Digital Marketing
เขียนคำโฆษณาเองได้ แค่รู้ 5 ขั้นตอนนี้
ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ
Main Idea
- การเขียนคำโฆษณามีสูตรการเขียน รูปแบบให้ปฏิบัติตาม และทำเองได้ ซึ่งข้อดีคือช่วยให้การเขียนทำได้ง่ายขึ้น มีโอกาสสัมฤทธิ์ผล เพราะได้รับการพิสูจน์แล้ว และใช้เวลาไม่นาน
- ทั้งนี้ สามารถสรุปเทคนิค แนวคิด วิธีเขียนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังนี้
กูรูการตลาดบางท่านบอกว่า การเขียนคำโฆษณา และคอนเทนต์ไม่มีสูตรตายตัว ได้ยินแล้วทำให้รู้สึกมันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการจะทำเอง ต้องไปฝึกอบรมเท่านั้น - -" ข้อเท็จจริงคือ การเขียนคำโฆษณา (รวมถึงคอนเท็นต์การตลาดอื่นๆ) มีสูตรการเขียน รูปแบบ หรือแพทเทิร์นให้ปฏิบัติตาม และทำเองได้ ซึ่งข้อดีของการใช้สูตรในการเขียนก็คือ มันช่วยให้การเขียนทำได้ง่ายขึ้น มีโอกาสสัมฤทธิ์ผล เพราะได้รับการพิสูจน์แล้ว และใช้เวลาไม่นาน เพราะไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์
สูตรการเขียนดั้งเดิมที่นักการตลาดคุ้นเคยเป็นอย่างดีก็คือ AIDA ที่หมายถึง การเขียนคำโฆษณา หรือคอนเท็นต์ที่มีเป้าหมายคือ ต้องสามารถเรียกร้องความสนใจ (Attention) ได้ตั้งแต่ต้น จากนั้นทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจ (Interest) ในสิ่งที่เราขาย ก่อนที่จะสร้างความต้องการ (Desire) ในสินค้า หรือบริการ จนผู้บริโภคอดใจไม่ไหวต้องซื้อสินค้า (Action) ของเราในที่สุด โดยทุกคำที่เขียนให้พยายามนึกอยู่เสมอว่า ผู้บริโภคได้ประโยชน์ หรือคุณค่าอะไร (แก้ปัญหา หรือสร้างโอกาส) ตัวอย่างเช่น “รู้หรือไม่ แค่ 5 เหรียญฯ คุณก็เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ได้” (Raspberry pi คอมพิวเตอร์จิ๋วขนาดเท่าบัตรเครดิต) “ให้คุณดื่มได้ทั้งวัน โดยไม่มีใครรู้” (ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น) เป็นต้น สังเกตว่า คำโฆษณาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สร้างความสนใจให้กับสินค้าได้เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบ และลักษณะของการเขียนที่คล้ายกันอีกด้วย ซึ่งสามารถสรุปเป็นเทคนิค แนวคิด วิธีเขียนที่คุณผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังนี้
1. เคลียร์ คัท ชัดเจน
ทั้งภาพที่เลือกใช้ และความหมายของคำที่เล่าบอก พึงระลึกว่า คำโฆษณา หรือข้อเขียนก็อปปี้ของคุณ ใครอ่านก็เข้าใจ พูดง่ายๆ ก็คือ “ไม่ใช่แค่เขียนให้เข้าใจ แต่ต้องเขียนจนไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปได้” แนะให้เลือกใช้คำที่สั้นกว่า เพราะจะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า (ประโยคสั้นๆ หรือวรรคตอนสั้นๆ) จำง่าย ได้ยินครั้งเดียวติดหู ได้พูดครั้งเดียวติดปาก (ส่วนใหญ่จะเป็นก็อปปี้ที่ใช้คำคล้องจอง – “ช่วยคุณไปไกลกว่า รักษาเครื่อง ไม่เปลืองเงิน” - น้ำมันเบนซิน) แถมยังมีพลัง หรืออิมแพคกว่าการใช้ข้อความยาวๆ อีกด้วย คำโฆษณาที่ชัดเจนมาจากความคิดที่ชัดแจ้ง ซึ่งมาจากความ*เข้าใจคุณค่าที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี ถ้าไม่เข้าใจ ก็อปปี้ทีได้ จะไม่รู้เรื่อง (*เข้าใจ แปลว่า สามารถอธิบายได้)
2. สั้นกระชับ
ต่อเนื่องจากแนวคิดแรก นอกจากต้องเลือกคำที่เข้าใจง่ายแล้ว ต้องสั้นกระชับด้วย แนวทางการเขียนคือ ลดคำเยิ่นเย้อ ตัดคำที่ไม่จำเป็น แต่ยังคงความหมาย ความเข้าใจได้เหมือนเดิม ถ้าเป็นการเขียนคอนเท็นต์ ก็จะหมายถึง การเล่าเรื่องให้จบด้วยจำนวนคำที่น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำ
3. จับใจ
การเขียนก็อปปี้ หรือคอนเท็นต์ไม่ใช่แค่ทำให้อ่านง่าย เข้าใจเร็วเท่านั้น แต่ต้องดึงดูดความสนใจ หลงไหล และให้ข้อมูลที่จะทำให้ผู้อ่านละสายตาไม่ได้ (ถ้าเป็นหนังสือก็)วางไม่ลง หรืออย่างน้อย ต้องกระตุ้นความรู้สึกให้อยากอ่านต่อ อยากรู้เรื่องเพิ่ม เพื่อค้นพบประเด็นสำคัญในคอนเท็นต์นั้นๆ ปัญหาคือ ส่วนใหญ่มักจะนำเสนอเรื่องที่นักการตลาด หรือเจ้าของสนใจ มากกว่าสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ พึงระลึกว่า ผู้บริโภคสนใจแต่เรื่องของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ความจำเป็น ความกลัว ข้อกังวล ความท้าทาย โอกาส เรื่องที่ต้องรู้ และสินค้า หรือบริการที่พวกเขาอยากได้ ก็อปปี้ หรือคอนเท็นต์ที่พุ่งเป้าไปที่เรื่องของกลุ่มเป้าหมายมากกว่าวนเวียนอยู่แต่ผลิตภันณฑ์จะ”จับใจ”ผู้บริโภคได้ดีกว่า แนวคิดในการเขียนให้จับใจคือ ปัญหาลูกค้ามาก่อน ผลิตภัณฑ์มาที่หลัง แต่มาแล้วตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จริง
4. ไว้เนื้อ เชื่อใจได้
ในยุคที่เชื่ออะไรได้ยาก เพราะผู้บริโภคมักจะมีความคิดอยู่เบื้องหลังเสมอว่า ข้อความก็อปปี้ที่เห็น คือ ความพยายามขายผลิตภัณฑ์ หรือบริการของนักการตลาด การสร้างความไว้วางใจด้วยการนำเสนอคอนเท็นต์บนสื่อออนไลน์ (หรือออฟไลน์ต่างๆ) อย่างสม่ำเสมอ เป็นกลวิธีที่บรรดาแบรนด์ชั้นนำใช้กัน อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลก็คือ การรับประกันยินดีคืนเงิน เมื่อลูกค้ารู้สึกไม่พอใจต่อสินค้า หรือบริการ รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า เช่น “เงินเดือน 15,000 บาท ก็สมัครบัตรเครดิต KTC ได้แล้ว ไม่ต้องกลัวอะไร" แนวคิดในการเขียนก็อปปี้ หรือคอนเท็นต์คือ ยิ่งทำให้พวกเขามั่นใจ (คลายกังวล ไม่สับสน ลดความกลัว ฯลฯ) ยิ่งทำให้พวกเขาตัดสินใจง่ายขึ้น (เร็วขึ้น มากขึ้น :D)
5. กระตุ้นให้อยากได้ อยากมี
อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจแล้วค้างเติ่ง เทคนิคการเขียนคำกระตุ้นให้ลูกค้าอยากได้ใคร่มี หรือศัพท์เทคนิคเรียกว่า call to action (CTA) แนวการเขียนคือ การบอกให้ผู้อ่านรู้ว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะได้สินค้า หรือบริการของคุณ ตัวอย่างเช่น “คลิกสั่งสินค้าที่นี่” “ขอรับส่วนลดพิเศษ” “สมัครเรียนฟรีคลิกที่นี่” เป็นต้น (อาจจะกระตุ้นเพิ่มเติมด้วยวลีเร่งรัดการตัดสินใจ หรือ FOMO – Fear Of Missing Out ด้วยการใช้คำอย่าง ด่วน!!! จำนวนจำกัด สั่งเลยรออะไรอยู่ ฯลฯ)
และทั้งหมดคือ สูตรเด็ดเคล็ดลับในการเขียนคำโฆษณา หรือคอนเท็นต์ให้ได้ทั้งยอดขาย และได้ใจลูกค้าที่ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถลองฝึกหัดทำได้เอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup