Digital Marketing
ซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กยังไงให้ได้ผล! เจาะกลยุทธ์เพิ่มยอดขายบนเฟซบุ๊กสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่
Main Idea
- ต้องยอมรับว่าเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มนี้ใช้งานได้ง่าย มีความสะดวกสบาย และมีผู้ใช้งานที่มากที่สุด ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ผู้ประกอบการนิยมขายสินค้ากันอย่างมากมาย
- แต่กระนั้นต้องยอมรับบนแพลตฟอร์นี้มีการแข่งขันกันสูง การซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กจึงมีความจำเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลลิตา สันติวรรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน digital marketing จึงมาให้ข้อแนะนำการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่
ในปี 2020 แอปพลิเคชันอย่าง Facebook ยังคงเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่นักธุรกิจและนักการตลาดยังคงใช้งานในการซื้อโฆษณากันอยู่ แน่นอนว่าคู่แข่งทางการตลาดจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพราะแพลตฟอร์มนี้ใช้งานได้ง่าย มีความสะดวกสบายและมีผู้ใช้งานที่มากที่สุด แต่สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจอาจจะยังไม่ค่อยรู้ว่าการซื้อโฆษณาบน เฟซบุ๊กมีแบบไหนบ้างและตอนเริ่มซื้อต้องทำอะไรบ้าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลลิตา สันติวรรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน digital marketing จึงให้ข้อแนะนำการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่
การซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กมี 2 แบบ
1. Boost Post
แบบแรกที่ทุกคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีนั้นก็คือการซื้อโฆษณาโปรโมทโพสต์หรือบูสต์โพสต์ซึ่งเป็นตัวโฆษณาเริ่มต้นสำหรับคนที่เริ่มทำธุรกิจ ความสามารถของการบูสต์โพตส์คือทำให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วไปได้เห็นโพสต์นั้นบนฟีด แต่การบูสต์โพสต์ไม่ใช่อะไรที่สร้างความแน่นอนให้ได้ว่าลูกค้าที่เห็นโพสต์นี้จะตัดสินใจซื้อสินค้าทันที ส่วนมากแล้วโพตส์ที่ได้รับการบูสต์แล้วมีคนสนใจมักจะเป็นเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร
การบูสต์โพตส์นั้นทำไม่ยากแค่กดคำว่า Boost Post หลังจากนั้นก็จะมีให้เลือกว่าจะให้โพสต์นี้ไปไหนทิศทางไหน จะกระตุ้นให้มีคนมาตอบโต้หรือการส่งข้อความไปที่แชทแทนและยังสามารถใส่ปุ่มได้เรียกว่าปุ่มกระตุ้นเพื่อเป็นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เราต้องการ เช่นมีข้อความขึ้นว่าซื้อเลย พอกดเข้าไปก็จะเด้งไปที่หน้าซื้อเลย ให้จำไว้ว่าเวลาที่ซื้อโฆษณาไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตามถ้ามีปุ่ม Call to Action ให้ใส่ไปด้วยทำให้ตรงกับสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารออกไป
2. Ads Manager
การซื้อโฆษณาแบบที่สองคือการซื้อผ่านตัวจัดการซื้อโฆษณาหรือ Ads Manager จะช่วยวิเคราะห์ผลของโฆษณาตัวนั้นๆ ได้ สามารถเปลี่ยนรายละเอียดของโฆษณาได้หรือเรียกง่ายๆ ว่าหลังบ้านสำหรับทำการโฆษณา อยากดูผลลัพธ์ต้องเข้าไปดูที่ตัวจัดการโฆษณาเท่านั้นถึงจะเห็นผล สามารถเข้าไปจัดการได้ว่าจะลงโพสต์โฆษณาอันไหน บูสต์เท่าไหร่ กลุ่มเป้าหมายของโพสต์นี้คือใคร โพสต์ที่เป็นโฆษณาจะไม่ปรากฏอยู่ที่หน้าแฟนเพจของเรา เป็นตัวที่วัดได้เลยว่าคนที่เข้ามาซื้อของจากโฆษณานี้นั้นมีส่วนร่วมกับโฆษณาอันนี้มาจากโฆษณาจริงๆ ไม่ใช่แค่เห็นจากหน้าฟีดของเฟซบุ๊กกดไลก์แล้วเลื่อนผ่านไป
กระบวนการการจัดการการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กที่เราต้องมากำหนดเอง
1. เลือกวัตถุประสงค์
ข้อนี้มีความสำคัญมาก ถ้าเราเลือกถูกผลลัพธ์ที่จะได้ก็จะตรงกับความต้องการที่เราอยากให้เป็น เช่นถ้าเลือกการรับรู้แบรนด์ โฆษณาจะแสดงผลบนหน้าฟีดถี่มาก แสดงโพสต์นั้นขึ้นมาบ่อยๆ หรือถ้าเลือกเป็นการเข้าถึงอันนี้จะนับถึงยอดคนที่เห็นโฆษณาว่าเยอะแค่ไหน คนที่เห็นโฆษณาจะนับแบบไม่ซ้ำคนกัน จำนวนการเข้าถึง 4 ครั้งไม่ได้หมายถึงเข้ามาดู 4 ครั้งแต่หมายถึงกดเข้ามาดู 4 คน 4 User Account
2.กำหนดกลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายในเฟซบุ๊กจะมีกลุ่มเป้าหมายให้เลือกอยู่ 3 ประเภทแบบแรกคือกลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งเหมาะกับคนที่เพิ่งเริ่มซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กในช่วงเริ่มต้น ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ยังเลือกกลุ่มเป้าหมายไม่ถูก โดยตรงนี้จะเลือกกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นลูกค้าเราได้
ส่วนกลุ่มเป้าหมายแบบที่สองคือกลุ่มเป้าหมายกำหนดเองคือกลุ่มเป้าหมายที่เรามีข้อมูลของลูกค้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เบอร์โทรหรืออีเมล ข้อมูลที่เรามีกับข้อมูลบนเฟซบุ๊กมันตรงกันก็จะส่งไปถึงคนนั้นโดยตรง หรือว่าคนที่เคยมีส่วนร่วมกับโพสต์โฆษณานั้นที่เคยยิงไป ก็ทำให้เราสามารถยิงไปหาเขาได้อีก
กลุ่มเป้าหมายแบบสุดท้ายคือกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกัน ตรงนี้จะเป็นกลุ่มลูกค้าคนใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของกลุ่มลูกค้าเก่าเรา ที่มีพฤติกรรมคล้ายกับกลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดเองซึ่งเรามีข้อมูลอยู่แล้ว ตัวนี้จะหาคนแบบเดียวกันมีรสนิยมที่คล้ายกันแต่เป็นคนใหม่มาให้เรา เพิ่มฐานลูกค้าได้มากขึ้น
3. งบประมาณและวันเวลา
ก่อนที่จะเริ่มซื้อโฆษณาเราต้องตั้งงบประมาณสำหรับจุดมุ่งหมายในการลงโฆษณาแต่ละครั้งด้วย ถ้าอยากขายของให้เน้นไปที่การขายมากกว่ายอดไลก์ แต่อย่าลืมที่จะตั้งวันที่สิ้นสุดในการซื้อโฆษณาในแต่ละครั้งด้วยไม่อย่างนั้นจะโดนกินเงินยาวๆ ข้อดีของการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กคือความเร็วและง่าย มีโอกาสที่จะได้ลูกค้าในทันทีที่เริ่มซื้อโฆษณา แถมยังมีความคุ้มค่ากับการลงเงินในแต่ละครั้งด้วย โดยเฟซบุ๊กจะคิดเงินสองแบบ แบบแรกเมื่อใดก็ตามที่โฆษณาแสดงผลครบ 1,000 ครั้งต้องจ่ายเงินเต็มจำนวน หรือถ้าเลือกอีกแบบเป็นแบบคลิก ตั้งไว้ 1,000 บาท คลิกจนครบตามจำนวนที่ตั้งไว้ก็ต้องจ่ายเงินตามจำนวนนั้น
4. เลือกโพสต์ที่ต้องการจะโฆษณา
เลือกรูปแบบในการโฆษณาไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ สไลด์โชว์กดเล่นได้ ภาพสไลด์ที่แนบลิงก์กดไปยังเว็บไซต์ตรงๆ คอลเลกชั่นแคนวานส์ที่ใส่รูปแบบจากทุกแบบมารวมกันได้ คอนเทนต์ที่จะลงต้องมีความน่าดึงดูด และอย่าลืมใส่ปุ่ม Call To Action ต่างๆ ด้วย ส่วนรูปแบบอินสแตนท์ เอ็กพีเรียนจะแสดงผลแค่ในมือถือเท่านั้นบนคอมพิวเตอร์จะไม่แสดง เลือกปลายทางในการแสดงโฆษณานอกจากเฟซบุ๊กโดยตรงแล้วให้ลิงก์ไปยังแพลตฟอร์มอื่นด้วย เพื่อให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ เห็นสินค้าของเรา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup