Digital Marketing

คาถาการทำธุรกิจ Do or Don’t แค่ทำหรือไม่ทำก็สำเร็จได้

Text : ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร Founder & CEO : CEMSHALL




Main Idea
 
  • หลักการหนึ่งในการบริหารธุรกิจให้เติบโต คือ “Do กับ Don’t” หมายถึงการดำเนินธุรกิจโดยการสนใจที่จะทำในสิ่งที่ควรทำและหลีกเลี่ยงหรือไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
 
  • แม้จะฟังดูเป็นคำง่ายๆ แต่การจะตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ก็เป็นการตัดสินใจที่ยาก เพราะหากตัดสินใจพลาดอาจทำให้ธุรกิจไปถึงทางตันได้
 



     Startup ส่วนใหญ่มักมีจุดอ่อนเรื่องเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด การจะเข้าสู่โอกาสทางธุรกิจในแต่ละครั้งต้องคิดให้รอบคอบ ประเมินผลได้ผลเสียให้รอบด้าน บางครั้งหากต้องใช้งบประมาณในการศึกษาวิจัยหรือทดลองสำหรับทำตลาดในโอกาสทางธุรกิจนั้นก็ต้องมั่นใจว่า สิ่งที่เราจะลงมือทำนั้นมีโอกาสในความเป็นไปได้สูงพอสมควรก่อนลงมือทำ ต้องรู้ตัวเองว่าเราทำได้ดีในด้านไหน และต้องระมัดระวังพาตัวเองเข้าไปสู่ธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย


     โดยหลักการหนึ่งในการบริหารธุรกิจที่ฟังดูง่ายๆ คือ การยึดถือคำแค่สองคำคือ “Do กับ Don’t” คือ “ทำ กับ ไม่ทำ” หมายถึงการดำเนินธุรกิจโดยการสนใจที่จะทำในสิ่งที่ควรทำและหลีกเลี่ยงหรือไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพียงแค่นี้ก็จะช่วยรักษาธุรกิจของเราให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ง่ายๆ แล้ว


     ในหลายครั้งผู้ที่กำลังทำธุรกิจโดยเฉพาะ Startup ที่เริ่มธุรกิจใหม่ๆ และทำไปได้สักพักเมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือโอกาสอื่น ๆ เข้ามา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายคนก็เกิดอาการสับสนว่าตนเองนั้นจะพลาดโอกาสของการเปลี่ยนแปลงนี้ไปหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่มักจะเลือกมองแต่ด้านดีและมองว่าตนเองจะสามารถสร้างรายได้ในโอกาสนี้ได้โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยหรือเรื่องอื่น ๆ ที่อาจส่งผลร้ายต่อธุรกิจ เช่น ความพร้อมด้านเงินทุน ความพร้อมด้านบุคลากร


     แม้ว่าจะมีนักธุรกิจบางคนตัดสินใจถูกที่จะกระโจนเข้าใส่โอกาสใหม่ๆ จากความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแล้วประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นส่วนน้อยที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่หลายๆ ธุรกิจถูกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาในครั้งแรกอาจผ่านไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่เราจะวางแผนหรือผลิตสินค้าและบริการจนเสร็จแล้วนำออกสู่ตลาดก็ได้


     อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อมีโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงเข้ามาคือ เราต้องวิเคราะห์ธุรกิจที่เราทำอยู่ในปัจจุบันก่อนว่าใกล้เคียงกับโอกาสที่เข้ามามากน้อยเพียงใด การที่เรานำพาธุรกิจเข้าไปในโอกาสซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความล้มเหลวเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเราไม่มีความรู้ในธุรกิจนั้นเราจำเป็นต้องทำการศึกษา ทดลอง และวิจัยซึ่งอาจสร้างภาระด้านรายจ่ายให้กับธุรกิจได้แม้โอกาสทางธุรกิจนั้นเป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี


     ทั้งนี้สิ่งที่ทันสมัยหรือแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าเราเป็นธุรกิจที่ปรับตัวไปตามเทรนด์ของตลาดก็ตาม และในบางครั้งสิ่งที่ดีในโอกาสทางธุรกิจนี้ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจของเราก็ได้ ดังนั้น การเพิกเฉยต่อโอกาสที่เราคิดว่าไม่ใช่ของเราก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดพลาดเสมอไป


     โดยในบางครั้ง สิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ก็ได้ การสนใจกับสิ่งที่ตนเองถนัดหาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำได้ดีที่สุด ทำและทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่และจริงจังรีบทิ้งสิ่งที่ทำอยู่ทันทีเมื่อรู้ว่าสิ่งนี้ไปต่อไม่ได้โดยไม่ต้องเสียดายนี่อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจก็ได้


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup