Digital Marketing
สร้างแบรนด์บนเว็บไซต์อย่างไร? ให้โดนใจลูกค้า
Main Idea
- ก้าวแรกของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักจะอาศัยช่องทางอื่นๆ บนโซเชียลมีเดียอย่างเดียวนั้นคงจะไม่เพียงพอ แต่การมีเว็บไซต์ จะเป็นช่องทางให้แบรนด์ได้แสดงความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจน
- แล้วจะปั้นแบรนด์ให้โดดเด่นและน่าสนใจผ่านเว็บไซต์ได้อย่างไร มาดู 8 เคล็ดลับง่ายๆ ต่อไปนี้กัน
หากคิดว่า “เว็บไซต์” ไม่จำเป็นแล้วในปัจจุบัน คุณต้องคิดใหม่แล้วล่ะ เพราะก้าวแรกของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักจะอาศัยช่องทางอื่นๆ บนโซเชียลมีเดียอย่างเดียวนั้นคงจะไม่เพียงพอ การมีเว็บไซต์นอกจากจะใช้ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการแล้ว ยังเป็นช่องทางให้แบรนด์ได้แสดงความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจน แล้วจะปั้นแบรนด์ให้โดดเด่นและน่าสนใจผ่านเว็บไซต์ได้อย่างไร มาดู 8 เคล็ดลับง่ายๆ ต่อไปนี้กัน
1. เลือกสีที่ “ใช่”
อย่างที่รู้กันว่า สีนั้นมีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนได้ ดังนั้น การจะเลือกสีที่ใช้บนเว็บไซต์ขึ้นมาสักสี แบรนด์ต้องคิดให้ดีก่อนว่า ต้องการจะสื่อถึงอะไร เช่น สีเขียว จะทำให้นึกถึงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความสงบ เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมโรงพยาบาลหลายแห่งถึงเลือกทาสีกำแพงด้วยสีเขียวอ่อน ในขณะที่สีดำ สามารถแสดงถึงความหรูหรา มีระดับ ดูแพง อย่างนาฬิกาข้อมือของแบรนด์ดัง เช่น หลุยส์ วิตตอง หรือ โรเล็กซ์ อย่างไรก็ตาม สีส้มนั้นดูจะไม่เหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการเน้นความจริงจังสักเท่าไร เพราะเมื่อคนเห็นสีนี้แล้วจะทำให้นึกถึงพลังของคนวัยหนุ่มสาว เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้คนเห็นแบรนด์บนหน้าเว็บนั้นดูน่าสนใจ ลองหาดูว่าสีไหนที่จะให้ความรู้สึกแบบนั้นได้บ้าง รวมไปถึงควรคำนึงในเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลให้การแปลความหมายของสีนั้นแตกต่างออกไปแม้จะเป็นสีเดียวกันก็ตาม และหากกลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดต่างประเทศ ควรเลือกใช้สีที่ได้รับความนิยมในแบบสากลจะดีกว่า
2. สร้าง “บุคลิก” บางอย่าง
การทำให้แบรนด์มีบุคลิกภาพเช่นเดียวกับคนคนหนึ่ง จะช่วยให้แบรนด์นั้นเป็นที่น่าจดจำ สามารถแยกแยะและทำให้นึกถึงได้ง่าย เรียกได้ว่าเป็นการจับเอาลักษณะของความเป็นมนุษย์ไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นั่นเอง หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า มานุษยรูปนิยม (Anthropomorphism) ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ทวิตเตอร์ ที่หยิบเอานกสีฟ้ามาใช้ในการสร้างแบรนด์ เมื่อไรก็ตามที่คนเห็นภาพในลักษณะนี้ พวกเขาก็จะนึกถึงทวิตเตอร์ เพราะฉะนั้นการที่แบรนด์เลือกใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่คนเรานั้นมีความคุ้นเคย ก็จะยิ่งทำให้ง่ายต่อการจดจำของผู้คนหรือลูกค้า
3. เขย่า “ความรู้สึก” ลูกค้าให้เข้าถึง “อารมณ์”
ลองคิดง่ายๆ ดูว่า เมื่อลูกค้าเห็นแบรนด์แล้ว อยากให้พวกเขารู้สึกอย่างไร การใช้ดีไซน์ล่าสุดในการออกแบบเว็บไซต์เพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะการจะทำให้แบรนด์เป็นที่นิยมได้ เว็บไซต์นั้นต้องสามารถทำให้คนที่เข้ามารู้สึกได้ถึงอารมณ์ในเชิงบวกและรู้สึกพึงพอใจ เช่น การใช้สีที่สื่อถึงพลังและความสร้างสรรค์ บวกกับการนำเสนอคลิปวิดีโอสั้นๆ แนะนำเกี่ยวกับแบรนด์ และการใช้รูปภาพที่ให้ความรู้สึกด้านบวกแก่ลูกค้าที่พบเห็น
4. ความ “สม่ำเสมอ” ต้องมี
การทำให้แบรนด์เป็นที่น่าจดจำบนเว็บไซต์นั้น สิ่งสำคัญคือ การออกแบบหน้าเว็บแต่ละหน้าต้องมีความสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีเดียวกัน ฟอร์แมตเดียวกัน กราฟิก บุคลิกและอารมณ์แบบเดียวกันในทุกๆ หน้าเพจ เพราะนอกจากจะแสดงถึงความสอดคล้องด้านดีไซน์แล้ว ยังจะช่วยให้การทำงานของเว็บไซต์นั้นรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น สำหรับผู้ที่เคยเข้าชมเว็บไซต์ของแบรนด์แล้ว การดูกราฟิกหรือรูปภาพต่างๆ จะสามารถโหลดได้เร็วขึ้น เพราะเบราว์เซอร์มีการเก็บประวัติการเข้าชมไว้แล้ว หรือถ้าแบรนด์ใช้ Navigation Bar หรือเมนูหลักเพื่อลิงก์ไปยังเนื้อหาของเว็บไซต์เหมือนกันทุกหน้า เบราว์เซอร์ก็แค่ทำการโหลดโค้ดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
5. จัดวาง “ตำแหน่งโลโก้ให้เหมาะสม”
แบรนด์สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการดีไซน์โลโก้ได้เท่าที่ต้องการ แต่การจะทำให้เป็นที่เตะตาคนเข้าเว็บไซต์นั้น ต้องเลือกตำแหน่งในการวางให้เหมาะสม และนั่นก็คือ มุมบนด้านซ้ายมือของหน้าเว็บไซต์ เพราะถือเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่มักทอดสายตาไปยังบริเวณนั้น นอกจากนี้ ยังควรทำให้โลโก้สามารถลิงก์ไปยังหน้าโฮมเพจได้อีกด้วย รวมไปถึงเรื่องของขนาดที่ใช้ ที่ต้องแน่ใจว่าโลโก้นั้นมีขนาดใหญ่พอที่คนจะมองเห็นได้ในทันที
6. บอกได้ว่า “แบรนด์มีคุณค่าอย่างไร”
เพราะคนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์เป็นครั้งแรกจะมาพร้อมกับคำถามมากมายในหัวเสมอ เช่น แบรนด์นี้ทำโปรดักต์หรือให้บริการเกี่ยวกับอะไร สิ่งที่นำเสนอนั้นเป็นทางออกหรือโซลูชันได้หรือไม่ ซึ่งทำให้แบรนด์ต้องสามารถตอบคำถามเหล่านั้นหรือทำให้ลูกค้าเห็นได้ว่า แบรนด์นั้นมีคุณค่าหรือแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร โดยอาจจะเป็นการใช้ข้อความสั้นๆ วางต่อจากโลโก้และเมนู เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมสามารถเห็นได้ง่าย ที่สำคัญคำที่ใช้นั้นต้องชัดเจน สั้น กระชับ และตอบคำถามของ “อะไร” และ “ทำไม” ในใจลูกค้าได้
7. ใช้ “โทนเสียง” ที่เหมาะสม
ภาษาหรือโทนเสียงที่ใช้ควรเป็นไปในทางเดียวกันกับบุคลิกและอารมณ์ของแบรนด์ นอกจากนี้ ถ้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายหรือผู้เข้าชมเว็บไซต์เป็นชาวมิลเลนเนียล โทนเสียงที่ใช้ควรเป็นแบบกันเอง หรือถ้าเป็นนักลงทุน การใช้โทนเสียงควรเป็นแบบทางการจะดูเหมาะสมมากกว่า ที่สำคัญถ้าแบรนด์กำลังจะใช้ข้อความเดียวกันแต่ส่งไปยังลูกค้าคนละกลุ่ม ควรจำไว้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสิ่งที่จะพูด แต่ให้เปลี่ยนวิธีการพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง
8. ทำให้มี “เอกลักษณ์”
การใช้องค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคงยังไม่พอ เพราะการที่จะทำให้แบรนด์โดดเด่นและแตกต่างจากผู้เล่นอื่น คุณต้องทำให้แบรนด์นั้นยูนีคหรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การใช้สี สร้างบุคลิกหรือโทนเสียง จะไม่มีความสำคัญเลย ถ้าเว็บไซต์นั้นดูเหมือนหรือไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าไม่สามารถแยกแยะหรือจดจำได้ แน่นอนว่าการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์หรือเว็บไซต์อาจจะไม่ใช่งานง่าย แต่ถ้าทำสำเร็จแล้วละก็ โอกาสที่ลูกค้าจะกลับมาอีกครั้งเมื่อพอใจกับผลิตภัณฑ์หรือบริการย่อมมีมากขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup