Digital Marketing
เจาะพฤติกรรมผู้บริโภคยุค 4.0 ต้องอ่านใจให้ขาด
ปาจรีย์ แสงคำ ประธานบริหารกลุ่มงานโซลูชันทางธุรกิจและบริการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดเผยว่า หัวใจในการทำมาร์เก็ตติ้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญคือการจะทำอย่างไรให้ชนะใจผู้บริโภค และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเปลี่ยนไป การทำความเข้าใจและปรับตัวถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดในยุค Digital Transformation ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรธุรกิจและนักการตลาดต้องให้ความสนใจ หลักในการทำมาร์เก็ตติ้งต้องทำความเข้าใจว่าความต้องการของมนุษย์ (Human Needs) ยังคงอยู่ทุกยุคทุกสมัย ผู้บริโภคยังคงมีความต้องการใช้สินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาคือ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้บริโภค (Customer Emotion) โดยเฉพาะยุคดิจัทัล ผู้บริโภคใช้อารมณ์เข้ามาตัดสินใจในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ มากขึ้น นักการตลาดจึงต้องสรรหาเครื่องมือเพื่อศึกษาและเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เพื่อ “การอ่านใจผู้บริโภค” ให้ออกและนำข้อมูลมาใช้ในการคิดแผนการตลาดให้สามารถตอบโจทย์ ตรงใจผู้บริโภค นั่นเอง
การใช้เทคโนโลยีเพื่ออ่านใจผู้บริโภค 4.0 คือที่มาที่ทำให้สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรยุคดิจิทัล คือ Customer Data ที่สมัยก่อนทำได้เพียงเก็บข้อมูลจากการวิจัยตลาด แต่ปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้เกิด Big Data นำมาซึ่งการรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าไว้ด้วยกัน มีความรวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น แต่ไม่สร้างความรำคาญใจให้ผู้บริโภค และสามารถศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและบันทึกเป็นข้อมูลและนำมาวิเคราห์พฤติกรรม เปรียบเสมือนการอ่านใจผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ทำให้องค์กรสามารถรู้ความต้องการเชิงลึกของผู้บริโภคได้ (Customer Insight) โดยที่บางครั้งรู้มากกว่าตัวผู้บริโภคเอง และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้การเก็บข้อมูลหรือดาต้าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ตลอดจนช่วยประหยัดเวลาอีกด้วย
“การทำ Digital Transformation เป็นการสร้าง Digital Asset รูปแบบหนึ่งที่อยู่บนโลกออนไลน์ เช่น การทำเว็บไซต์ E-Commerce เป็นอีกหนึ่ง Business Platform ที่เปลี่ยนแปลงโลกการค้าในยุคปัจจุบัน ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเว็บไซต์ Amazon ที่เป็นรูปแบบการทำธุรกิจโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องจ้างพนักงาน ไม่ต้องจำกัดจำนวนผู้ขาย ทำให้สามารถขายสินค้าได้หลากหลาย ส่งผลให้สร้างกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลายตามไปด้วย และการที่ไม่ต้องจำกัดประเภทของสินค้ายังทำให้สามารถสร้าง ความเชื่อมโยงทางการค้าได้อย่างสมบูรณ์”
ปาจรีย์กล่าวเสริมว่า การสร้างความเชื่อมโยงทางการค้า (Connectivity) ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะต่อยอดธุรกิจระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และคนที่อยู่รอบๆ แพลตฟอร์ม ให้เข้ามาเชื่อมต่อการซื้อขายสินค้า ยิ่งเกิดความเชื่อมโยงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับกลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ความท้าทายในการทำธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนไป ลูกค้ามีความต้องการที่ซับซ้อนลึกซึ้งมากขึ้น มีเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า โปรโมชั่น เวลา และวิธีการเลือกใช้สินเค้า ทำให้การจัดเก็บข้อมูลมีความสำคัญ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาค้นหาความต้องการเชิงลึกของกลุ่มลูกค้าแบบรายคน และส่งต่อข้อมูลไปยัง Machine Learning เพื่อประมวลผล ทำให้ธุรกิจสามารถส่งมอบสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบบรายคนอย่างแท้จริง และหากไม่ทำความเข้าใจลูกค้าให้ดีพอ ลูกค้าก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปหาแบรนด์คู่แข่งที่มีความเข้าใจความต้องการมากกว่าทันที ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างความต้องการในตัวสินค้าและบริการ การนำเสนอข้อมูลสินค้า การสร้างความได้เปรียบในการประเมินทางเลือก กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ และการสร้างความพึงพอใจหลังการใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ หรืออาจถึงขั้นทำให้แบรนด์เสียชื่อเสียงได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup