Digital Marketing
ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้! 6 เทคนิค ระวังตัวยังไงไม่ให้เพจปลิว-โดนแฮก
Main Idea
- เมื่อใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการค้าขาย ผู้ประกอบการก็ต้องระมัดระวังให้ดีถึงเรื่องการโดนแฮกที่จะสร้างความเสียหายให้กับเพจได้ หรือเพจปลิวจากการทำผิดกฎ เพราะนั่นจะทำให้ทั้งเสียเวลาและเสียโอกาสได้
- วันนี้จะพามาเรียนรู้เทคนิคดี ๆ 6 ข้อ ที่ช่วยการป้องกันเพจปลิวและโดนแฮกเกอร์สำหรับผู้ประกอบรายใหม่
ช่องทางการขายของในยุคนี้ถูกโฟกัสไปที่ออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าบริษัทห้างร้านไหนๆ ก็มีเฟซบุ๊กแฟนเพจ และอินสตาแกรม หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ ไว้ขายของ ใช้ติดต่อสื่อสารกับลูกค้า เพราะเป็นช่องทางที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง แต่สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่การปั้นเพจ หรือการสร้างฐานคนติดตามถือว่ายากพอสมควร ถ้าไม่มีการนำเสนอที่ดึงดูดความน่าสนใจพอขณะที่ผู้ประกอบการบางคนแม้จะสร้างผู้ติดตามได้จำนวนมาก แต่สุดเพจปลิว หรือบางครั้งถูกแฮกเกอร์มือดีมาสร้างความเสียหายให้เพจ ซึ่งทำให้เสียเวลา และเสียโอกาส วันนี้จะพามาเรียนรู้เทคนิคดี ๆ 6 ข้อ ที่ช่วยการป้องกันเพจปลิวและโดนแฮกเกอร์สำหรับผู้ประกอบรายใหม่
1. แอดมินไม่ควรที่จะกดยืนยันไปเรื่อย
การที่มีแอดมินมือไวชอบกดยืนยันอะไรไปเรื่อยเปื่อยอาจทำให้เพจเราถูกแฮกเกอร์ได้ หรือหากได้รับ Notification ที่ส่งมาขู่ว่าให้คลิกลิงก์นี้ ไม่อย่างนั้นบัญชีของเราจะโดนปิด หรือบางครั้งมีอีเมลส่งมาหาเราว่าเราคือผู้โชคดีได้รับสิทธิพิเศษจาก แบรนด์ต่างๆ และให้เรากดรับสิทธิ์ได้ที่ลิงก์นี้ หากมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลให้เราพยายามกรอกพาสเวิร์ดลงไปเพื่อปลดล็อคข้อมูล ซึ่งนี่หมายความว่าเรากำลังถูก Phishing (ฟิชชิ่ง) ซึ่งเป็นรูปแบบการแฮกข้อมูลโดยการสร้างเว็บไซต์ หรือแบบฟอร์มให้ดูน่าเชื่อถือ อาจมีการลอกเลียนแบบเว็บไซต์ให้คล้ายกับเว็บของจริงที่สุด เพื่อพยายามให้เรากรอกข้อมูลสำคัญลงไป อันนี้ต้องระวัง
หากถามว่ากลุ่มเป้าหมายของแฮคเกอร์เป็นใคร? ตอบได้คำเดียวว่าแฮคเกอร์พวกนี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กต่างๆ ที่เข้ามาประสงค์ร้ายกับเรา ซึ่งถ้าเราเผลอกรอกข้อมูล พาสเวิร์ดลงไปจะทำให้ข้อมูลทุกอย่างของเรา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบัตรเครดิต ประวัติการแชท หรือ Ad Account ต่างๆ จะโดนแฮกเกอร์สวมรอยไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญรู้หรือไม่ว่าหากแฮกเกอร์เหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลของเฟซบุ๊กแฟนเพจเรา จะทำให้โดนปลดจากการเป็แอดมินในแฟนเพจ หรือถ้าเราเป็น แอดมินใน Business Manager ก็จะโดนปลดออกจาก Business Manager เช่นกัน นอกจากนี้ยังจะทำให้เราจะโดนปลดออกจากทุกเพจที่เราเป็นแอดมินภายใต้ Business นั้นๆ ด้วย สำหรับวิธีป้องกันเบื้องต้น คือเวลาที่มี Notification แปลกๆ ส่งมา อย่ากดลิงก์ เปิดไฟล์ หรือส่งต่อเด็ดขาด และแนะนำว่าให้ทำ 2-Factor Authentication เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีแค่เราเท่านั้นที่จะสามารถล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กของตัวเองได้
2. จำให้ขึ้นใจอย่าละเมิดกฎเฟซบุ๊กโพสต์เลข TRACKING ไปรษณีย์ มิฉะนั้นเพจปลิว!
ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องทราบว่าห้ามโพสต์เลข TRACKING ไปรษณีย์ เด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเนื่องจากอาจมีคนแกะรอยไปตามที่อยู่ของลูกค้าได้ หากเคยโพสต์ให้รีบไปลบโพสต์เก่าด้วยป้องกันการถูกปิดเพจ นอกจากนี้ควรห้ามโพสต์หมายเลขประจำตัวประชาชน หมายเลขประกันสังคม หมายเลขหนังสือเดินทาง หรือหมายเลขที่ใช้ในการสอบ บัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐ บัตรประจำตัวนักเรียนหรือนักศึกษา บัญชีธนาคารและ/หรือข้อมูลบัตรเครดิต หมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมลส่วนตัว
3. อย่าเผลอส่งความซ้ำๆ เหมือนการส่งข้อความ SPAM
ข้อนี้ควรระวังอย่างยิ่งเพราะการที่ส่งข้อความบรอดแคสต์หาลูกค้า โดยใช้ข้อความเดิมซ้ำๆกันจำนวนมาก เฟซบุ๊กจะมองว่าข้อความเหล่านี้เป็นข้อความ spam ได้ โดยเฉพาะยิ่งถ้ามีลิ้งก์ URL ส่งต่อไปลิ้งก์ภายนอกด้วยเฟซบุ๊กจะมองว่าเป็นข้อความ spam แน่นอน หรือถ้าส่งบรอดแคสต์หาคนมั่วจะทำให้คนอื่นเกิดความรำคาญ ได้และก็อาจโดนรายงานในที่สุดซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เพจโดนบล็อกได้
4. พ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ควรรู้เรื่องขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
บางทีก็ต้องเห็นใจพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่ที่ยังไม่รู้เรื่องลิขสิทธิ์สินค้า และอาจจะนำสินค้าเหล่านี้มาขาย พร้อมสร้างเพจโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบให้ดี ซึ่งปกติเฟซบุ๊กจะรับรู้ข้อมูลนี้ผ่านการรายงานจากกลุ่มคนต่างๆ แล้วถึงตรวจสอบและบล็อกเพจได้ หรือหากเพจของเรามีการแชร์อะไรที่มีลิขสิทธิ์ มีที่มาจากแหล่งอื่น แล้วนำมาแชร์ในเชิงพาณิชย์ หรือในเชิงโฆษณาต่าง ก็จะทำการลบสิ่งที่แชร์ออกไปก่อน โดยไม่มีการบล็อคเพจแต่อย่างใด แต่หากเพจยังมีพฤติกรรมแบบนี้อีกก็จะถูกปิดเพจได้ นอกจากนี้การทำโปรโมชันต้องดูให้ดีๆ เพราะการทำโปรโมชันที่ไม่เป็นไปตามกฎของเฟซบุ๊ก เพจของเราก็อาจจะปลิวได้เหมือนกัน เช่นการแจกของรางวัล เพื่อแลกไลก์ที่แทบทุกเพจทำกันอยู่ นั่นก็ถือว่าละเมิดกฎเช่นกัน หรือผู้ประกอบการอาจลองเลือกแอดมินเพจที่เคยเป็นเจ้าของเพจที่โดนบล็อกมาก่อน เขาจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ดี และรู้ทางหนีทีไล่
5. แอดมินควรตรวจสอบความปลอดภัยอยู่เป็นประจำ
มีขอแนะนำอีกอย่างหนึ่ง คือ แอดมินควรใช้ฟีเจอร์การตรวจสอบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อช่วยตรวจสอบกิจกรรมและความปลอดภัยโดยรวมของบัญชีผู้ใช้ รวมถึงเพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบประวัติการเข้าสู่ระบบเพื่อตามหาการเข้าสู่ระบบที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแอปฯและเกมที่ถูกติดตั้ง ลบสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจออกไป และตรวจสอบบันทึกกิจกรรมทั้งหมด ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงเพจเฟซบุ๊ก และเชื่อว่าบัญชีผู้ใช้ถูกแฮ็ค กรุณาเยี่ยมชม Facebook Help Center เพื่อส่งคำขอในการขอความช่วยเหลือ หรือเข้าที่นี่ www.facebook.com/safety/ อย่างไรก็ตามในเรื่องของข้อมูลส่วนตัวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน ควรสร้างการเข้าถึง เฟซบุ๊กของเราผ่านด้วยการยืนยันตัวตนแบบสองเพื่อปกป้องบัญชีผู้ใช้จากการถูกขโมยข้อมูลโดยผู้ประสงค์ ซึ่งแบบสองชั้นจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องบัญชีผู้ใช้งานในระดับสูง
6. ควรกำหนดบทบาท-ขอบเขตผู้ดูแลเพจให้ชัดเจน
ผู้ประกอบการควรจะเป็นหนึ่งในผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กร่วมด้วย เพื่อควบคุมความสามารถในการเข้าถึงเพจ นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังสามารถกำหนดบทบาทของผู้อื่นได้ โดยพิจารณาจากระดับที่จำเป็นในการเข้าถึงเพจ เพื่อจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup