Digital Marketing

เปิดร้านอาหารใหม่ ทำอย่างไรให้คนรู้จัก

Text : Vim viva
 

 

Main Idea
 
 
  • ร้านอาหารมักเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ เราจะนึกถึงเมื่อคิดอยากเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ด้วยทัศนคติที่ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นทุกคนก็ต้องกิน
 
  • แต่รู้หรือไม่ว่าร้านอาหารที่เปิดมาแล้วเจ๊งไม่เป็นท่าในเวลาอันรวดเร็วก็มีมากมาย เพราะใช่ว่าลูกค้าจะไม่เลือกกิน ดังนั้น ไม่ว่าร้านอาหารจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันคือการวางกลยุทธ์ด้านการตลาด
 
  • วันนี้จึงมีไอเดียการตลาดสำหรับร้านอาหาร 15 ข้อมาฝากกัน ไปดูว่ามีอะไรบ้าง
 
 
 

     แม้ร้านอาหารจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเนื่องจากถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราจึงได้ยินคำพูดนี้บ่อยๆ ถ้านึกไม่ออกว่าจะทำธุรกิจอะไร ให้ขายอาหารเพราะไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ลูกค้าก็ต้องกิน


     ด้วยเหตุนี้ ร้านอาหารจึงเป็นธุรกิจยอดฮิต ไม่แปลกที่จะมีผู้ประกอบการจำนวนมากเข้ามาชิงพื้นที่ในตลาด การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้จึงสูง และไม่ว่าร้านอาหารจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันคือการวางกลยุทธ์ด้านการตลาด


     สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำการตลาดแบบไหนให้ร้านเป็นที่รู้จัก และลูกค้าประทับใจจนเวียนกลับมาเป็นลูกค้าประจำ วันนี้มีไอเดียการตลาดสำหรับร้านอาหารมาฝากกัน 15 ข้อด้วยกัน ไปดูว่ามีอะไรบ้าง
 





     1. ประชาสัมพันธ์ผ่านคนดังในสังคม

         ไม่ว่าจะเป็นเน็ตไอดอล influencer หรือบล็อกเกอร์ที่มีคนติดตามเยอะ และมีอิทธิพลพอจะทำให้แฟนคลับเจริญรอยตาม วิธีนี้จะทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างในโลกโซเชียล หากเน็ตไอดอลเหล่านั้นมาใช้บริการและรีวิวเองก็ถือเป็นโชคดี แต่ถ้าจำเป็นต้องจ่ายเงินจ้าง บางทีก็อาจต้องทำ แต่เลือกสักนิดว่าควรจ้างใครที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด





     2. พยายามทำให้รีวิวบนแอปฯแนะนำร้านอาหารเป็นบวก

         การรีวิวของในหลายๆ ที่ ลูกค้าอาจสงสัยว่าเป็นการรีวิวโดยหน้าม้าหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นรีวิวบนแอพพลิเคชั่น ยกตัวอย่างเช่น แอพทริปแอดไวเซอร์ หรือแอพวงในของบ้านเรา ซึ่งเป็นรีวิวจากลูกค้าทั่วไปที่เสียเงินใช้บริการจริงก็ทำให้ดูน่าเชื่อถือขึ้น และวิธีที่จะได้มาซึ่งรีวิวแบบบวก ๆ นั้นคือการมอบประสบการณ์ดีๆ แก่ลูกค้า เมื่อลูกค้าประทับใจ พวกเขาจะถ่ายทอดผ่านการบอกต่อเอง





     3. ให้รางวัลแก่ลูกค้าประจำ

         ผลการสำรวจพบว่าการภักดีต่อแบรนด์จะเกิดขึ้นมากสุดกับแบรนด์ค้าปลีกร้านอาหาร นอกเหนือจากบริการดีๆ และประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ทางร้านมอบให้ การรักษาฐานลูกค้าให้กลับมาใช้บริการอีกเรื่อยๆ สามารถทำได้ด้วยการมอบส่วนลด หรือของกำนัล และทำบัตรสมาชิกวีไอพีให้ เป็นบัตรดิจิทัลที่สามารถดาวน์โหลดบนมือถือได้ เพราะยุคนี้แล้ว น้อยคนนักที่จะพกบัตรพลาสติกในกระเป๋าสตางค์





     4. ออกงานอีเวนท์

         ท่ามกลางการผุดขึ้นใหม่ของร้านอาหารและคาเฟ่น้องใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกลืมเลือน วิธีหนึ่งคือการขยันออกงาน เช่น งานอีเวนต์ต่างๆ งานฟู้ดแฟร์ หรือแม้กระทั่งลานเบียร์ หรือเทศกาลอาหารที่จัดตามห้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้แบรนด์ได้ผ่านสายตาประชาชน และเป็นที่รู้จักคุ้นเคย ยิ่งออกงานบ่อย ก็จะทำให้เป็นที่จดจำมากขึ้น





     5. ทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย 

         
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตลาดผ่านโซเชี่ยลมีเดียเป็นอะไรที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน การมีช่องทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเว็บเพจ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรือยูทูปจะเป็นพื้นที่ที่ทางร้านใช้ลงภาพลงคลิปเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคที่สะดวกและรวดเร็วอีกด้วย สิ่งที่ต้องระวังคือการใช้ภาษา คำสะกดให้ถูกต้อง จะสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับทางร้าน





     6. รับฟังทุกเสียงของลูกค้าอย่างใส่ใจ

         สิ่งที่ตามมาหลังการเปิดช่องทางโซเชี่ยลมีเดียคือรวมถึงเสียงสะท้อนจากลูกค้าที่เข้ามาติชม ดังนั้น ไม่ว่าจะได้รับ “ดอกไม้” หรือ “ก้อนหิน” คนที่ดูแลสื่อโซเชี่ยลของทางร้านจะต้องรับมืออย่างมีสติ ด้วยความสุภาพ เช่น หากได้รับการรีวิวจากลูกค้าที่ไม่พึงพอใจ ก็อย่าใช้อารมณ์โต้ตอบ แต่ควรแสดงให้เห็นว่าทางร้านรับฟังทุกเสียงจากลูกค้าอย่างใส่ใจ





     7. สร้างความคุ้นเคยกับลูกค้า

         เจ้าของร้านและพนักงานก้าวออกจากหลังม่านออกมาปรากฎให้ลูกค้าเห็นบ้าง โดยการลงภาพที่ถ่ายในร้าน อาจจะแนะนำตัวเอง แนะนำพนักงานในร้านเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ได้ดีลกับแบรนด์อย่างเดียว แต่ดีลกับมนุษย์ด้วยกัน สิ่งนี้จะทำให้แบรนด์ได้รับการจดจำง่ายขึ้น





     8. สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมให้กับพนักงาน

         ผู้ประกอบการควรปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเมตตาและเป็นธรรม มีหลายร้านที่ดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว ทำให้พนักงานรู้สึกภักดีต่อองค์กร และเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เมื่อใดที่พนักงานมีความสุข พวกเขาจะบริการลูกค้าด้วยใจ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ร้าน ดังนั้น ลองให้ใจพนักงานก่อน แล้วคุณจะได้ใจกลับคืนมาเช่นกัน





     9. ทำให้ชื่อร้านปรากฎเมื่อค้นหาในกูเกิ้ล

         ผลสำรวจระบุ 87% ของผู้คนใช้วิธีค้นหาร้านอาหารผ่านกูเกิล ดังนั้น ต้องทำอย่างไรให้ชื่อร้านปรากฎในการค้นหาของลูกค้า ยกตัวอย่าง หากทางร้านมีเพจอยู่แล้ว เมื่อลงคอนเทนต์อย่าลืมใส่แฮชแท็กที่เกี่ยวกับร้าน เช่น ชื่อร้าน ประเภทของร้าน โลเกชั่น และอื่นๆ หรือหากมีงบประมาณเหลือก็สามารถซื้อโฆษณาในกูเกิลได้





     10. ออกแบบเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย และมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์

           เช่น พิกัดร้าน แผนที่ วิธีเดินทางไปที่ร้าน วันและเวลาในการให้บริการ ประเภทของอาหารและเครื่องดื่ม และโปรโมชั่นที่มี เป็นต้น นอกจากนั้น อาจเพิ่มเนื้อหาที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ทำอยู่ อาทิ ประโยชน์ของพืชผักสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมในอาหารของร้าน ที่มาของเมนู หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่าง ๆ คอยปรับเนื้อหาในเว็บไซต์เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
              




     11. คอยพัฒนาเมนูใหม่อยู่เป็นประจำ

          หลังจากที่สร้างฐานลูกค้าได้แล้วก็ไม่ควรหยุดนิ่งที่เมนูเดิม ๆ ควรรังสรรค์อาหารจานใหม่ ๆ ออกมาแนะนำอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจ และเป็นการสร้างตื่นเต้นให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาลองเมนูใหม่ๆ และในการแนะนำอาหารจานใหม่ อย่าลืมประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบทุกครั้ง ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของทางร้านว่ามีการสร้างสรรค์อยู่ตลอด





     12. เพิ่มบริการส่งอาหารถึงที่เพื่ออำนวยความสะดวก

          อันนี้เป็นเทรนด์ที่ไม่ควรพลาดเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือที่ทำงาน  วิธีที่ง่ายที่สุดคือการลงทะเบียนกับแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น ฟู้ดแพนด้าม, แกรบ, ไลน์แมน หรือ เก็ท เป็นต้น เป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงลูกค้านอกเหนือจากการบริการลูกค้าที่มาทานที่ร้าน





     13. ซื้อโฆษณาในสื่อโซเชี่ยลมีเดียเพื่อเพิ่มการมองเห็นของลูกค้า

          เป็นที่ทราบกันว่าบางสื่ออย่างเฟสบุ๊กจะจำกัดการมองเห็น บางที 1 โพสต์ที่เผยแพร่ไป มีคนเห็นแค่ 10%-20% แต่การซื้อโฆษณาหรือที่เรียกว่าการ boost โพสต์นั้น จะทำให้ลูกค้ามองเห็นโพสต์นั้นมากขึ้น อาจจะไม่ต้อง boost ทุกโพสต์ แต่เลือกโพสต์ที่สำคัญ ๆ เช่น การจัดโปรโมชั่น หรือกิจกรรมที่ต้องการให้ลูกค้าเข้าร่วมเยอะๆ





     14. อีเมลยังเป็นช่องทางสื่อสารที่สำคัญ

           เพราะ 91% ของผู้คนยังคงใช้อีเมล์ในชีวิตประจำวัน การส่งอีเมล์แจ้งข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของทางร้านจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เช่น ส่งโปรโมชั่นและส่วนลดไปกระตุ้นให้ลูกค้ามาใช้บริการ ส่งอีเมล์เพื่อแจ้งเมนูพิเศษในเทศกาลต่างๆ  อีเมลของลูกค้าอาจจะรวบรวมมาจากการให้ลูกค้าลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษต่างๆ





     15. การสร้างปราบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า

           ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Experience หรือประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับระหว่างใช้บริการ ดังนั้น ทางร้านจะต้องทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด เริ่มตั้งแต่บรรยากาศร้าน การบริการของพนักงานไปจนถึงคุณภาพและรสชาติของอาหาร หลาย ๆ ร้านอาจอำนวยความสะดวกในสิ่งเล็กๆ น้อย คอยเติมน้ำเมื่อพร่องโดยลูกค้าไม่ต้องเรียก ทำที่แขวนกระเป๋าไว้ข้างโต๊ะให้ เป็นต้น
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup