Digital Marketing
คอมเมนต์ในโซเชียล สร้างแบรนด์ได้อย่างไร
Main Idea
- เมื่อดิจิทัลทำให้แบรนด์และผู้บริโภคใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นของตนเองที่จะทำให้แบรนด์หรือใครคนอื่นสามารถเห็นได้โดยง่าย
- ดังนั้น จึงเป็นข้อดีของแบรนด์ที่จะฟังความต้องการของผู้บริโภค และทำให้สร้างแบรนด์จากคอมเมนต์เหล่านั้นได้
แต่ไหนแต่ไรมา วิถีการสร้างแบรนด์มักจะมาจากเจ้าของแบรนด์ หรือไม่ก็นักการตลาดที่จะเป็นคนคิดเอง ทำเองแล้วนำเสนอสินค้านั้นให้กับผู้บริโภค ถัดมานั้นเมื่อเจ้าของแบรนด์รู้แล้วว่าหากคิดจะให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคแล้ว ก็ต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด จึงหันมาให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค แต่เวลานี้เรากำลังก้าวไปอีกขั้น เมื่อดิจิทัลทำให้แบรนด์และผู้บริโภคใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นของตนเองที่จะทำให้แบรนด์หรือใครคนอื่นสามารถเห็นได้โดยง่าย จึงเป็นข้อดีของแบรนด์ที่จะฟังความต้องการของผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกความเห็นว่า ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี ต้องการอะไร ประมาณไหน มากกว่าจะให้ผู้บริโภคเป็นเพียงผู้รับข้อมูลข่าวสารฝ่ายเดียวอย่างเช่นในอดีต
มี Startup ฝั่งอเมริกาที่ชื่อว่า เจสซี่ เฉิง เป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่น Choosy ที่จำหน่ายบน Gilt Groupe เว็บช้อปปิงออนไลน์ในสหรัฐฯ ที่เน้นสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โดย Choosy จะออกคอลเลกชันใหม่ทุกเที่ยงวันของวันอังคารและวันศุกร์ และวางจำหน่ายระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่วัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น Gen Z
คำถามคือ เจสซี่ เฉิง ทำได้อย่างไรในการสร้างสรรค์แฟชั่นใหม่ๆ ออกมาป้อนตลาดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง?
วิธีการทำงานของแบรนด์ Choosy ก็คือ การเข้าไปส่องเทรนด์แฟชั่นจากบรรดาเซเลบริตี และ Influencer ทั้งหลาย เพื่อดูว่าพวกเขาใส่อะไร จากนั้นก็ดูในคอมเมนต์ของคนที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกเขาพูดถึงชุดนั้นอย่างไรบ้าง และมีความต้องการอย่างไร จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลที่ได้จากคอมเมนต์ สิ่งที่คนในโซเชียลมีเดียพูดคุยกันเหล่านั้นส่งให้กับดีไซเนอร์เพื่อออกแบบเสื้อผ้า โดยไม่ลอกเลียนแบบต้นฉบับของแบรนด์อื่น ด้วยเหตุนี้เสื้อผ้าแบรนด์ Choosy จึงถูกดีไซน์ขึ้นมาจากความต้องการของผู้คนในโลกออนไลน์จริงๆ
ด้วยวิธีการดังกล่าว จึงทำให้แบรนด์ Choosy สามารถออกคอลเลกชันใหม่ๆ ได้ถี่ยิบ แถมยังทำให้เสื้อผ้าที่ออกแบบขึ้นมานั้นตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงของผู้บริโภคอีกด้วย
และนี่จึงเป็นการฟังเสียงความต้องการของผู้บริโภคที่ทำให้เหมือนว่าผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ เพื่อทำความเข้าใจความต้องการและเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด ซึ่งในที่สุดแล้วนอกจากจะทำให้ถูกใจผู้บริโภคแล้วยังทำให้แบรนด์นั้นๆ กลายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครักอีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup