Digital Marketing

อัพเดต! Digital Marketing เจาะ 3 เทคนิค พลิกธุรกิจโต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • ทุกวันนี้การขายของออนไลน์ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน เพราะแต่ละโซเชียลมีเดียมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแทบทุกวัน ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องติดตามและปรับตัวรับเทรนด์การตลาดออนไลน์ตลอดเวลา
 
  • ความท้าทายที่ผู้ประกอบต้องเจอในปี 2020 คือ แม้แบรนด์โพสต์เยอะ แต่ Engagement กลับลดฮวบ บนโซเชียลมีเดียมีคอนเทนต์จากผู้บริโภคเยอะ ไลฟ์ขายของยังเป็นที่นิยม และการเปลี่ยนกฎใหม่ของ Facebook และ Youtube
 
  • แต่ความท้าทายเหล่านี้จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะกูรูด้านการวางกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลได้แนะนำ 3 ไม้ตายที่ผู้ประกอบการหยิบไปใช้กับธุรกิจได้



     ทุกวันนี้การค้าขายบนโลกออนไลน์ไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อน เพราะแต่ละโซเชียลมีเดียมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเกือบทุกวันจนผู้ประกอบการตามแทบไม่ทัน ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามและปรับตัวรับเทรนด์การตลาดออนไลน์ตลอดเวลา ซึ่ง สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล นักวางกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล บริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด ได้มาอัพเดตสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นบนออนไลน์ ปี 2020 ผ่านหัวข้อสัมมนา “อัพเดต Digital Marketing เจาะเทคนิค พลิกธุรกิจโต” ในงานสัมมนาใหญ่ส่งท้ายปี “Next Trends 2020” ซึ่งจัดโดย นิตยสาร SME Thailand ร่วมกับ นิตยสาร SME Startup



     ในปี 2020 ผู้ประกอบการจะได้เจอกับความท้าทายต่อไปนี้ที่เข้ามาทำให้การตลาดออนไลน์ทำได้ยากลำบากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
           
     1.แบรนด์โพสต์เยอะ แต่ Engagement ลดฮวบ
               
     Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย เผยข้อมูลว่า ปี 2019 แบรนด์โพสต์ Facebook มากขึ้น 23% แต่การมีส่วนร่วมต่อโพสต์ลดลง 18% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2018 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นโดยผู้บริโภค ทำให้คอนเทนต์ที่แบรนด์ถูกแย่งความสนใจไป ขณะที่ใน Instagram แบรนด์โพสต์มากขึ้น 92% แต่การมีส่วนร่วมต่อโพสต์กลับลดลงมากขึ้น 46.5% สาเหตุเพราะผู้ใช้หันไปโพสต์ IG Stories และให้ความสนใจกับคอนเทนต์ในฟีเจอร์นี้มากกว่าคอนเทนต์บน timeline ด้านฝั่งของ Twitter จำนวนโพสต์ลดลง 10% แต่การมีส่วนร่วมต่อโพสต์เพิ่มขึ้นสูง 50%
           
     2.ผู้บริโภคโพสต์เยอะขึ้น

               
     ตอนนี้ผู้บริโภคโพสต์บ่อยและโพสต์เยอะไม่ต่างจากแบรนด์ ส่งผลให้ปริมาณคอนเทนต์บนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคนิยมโพสต์คอนเทนต์เลียนแบบกระแสในช่วงเวลานั้นๆ ตัวอย่างเช่น กระแสรูปเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ซึ่งเป็นที่พูดถึงเพราะลิซ่าแห่งวง Blackpink นำมาตั้งเป็นรูปพื้นหลังโทรศัพท์ จากกระแสนี้ทำให้เกิดคอนเทนต์เลียนแบบอย่างการตัดต่อรูปใบหน้าเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยเป็นรูปใบหน้าของบุคคลอื่นที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม นอกจากนี้ การเกิดใหม่ของกระแสที่เกิดขึ้นได้ทุกวันและความไวของกระแสที่มาไวไปไวก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีคอนเทนต์ใหม่เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ



     3.ไลฟ์ขายของยังฮิตอยู่
               
     หนึ่งในวิธีการขายสินค้าที่ยังฮิตอยู่บน Facebook และดึงให้คนเข้ามาซื้อสินค้าได้ไม่น้อยไปว่าคอนเทนต์หรือโฆษณา คือ ไลฟ์สด ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการขายด้วยวิธีนี้ คือ บังฮาซันที่ไลฟ์สดขายอาหารทะเลตากแห้งจนได้ยอดขายหลักล้านในเดือนเดียว
               
     สำหรับผู้ประกอบการที่อยากลองขายสินค้าด้วยวิธีนี้ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง สุรศักดิ์แนะนำให้เข้า Facebook Group กลุ่มที่ขายสินค้าประเภทเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการขาย เพื่อดูว่าพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นไลฟ์สดอย่างไรจึงขายสินค้าได้ และการไลฟ์สดที่ไม่เหมือนใคร นอกจากสร้างยอดขายได้แล้ว ยังดึงให้คนเข้ามาดูไลฟ์สดและทำให้ไลฟ์สดนั้นกลายเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์ เช่น ไลฟ์สดขายชุดนอนของแม่ค้ารายหนึ่งที่ตอนไลฟ์สดขายสินค้าด้วยการพูด มีคนดูไลฟ์สดแค่หลักร้อย แต่เมื่อเธอเปลี่ยนวิธีการไลฟ์สดจากการพูดเป็นการนอน เพื่อบอกว่าชุดนอนที่เธอขายใส่แล้วหลับสบาย จำนวนคนดูไลฟ์สดเพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน และไลฟ์สดนั้นก็เป็นที่พูดถึงในทุกโซเชียลมีเดีย
           
     4.
Facebook มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และดู Youtube แบบไร้โฆษณาได้
               
     จากนี้ Facebook จะให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งมีผลให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคยากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคได้จึงเป็นการเข้า Facebook Group กลุ่มที่มีกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์อยู่ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้พวกเขาสนใจสิ่งใด มีความต้องการอย่างไร ส่วน Youtube มีฟีเจอร์ Premium ที่จ่ายเพียงหลักร้อยก็ดูวิดีโอแบบไม่มีโฆษณาได้ ซึ่งการมาของฟีเจอร์นี้ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อได้ยากขึ้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกอย่างคือ ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าโฆษณาแพงขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคที่ไม่ใช้ฟีเจอร์ Premium เห็นโฆษณามากขึ้น


               
     ความท้าทายทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามไปได้ด้วย 3 ไม้ตายที่สุรศักดิ์แนะนำต่อไปนี้
               
     1.หยุดนิ้วโป้งไว้ให้ได้
               
     สิ่งที่หยุดนิ้วโป้งและทำให้ผู้บริโภคใช้เวลากับแบรนด์นานขึ้น คือ การนำเสนอคอนเทนต์ที่อยู่ในความสนใจ เป็นประโยชน์ และสร้างความรู้สึกให้ต้องกดปุ่ม Reaction อย่างหัวใจ หัวเราะ ว้าว และเศร้า
               
     เคล็ดลับหยุดนิ้วโป้งคือ ไม่ขายของกับทุกคน โดยก่อนทำคอนเทนต์ขายสินค้าให้คิดก่อนเสมอว่า ฉันจะขายใคร ถ้านึกภาพเป็นหน้าได้ให้นึกภาพ ถ้านึกชื่อได้ให้นึกชื่อ หรือถ้านึกลักษณะนิสัยได้ให้นึกถึง จากนั้นทำคอนเทนต์ที่ตอบคำถามของผู้บริโภคได้ว่า สินค้านี้ให้ประโยชน์อะไร เมื่อสินค้ามีประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการ สินค้าก็จะเริ่มมีตัวตนในสายตาของผู้บริโภคและการตัดสินใจซื้อก็จะเกิดตามมา
               
     ทั้งนี้ เพื่อให้คอนเทนต์เข้าถึงตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ก่อนโพสต์ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แคบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ อาชีพ ที่อยู่ ความสนใจ พฤติกรรม และอื่นๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ดูได้จากรายงานจากเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละโซเชียลมีเดียที่ใช้งานได้ฟรี
               
     2.อยู่ในเวลาและที่ที่ผู้บริโภคต้องการ ก่อนนำเสนอสินค้า ผู้ประกอบการต้องรู้ว่า ผู้บริโภคใช้ชีวิตอย่างไร มีความต้องการอะไร และต้องการสิ่งนั้นในช่วงเวลาใด เมื่อรู้แล้วจึงเสิร์ฟสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการนั้น เช่น นครชัยแอร์รู้ว่า คนนั่งรถทัวร์ถ้าไม่นอนก็ฟังเพลง ดังนั้นจึงให้ JOOX VIP แก่ลูกค้า บริการนี้ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ เพราะได้ฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่นตลอดการเดินทาง หรือ Samsung จัดคอนเสิร์ตแนวตั้ง เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ที่ชอบแชร์บรรยากาศงานคอนเสิร์ตและแชร์ในรูปแบบของวิดีโอแนวตั้งมากกว่าวิดีโอแนวนอน



     3.ขายให้มีเรื่องราว ผู้ประกอบการต้องค้นหาว่าผู้บริโภคและสังคมกำลังสนใจเรื่องใด ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยผู้ประกอบการได้ ได้แก่ Facebook Audience Insight เครื่องมือของ Facebook ที่บอกได้ว่า ผู้บริโภคกำลังสนใจเรื่องอะไร เครื่องมือ Wisesight Trend ของ Wisesight ที่บอกได้ว่าเกิดเทรนด์อะไรบนโซเชียลมีเดีย และถ้าเข้า Youtube โดยการล็อกเอ้าท์ออกจากระบบ Youtube จะแนะนำวิดีโอยอดนิยมในสังคมไทย ณ ช่วงเวลานั้นบนหน้าแรกของเว็บไซต์
               
     หลังจากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังสนใจ ผู้ประกอบการก็ทำการเล่าเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์ผ่านเรื่องราวเหล่านั้น โดยไม่ต้องเน้นขายของมากนัก จากนั้นเก็บข้อมูลว่ามีกี่คนที่ดูคอนเทนต์เกินครึ่งแล้วจึงนำเสนอคอนเทนต์ขายสินค้าไปยังคนกลุ่มนั้น




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup