Digital Marketing

LEAN Startup แค่เร็วยังไม่พอ ต้อง LEAN ด้วย





 

     Startup จะไม่มีทางเข้าใจลูกค้าได้เลยหากต้องนั่งประชุมวันละ 6-8 ชั่วโมง ยิ่งใช้เวลานานบนโต๊ะทำงานมากเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างของเสีย (Waste) มากขึ้นเท่านั้น เพราะคำตอบที่อยู่บนโต๊ะทำงาน ไม่ใช่ข้อมูลของตลาดในวันนี้   

     ที่ผ่านมา หลายบริษัททั้งเล็กและใหญ่ต่างพยายามสร้างนวัตกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม กล่าวคือมีบริษัทน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จสามารถสร้างนวัตกรรมออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ เหตุผลที่ไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคิดใหญ่มากเกินไปจนสร้างไม่ไหว ด้วยข้อจำกัดของเวลา เงินทุน ทีมงาน และความรู้  และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือการที่ถูกสั่งสอนมาให้อ้างอิงจากตำราเรียนมากกว่าการทดลองจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับการเรียนรู้ธุรกิจของฝั่งซิลิคอน วัลเลย์ ที่ใช้วิธีเปลี่ยนการทำธุรกิจให้เป็นการทำงานบนสนามทดลอง  

     ในเวลานี้ แนวคิด LEAN Startup กำลังโด่งดังมากในประเทศไทย ซึ่งแนวคิดของ LEAN Startup คือโฟกัสให้เล็กที่สุดว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ สร้างแล้วออกทดสอบ จัดการวัดผล และเอาข้อมูลกลับมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งที่ดีขึ้นไปอีก เป็นกระบวนการผลิตนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรตลอดเกือบๆ 30 วันต่อเดือน ด้วยหลักการพื้นฐานที่ว่า ลดระยะเวลาของการ สร้าง-วัดผล-เรียนรู้ ( Build Measure Learn)

     คำศัพท์ที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับ LEAN Startup คือ Riskiest Assumption Test (RAT) หรือการทดสอบข้อสันนิษฐานที่เสี่ยงที่สุด เช่น ธุรกิจ Carpool (ทางเดียวกันไปด้วยกัน) ข้อมูลที่รู้แน่นอนไม่ต้องทดสอบเลยก็คือ สภาพการจราจรของกรุงเทพฯ รถติดมากช่วงชั่วโมงเร่งด่วน แต่สิ่งสำคัญที่ไม่รู้ก็คือ กลุ่มลูกค้ากล้าที่นั่งรถไปกับคนแปลกหน้าจริงๆ หรือเปล่า ดังนั้น นี่จึงเป็น RAT หนึ่งตัวที่ต้องรีบออกไปทดสอบ

     ทั้งนี้ การที่ซื้อสินค้าหรือบริการสักอย่างหนึ่ง อาจจะมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ ความคุ้มค่า หรือว่า ประโยชน์ของสินค้า สิ่งเหล่านี้แท้จริงแล้วคือ คุณค่า (Value) ซึ่งลูกค้าแต่ละกลุ่มจะประเมินคุณค่าไม่เหมือนกัน เช่น นักธุรกิจ อาจจะต้องซื้อปากการาคาแพงๆ ไว้สำหรับเซ็นต์เอกสาร ในขณะที่ Startup เลือกที่จะใช้ปากกาอะไรก็ทำงานได้เหมือนกัน

     ดังนั้น เมื่อทราบว่าจริงๆ แล้วลูกค้าซื้อสินค้าเพราะคุณค่า ก็ไม่จำเป็นต้องทำสินค้าให้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อส่งต่อคุณค่านั้น เช่น  ลูกค้าอยากได้ Chatbot Application จองร้านอาหารหรือเปล่า แทนที่จะไปเสียเวลาสร้าง Application นาน 6 เดือนกับเงินหลักแสน ก็สามารถใช้ Line@ ฟรีๆ หรือ Facebook Messenger แล้วทำการ Manual จองห้องอาหารให้ลูกค้าเองก็ได้ เพื่อทดสอบให้บริการลูกค้าดูก่อนว่ามีคนมาใช้งานหรือเปล่า ลูกค้าชอบหรือไม่ชอบตรงไหน วิธีการแบบนี้เรียกว่าการสร้าง MVP (Minimum Viable Product) หรือสินค้าที่เล็กที่สุดที่สามารถจะส่งต่อคุณค่าได้นั่นเอง

     นี่คือส่วนหนึ่งจากวิธีการคิดแบบ LEAN ซึ่งหลังจากทำ MVP และ ทดสอบ RAT จนได้ข้อมูลที่คุณต้องการเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็จะสามารถพัฒนาสินค้าที่ใหญ่ขึ้น (หมายถึงใกล้เคียงความจริงมากขึ้น) ได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น โดยไม่เสียเวลาและเงินไปกับการสร้างฟีเจอร์ที่ลูกค้าไม่ต้องการ

     ฉะนั้นแล้วถ้ามีไอเดียใหม่ๆ อย่ามัวแต่คิดหรือประชุมบนโต๊ะทำงาน ให้รีบจัดการกับไอเดีย แล้วออกไปทดสอบให้เร็วที่สุด


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี