Digital Marketing

5 เช็กลิสต์ ที่ต้องรู้ หากไม่อยากให้ยอดขายตก

Text : กองบรรณาธิการ
 



Main Idea
 
  • เมื่อผู้ค้ามีมากขึ้น การแข่งขันก็ย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา จึงไม่แปลกใจที่จะได้ยินเสียงพ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของได้ยากขึ้น  จนยอดขายตก!
 
  • วันนี้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนจึงต้องปรับตัวหากลยุทธ์เพื่อสร้างยอดขาย และนี่คือคำแนะนำจาก วีรพล สวรรค์พิทักษ์ Digital Marketing Manager บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หากไม่อยากให้ยอดขายตก
 



     ในวันนี้โลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วีรพล สวรรค์พิทักษ์ CMO บริษัท ลาเนเจอร์ จำกัด และ Digital Marketing Manager บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกเราว่า โลกออนไลน์ยังคงโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีทุกเจเนอเรชัน และจำนวนชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลในศักยภาพของตลาดบนโลกออนไลน์เติบโตขึ้นตามไปด้วย

     สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ที่มียอดขายน้อยลง จำนวนคนเข้าร้านลดลงนั้น เชื่อเถอะ..สาเหตุไม่ได้เกิดจากตลาดออนไลน์อย่างแน่นอน เพราะโลกของออนไลน์เติบโตขึ้นทุกวัน หากแต่เป็นที่กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่ผู้ประกอบการใช้มากกว่า





     ผู้ประกอบการออนไลน์ ต้องรู้จักปรับตัวและจะหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะถ้าหยุดก็เท่ากับกำลังรอที่จะถูกคู่แข่งตีกลับ โดยวีรพลให้คำแนะนำผู้ประกอบการออนไลน์ว่าต้องมานั่งวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์ที่ใช้นั้นเหมาะสมกับเทรนด์ตลาดออนไลน์ในปัจจุบันและพฤติกรรมลูกค้าออนไลน์หรือไม่ โดยเช็กได้จากลิสต์ต่อไปนี้

     1. เข้าใจความต้องการของลูกค้าออนไลน์ หมดยุคของการทำความเข้าใจแค่ว่า ลูกค้าอยากซื้ออะไร และสิ่งนั้นมีขายในร้านหรือไม่ เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์เพราะอะไร เช่น ทำไมลูกค้าจึงซื้อเครื่องฟอกอากาศบนเว็บไซต์ทั้งที่มีขายในห้างสรรพสินค้า ถ้าเหตุผลของพวกเขาคือ ไม่อยากเสียเวลาเดินทางไปห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการก็ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดส่งสินค้าถึงประตูหน้าบ้าน
              
     2. อธิบายข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด ลูกค้าออนไลน์ไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าจริงก่อนซื้อ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ข้อมูลสินค้าอย่างตรงไปตรงมาและละเอียด เปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อย รวมถึงเปรียบเทียบราคากับแบรนด์ต่างๆ ให้เห็นชัดเจน เพื่อที่ลูกค้าจะได้มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อ

     3. ราคาดีต่อใจ ตั้งราคาให้ชัดเจน และเป็นราคาที่แข่งขันได้ทั้งบนตลาดออนไลน์ในประเทศและต่างประเทศ เพราะหากราคาสินค้าต่างกันมากทั้งที่เป็นสินค้าประเภทเดียวกัน ลูกค้าก็พร้อมที่ไปช้อปสินค้าชิ้นนั้นจากร้านค้าออนไลน์อื่น โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นร้านค้าออนไลน์ของต่างชาติ

     4. ยิ่งเร็วยิ่งดี ผู้ประกอบการต้องมีความเร็วในการตอบคำถาม การให้ข้อมูลสินค้า และการจัดส่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะพฤติกรรมของลูกค้าออนไลน์เดี๋ยวนี้คือ ไม่ชอบรอนาน อยากได้รับสินค้าโดยเร็วที่สุด ผู้ประกอบการจึงต้องมีตัวเลือกการจัดส่งสินค้าที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างกันของลูกค้าแต่ละคน เช่น ส่งสินค้าแบบลงทะเบียน ด่วนพิเศษ หรือได้รับสินค้าภายใน 1 วัน

     5. ทำให้ลูกค้าออนไลน์เกิดความมั่นใจ เพราะเป็นอีกสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า วิธีสร้างความมั่นใจทำได้ทั้งการมีบริการเก็บเงินปลายทาง การรับประกันสินค้า และการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้จริง

     ทั้งนี้ วีรพลฝากถึงผู้ประกอบการด้วยว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ทุกคนต้องมีคือ ความอดทน เพราะในทุกๆ วันต้องเจอกับลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกัน บางคนถามคำถามเดิมซ้ำๆ หรือถามแล้วไม่ซื้อ ซึ่งผู้ประกอบการจะทำพฤติกรรมไม่ดีกับลูกค้าไม่ได้ เช่น ไม่ตอบคำถาม หรือโพสต์ประจาน เนื่องจากการกระทำเช่นนี้จะส่งผลให้ขายสินค้าไม่ได้ ลูกค้าหดหาย และร้านอาจต้องปิดตัวในที่สุด





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup