Digital Marketing
Startup ต้องรู้! โควิด-19 ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน LINE แนะต้องรีบทำความเข้าใจลูกค้า
Main Idea
- ต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนไทยใช้ LINE ในหลากหลายมิติ ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต การติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อความบันเทิง และในช่วงวิกฤตโควิด-19 เห็นได้ชัดว่าคนไทยมีการใช้ LINE เพิ่มมากขึ้น
- ขณะเดียวกันสินค้าและบริการหลายประเภทใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการปรับตัวจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ สร้างให้เกิด Next New Normal ซึ่ง Startup ควรได้เรียนรู้และปรับใช้ให้สอดคล้องกับธุรกิจตนเอง
แอปพลิเคชั่น LINE คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่ผู้ประกอบการ StartUp ใช้เป็นช่องทางในการตลาดเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ล่าสุด LINE ประเทศไทย เผยผลสำรวจข้อมูลการใช้งานของคนไทยมีมากกว่า 44 ล้านคน แนวโน้มมีสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งในแง่ของการใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในแง่ของธุรกิจ วันนี้ยังคงเก็บตก ควันหลงงานงาน LIVE EVENT LINE FOR BUSINESS ภายใต้หัวข้อ ‘THAILAND NOW AND NEXT AFTER COVID-19 เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคบนแพลตฟอร์ม LINE หลัง COVID-19 ระบาด
พฤทธิสิทธิ์ ประทีปะวณิช หัวหน้าฝ่ายจัดการแพลตฟอร์มและบริการ LINE ประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันคนไทยใช้ LINE ในหลากหลายมิติ ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต การติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อความบันเทิง และในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากผลสำรวจเห็นได้ชัดว่าคนไทยมีการโทรผ่าน LINE มากขึ้น ทั้งโทรฟรี และวิดีโอคอเพิ่มขึ้น 270% และ 236% ตามลำดับ
ทั้งนี้ยังคนไทยมีการใช้งานการโทรผ่าน LINE บนคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงขึ้นถึง 264% ในช่วงเดือนมีนาคมเนื่องจากมีการเพิ่มฟีเจอร์แชร์หน้าจอระหว่างการโทร ที่ LINE ตั้งใจพัฒนามาเพื่อสนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน ในส่วนของขณะที่การใช้งาน LINE MAN มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 3 เท่า และมีร้านอาหารเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น 5 เท่า
ขณะที่ กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของคอนเทนต์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการสำรวจพบว่า LINE TODAY ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักของคนไทยในการรับข่าวสารที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ ท่ามกลางข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมากมายที่อาจสร้างความสับสน
โดย LINE ได้เพิ่มแท็บข่าว ‘โควิด-19’ โดยเฉพาะบน LINE TODAY เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคไทยในสถานการณ์นี้ และพบว่ามีการเข้ามาอ่านเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่ LINE TV ผู้บริโภค มีพฤติกรรมการรับชมที่เปลี่ยนไป คือรับชมผ่านจอใหญ่มากขึ้นถึง 42% ในเดือนมีนาคม เนื่องจากคนเข้าสู่สภาวะการทำงานที่บ้าน ทำให้เกิดเทรนด์การดู LINE TV ร่วมกับครอบครัวมากขึ้นและนานขึ้น
ต่อมาคือพฤติกรรมผู้บริโภคมีความนิยมของซีรีส์วาย (ชายรักชาย) ที่เติบโตสูงถึง 5 เท่า โดยมีกลุ่มผู้ชมหลักคือผู้หญิงวัย 18-34 ปี แต่สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มผู้ชมที่อันดับรองลงมาเป็นกลุ่มผู้หญิงวัย 55 ขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าการดูคอนเทนต์ LINE TV ร่วมกับครอบครัว ได้ส่งผลให้กลุ่มคนสูงอายุสามารถเข้าถึงและเปิดรับคอนเทนต์แนวใหม่ได้มากขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตามยังพบสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ หลังจากที่เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน และต้องอยู่บ้าน คอนเทนต์ที่เติบโต คือแอนิเมชั่นโดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เทียบกับกุมภาพันธ์มีการเติบโต 33% พบว่าวันศุกร์กลายมาเป็นวันที่มีอัตราการรับชมเติบโตสูงที่สุด สูงขึ้นถึง 56% ซึ่งสิ่งนี้บ่งว่าวันหยุดสุดสัปดาห์ของเด็ก ๆ กำลังเพิ่มขึ้นเป็น 3 วัน
ทางด้าน ธีรวัฒน์ งามวิทยศิริ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจค้าปลีก LINE ประเทศไทย ได้เผยถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ในช่วงนี้ว่า ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม สินค้าและบริการหลายประเภทนำเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มมาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับตัวจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการขายให้กลุ่มลูกค้าเดิมหรือขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ สร้างให้เกิด Next New Normal หลังสิ้นสุดวิกฤติครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่แบรนด์อื่นๆ ในไทยควรได้เรียนรู้และปรับใช้ให้สอดคล้องกับธุรกิจตนเอง
ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้นำเสนอสินค้าบริการให้ตรงจุดและครบวงจร จากนั้นเดินหน้าสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการมุ่งแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้า โดยการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น OneSiam และ HomePro ที่ใช้ LINE มาเป็นช่องทางการขายสินค้าแทนหน้าร้านที่จำเป็นต้องปิดให้บริการ รวมถึงเป็นช่องทางรักษาความสัมพันธ์และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับไม่ใช่แค่การเพิ่มยอดขาย แต่เป็นการเพิ่มโซลูชันใหม่ๆ ให้กับธุรกิจด้วย
ส่วน กฤษณะ งามสม ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา LINE ประเทศไทย กล่าวว่า สองสิ่งที่ผู้ประกอบการควรเร่งลงมือทำเพื่อฟื้นฟูธุรกิจในอนาคตหลังสถานการณ์ดีขึ้นคือ 1) การสร้างพื้นฐานของช่องทางออนไลน์ให้แข็งแกร่ง และ 2) การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค Online Merges with Offline (OMO) ซึ่งประสบการณ์ออฟไลน์จะกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแรง (Build strong fundamental) โดยหากยิ่งมีจำนวนผู้ติดตามเยอะ ยิ่งทำให้มีข้อได้เปรียบในการขายสินค้า เพราะนั่นคือฐานข้อมูลหรือดาต้า ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปวิเคราะห์ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการขายได้มากกว่า
ทั้งนี้ LINE ยังได้สรุปหลักแนวคิดแนะนำสำหรับผู้ประกอบการว่า การทำธุรกิจควรเริ่มจากการมีฐานข้อมูลลูกค้าที่มากพอและมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยการนำเสนอสินค้าได้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายผ่านการโฆษณาที่เหมาะสม เพื่อการบริหารต้นทุนที่ดี ส่วนในกรณีที่ต้องการขายสินค้าที่เน้นปริมาณ ก็ควรพิจารณาเครื่องมือที่มีต้นทุนต่อการเข้าถึงต่ำ แต่ให้ผลตอบรับสูงสุด
ทั้งหมดนี้คือการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า LINE มุ่งจะเรียนรู้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดให้เร็วที่สุดเพื่อจะเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเสนอบริการให้ตอบสนองคนไทยให้ดีที่สุด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็จะทำให้เนื้อหาการสื่อสารในอนาคตเปลี่ยนไปเช่นกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup