Digital Marketing
ต้องเดินเกมการตลาดให้ถูกจังหวะเวลายังไง ธุรกิจจึงไม่สะดุด!
- ไม่มีสินค้าและบริการใดที่จะขายได้ดีและยั่งยืนไปได้ตลอด ยอดขายจะต้องมีขึ้นลงตามช่วงเวลา ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรจะต้องเข้าใจในเรื่องวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ให้ดี
- วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ จะทำให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในสถานการณ์ช่วงไหน และเตรียมรับมือได้อย่างถูกต้อง
ผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับชีวิตคน คือมีวงจรชีวิต ซึ่งหากเรารู้ว่าโปรดักต์ของเราอยู่ในขั้นตอนไหน ก็จะรู้ว่าควรจะวางแผนการตลาดอย่างไร แม้ว่า Product Life Cycle หรือวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ จะเป็นหลักการที่มีมานานแล้ว แต่ก็มีประโยชน์ในการใช้วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์การตลาดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในสถานการณ์ช่วงไหน และเตรียมรับมือได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ Product Life Cycle มีอยู่ 4 ช่วงด้วยกัน ดังนี้
ขั้นที่ 1 คือ ขั้นแนะนำ (Introduction Stage) คือช่วงที่ผู้ประกอบการทำการบ้านมาแล้วในระดับหนึ่ง และมีการผลิตสินค้าออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลิตเอง หรือการไปว่าจ้างให้ผลิต จะต้องมีเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าสินค้าเราจะขายให้ใคร ดังนั้นควรนำสินค้าไปทดลองกับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ที่ไม่ใช่คนรู้จักเรา ให้เขา Feedback กลับมาว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
ทั้งนี้จะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากพอสมควร ไม่ควรเก็บพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งแบบกระจุกตัวเพราะจะทำให้ได้ข้อมูลไม่ทั่วถึง ที่สำคัญผู้ประกอบการจะต้องยอมรับความจริงได้หากมีคำติชมมา อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ไม่ควรคาดหวังผลกำไรจากการทำธุรกิจอะไรมากมาย เพราะเป็นช่วงแนะนำตลาด หากจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดก็ให้ทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แต่อย่าเพิ่งโหมจัดหนักที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะช่วงนี้ SME ยังได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ควรค่อยเป็นค่อยไป อย่าใจร้อน
ขั้นที่ 2 ขั้นเจริญเติบโต (Growth Stage) หลังจากที่แนะนำสินค้าไปในตลาดแล้ว ลูกค้าก็จะเริ่มรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น บางรายมีความภักดีในแบรนด์ของเรา บางรายก็ยังชั่งใจเพราะมีตัวเลือกในท้องตลาดจำนวนมาก ดังนั้นช่วงนี้จะมีการแข่งขันสูงมากๆ ผู้ประกอบการไม่ควรใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม จนทำให้แบรนด์ดูเสียภาพลักษณ์ แต่ควรเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ให้แบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกค้าเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่ลูกค้ากำลังพบเจอ หรือการเพิ่มรูปลักษณ์ใหม่ของสินค้า รวมทั้งการขยายช่องทางการจำหน่าย หรือการส่งเสริมการตลาดให้เกิดความชอบในแบรนด์
ขั้นที่ 3 คือ ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ (Maturity Stage) จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการมียอดขายสูงสุด และกำลังจะเริ่มอิ่มตัว ไม่ควรที่จะสต๊อกสินค้ามากเกินไป หรือสั่งวัตถุดิบมามากเกิน ที่สำคัญจะต้องประเมินดูสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด และเตรียมแผนรับมือไว้ก็จะดีมาก เนื่องจากการกำไรจากการทำธุรกิจจะลดลง เป็นกราฟที่ค่อยๆ ดิ่งลงเรื่อยๆ ช่วงนี้ไม่แนะนำให้ทำการตลาดแบบรุนแรงมาก แต่ให้คิดหาแผนในอนาคตไว้รอว่าจะทำอย่างไรต่อไป เช่นการพยายามหาจุดขายใหม่ๆ ลูกเล่นใหม่ๆ มาเพิ่มเติม หาตลาดใหม่ๆ ขยายฐานลูกค้า และจะต้องปรับปรุงส่วนผสมทางการตลาดให้พอดีเหมาะกับสถานการณ์
ขั้นตกต่ำ (Decline Stage) หมายความว่า สินค้าทำเงินให้บริษัทได้น้อยลง มีแนวโน้มจะสู้คู่แข่งไม่ได้ คนเริ่มเบื่อสินค้า หันไปซื้อสินค้าคู่แข่งที่ใกล้เคียง เฉพาะช่วงนี้จะต้องเร่งระบายสินค้าออกจากตลาด อาจมีลด แลก แจก แถม บ้าง และเตรียมงัดแผนสำรองที่เราทำไว้ก่อนหน้านี้มาใช้ เช่น การรรีแบรนดิ้ง หรือการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือปรับปรุงของเดิมให้ดีขึ้น ปรับเป้าหมายใหม่ หรือหากมีกำลังทรัพย์ก็อาจขยายฐานลูกค้าไปต่างประเทศด้วยก็จะช่วยให้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup