Digital Marketing

7 ขั้นตอนเตรียมพร้อม ลุยฟรีแลนซ์แบบฟูลไทม์ให้สำเร็จ





 

     แม้ว่าการทำ “ฟรีแลนซ์” จะดูเหมือนเป็นการหารายได้พิเศษหรือเป็นเพียงงานอดิเรก แต่สำหรับบางคนที่มีมุ่งมั่นคงมีสักครั้งที่เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “ลาออกจากงานดีไหมนะ” เพื่อมาเดินตามฝันที่วางเอาไว้ แล้วจะทำยังไงให้มันคุ้มที่จะเสี่ยง มาดู 7 ขั้นตอนที่จะช่วยให้การลุยครั้งนี้ไม่ต้องเจอกับความผิดหวังกัน
 
     1. มีวิสัยทัศน์
         อุปสรรคแรกและใหญ่ที่สุดในการออกเดินทางทำฟรีแลนซ์เป็นงานประจำก็คือ การเอาชนะใจตัวเองที่คอยบอกว่าทำไม่ได้และอย่าทำเลยให้ได้ เพื่อที่จะก้าวข้ามความคิดเหล่านี้ต้องพิสูจน์ให้ตัวเองเห็นว่าการทำฟรีแลนซ์นั้นสามารถเป็นจริงได้ ไอเดียที่มีนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อแต่คือแผนการทำธุรกิจต่างหาก  ลองถามตัวเองดูว่า ทำไมถึงอยากทำฟรีแลนซ์เต็มตัว แล้วทำไมลูกค้าถึงต้องมาสนับสนุน เพื่อช่วยให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นและจะได้ไม่หลงทางเวลาลงมือทำจริง
 
     2. เลือกรูปแบบการทำงาน
         เพื่อให้การตัดสินใจครั้งนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟรีแลนซ์เซอร์ควรเลือกว่าจะใช้รูปแบบไหนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นเจ้าของคนเดียวหรือจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยควรพิจารณาจากเป้าหมายของงานที่ทำและควรหาความรู้ถึงประโยชน์ของการจัดตั้งบริษัทแต่ละประเภท แม้ว่ารูปแบบจะสามารถเปลี่ยนได้ในภายหลัง แต่จะดีกว่าถ้าฟรีแลนซ์เซอร์มีรูปแบบอยู่ในใจตั้งแต่ต้นเพื่อที่จะสามารถจัดเตรียมแผนการบัญชีและภาษีได้อย่างถูกต้อง
 
     3. สร้างวัตถุดิบทำการตลาด
         การวางรากฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งสามารถทำได้โดยการพัฒนาวัตถุดิบที่จะใช้ในการทำการตลาด ซึ่งอาจเริ่มด้วยการสร้างกระแสก่อนการเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการผ่านทางการทำเว็บไซต์ เปิดแอคเคาท์ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กและทำนามบัตร หรืออาจบอกเล่าให้คนในครอบครัว เพื่อนและนักลงทุนฟังก่อนเปิดตัวสักอาทิตย์หรือสักเดือนเพื่อสร้างการรับรู้และการบอกต่อ  
 
     4. เตรียมแฟ้มงาน
         สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ อย่าทำฟรีแลนซ์เป็นอาชีพแบบเต็มตัวก่อนที่จะมีประสบการณ์ในการทำโปรดักต์หรือนำเสนอการให้บริการ เพราะผลงานที่เคยทำมาสามารถนำมาจัดทำเป็นแฟ้มงานเสนอลูกค้าได้และเป็นอีกเครื่องมือในการทำมาร์เก็ตติ้งให้กับธุรกิจที่มี การทำพอร์ตฟอลิโอนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องอาศัยเวลาและทรัพยากร ดังนั้นถ้าใครยังไม่เคยมีผลงานมาก่อนก็แค่ทำขึ้นมาซะ อาจจะเป็นการนำเสนอบริการให้ลูกค้าแบบฟรีๆ หรือผลิตตัวอย่างงานในเวลาว่างเพื่อเก็บเข้าแฟ้มงานนั่นเอง
 
     5. จัดทำระบบการเงิน
         เช่นเดียวกับการทำอาชีพประเภทอื่น การจัดการและวางแผนดำเนินการด้านการเงินอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่ฟรีแลนซ์เซอร์ไม่ควรมองข้าม เช่น การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ สร้างแบบฟอร์มใบแจ้งหนี้ วางแผนการบัญชี รวมไปถึงพิจารณาจำนวนเงินที่ต้องกันไว้สำหรับจ่ายภาษี เป็นต้น
 
     6. หาฐานลูกค้า
         เมื่อลูกค้าเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งในการทำให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้า การแบ่งเวลาหลังจากทำงานและช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ในการสร้างฐานลูกค้าในอนาคตเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาเปิดตัวกิจการอย่างเต็มรูปแบบ แค่เพียงใช้การถามไถ่จากเพื่อนๆ คนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานเพื่อให้ได้ข้อมูลคนที่น่าจะเป็นลูกค้าก็เป็นตัวช่วยที่ดี  
 
     7. เชื่อมั่นในตัวเอง
         เส้นทางการผจญภัยทั้งหมดนั้นเริ่มต้นที่การมีความเชื่อมั่นในตัวเองซึ่งนับเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดหากอยากจะก้าวเดินสู่เส้นทางที่วางเอาไว้ การสงสัยในความสามารถของตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ควรนำมาคิดและเป็นสิ่งที่ควรกำจัดทิ้งไป เพียงแค่ปรับมุมมองและทัศนคติใหม่เป็นว่า “ถ้าคนอื่นทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้” ก็เท่ากับได้ก้าวข้ามอุปสรรคด่านแรกไปแล้ว     
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup