายควรจะต้องพูดคุยตกลงในประเด็นทั้ง 5 ข้อนี้ให้เคลียร์และชัดเจนก่อนการร่วมลงทุน
1. เป้าหมายในการ Exit
ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนบุคคล หรือกองทุนเวนเจอร์ แคปปิตอล (VC) ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายที่จะทำกำไร หรือ Exit ออกจากกิจการที่เข้าไปถือหุ้นทั้งสิ้น จึงควรตกลงและทำเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะขายหุ้นที่ถืออยู่ออกไปเมื่อไร
เป้าหมายในการ Exit มีตั้งแต่ได้รับการระดมทุนในสเตจถัดไปที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น จาก Series A ไป Series B หรือจนกว่ากิจการจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นได้สำเร็จ เพราะเป้าหมายการ Exit ในมูลค่าที่สูงจะทำให้นักลงทุนรายนั้นอยู่กับ Startup เป็นเวลานาน
2. หากทุนหมดจะทำอย่างไร
ข้อสัญญาระหว่าง Startup และผู้ลงทุนที่สำคัญคือ เรื่องของกรอบเวลาการสนับสนุนเงินทุน โดย Startup จะต้องทำแผนการใช้เงินให้ผู้ลงทุนพิจารณาว่าแต่ละปีต้องใช้งบประมาณเท่าไร สามารถใช้จ่ายได้กี่ปี อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เงินทุนที่ให้ไปอาจจะหมดก่อนที่จะถึงกำหนด จุดนี้ควรจะทำการตกลงกันให้ดีว่ามีออปชันอย่างอื่นเสริมให้หรือไม่ เพราะถ้าเงินทุนหมดไปเสียก่อน โอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนคืนก็จะหายไปเช่นกัน Startup เองจึงจำเป็นต้องมีแผนสำรองไว้ด้วยเช่นกัน
3. จะจ่ายเงินปันผลด้วยหรือไม่
สำหรับธุรกิจ SME ที่มีผลประกอบการมีกำไรและสามารถสร้างกระแสเงินสดเป็นบวกได้ทุกเดือน ผู้ลงทุนอาจจะเป็นในรูปแบบของ Private Equity Fund ซึ่งอาจจะไม่ทำการ Exit ไปเลยก็ได้ แต่ถือหุ้นเพื่อรับส่วนแบ่งจากเงินปันผล หากเป็นรูปแบบดังกล่าวต้องตกลงกันให้ดีว่า ทุกๆ ปีจะทำการจ่ายปันผลให้ผู้ลงทุนหรือไม่ หรือจะขอให้เก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
4. ผู้ลงทุนสามารถเปลี่ยนมือได้หรือไม่
ระหว่างทางที่มีผู้ร่วมลงทุนอาจจะมีนักลงทุนรายใหม่ที่สนใจในกิจการติดต่อเข้ามาขอเป็นผู้ลงทุน ซึ่งทางออกเป็นไปได้ทั้งการแลกเปลี่ยนหุ้นกันเองกับผู้ถือหุ้นเดิม หรือออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งจุดนี้ต้องตกลงกันก่อนว่าสามารถขายหุ้นออกไประหว่างทางได้หรือไม่
5. กรอบของการใช้เงิน
เงินทุนที่ได้รับจากการลงทุนใน Startup ถือเป็นการเพิ่มทุน เนื่องจากการคิดมูลค่ากิจการในอนาคต เงินทุนที่ได้จึงสูงกว่าทุนจดทะเบียนปัจจุบัน ผู้ลงทุนอาจมีการจำกัดกรอบของการใช้เงินลงทุนว่าสามารถใช้เงินกับอะไรได้หรือไม่ได้ เช่น การลงทุนที่มีวงเงินมากกว่า XXX ต้องขออนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือการจ้างพนักงานที่เงินเดือนมากกว่ากำหนด เป็นต้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup