Digital Marketing
นนท์ปกรณ์ เธียไพรัตน์ ออกแบบแพ็กเกจจิ้งยังไงให้ขายได้
อย่างที่ทราบกันดีว่า แพ็กเกจจิ้งเป็นหนึ่ง Touch Point ที่ลูกค้าจะได้ปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ เรียกว่าแทบจะเป็นช่องทางเดียวของผู้ประกอบการ SME ที่จะได้สื่อสารกับลูกค้า ดังนั้น แพ็กเกจจิ้งจึงจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ และช่วยแบรนด์ขายสินค้าได้ แต่กระนั้นผู้ประกอบการ SME บางคนกลับมองข้ามความสำคัญตรงนี้ไป บ่อยครั้งเราจึงได้เห็นแพ็กเกจจิ้งที่ไม่ตอบโจทย์ หรือช่วย SME ในการขายสินค้าแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ นนท์ปกรณ์ เธียไพรัตน์ Executive Creative Director บริษัท พร้อมพ์ พาร์ทเนอร์ จำกัด ขยายความต่อว่า ผู้ประกอบการ SME หลายคนยังไม่เข้าใจว่าแพ็กเกจจิ้งมีความสำคัญอย่างไร โดยมักจะมองว่าการลงทุนในแพ็กเกจจิ้งควรมีความสำคัญในลำดับท้ายๆ ทั้งๆ ที่สินค้าจำนวนหลักแสนหลักล้านจะขายได้หรือไม่ แพ็กเกจจิ้งเป็นหนึ่งในปัจจัยนั้น
จากความสำคัญของการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง นนท์ปกรณ์จึงบอกว่า ในการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่การทำตามใจผู้ประกอบการ SME ว่าต้องการแพ็กเกจจิ้งสีอะไร แบบไหน เพราะหากทำเพียงแค่นี้ก็แสดงว่าผู้ออกแบบสนใจแค่การออกแบบ แต่ไม่ได้มองรวมไปถึงปัจจัยทางการตลาดอื่นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนที่จะออกแบบแพ็กเกจจิ้งแต่ละครั้งจะต้องลงรายละเอียดหาข้อมูลทางการตลาดมาประกอบด้วย แล้วจึงนำมาแปลงเป็นภาพและตัวอักษรเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งต้องใช้ทั้งหลักการทางการตลาด วิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาร่วมกันเลยทีเดียว
นนท์ปกรณ์เข้าใจทั้งปัญหาของ SME ในแง่การลงทุน และมีประสบการณ์การออกแบบแพ็กเกจจิ้งมานาน จึงเปิดบริษัท พร้อมพ์ พาร์ทเนอร์ จำกัดขึ้น เพื่อบริการผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะ โดยวางโพสิชั่นนิ่งเอาไว้ว่าจะออกแบบแพ็กเกจจิ้งคุณภาพระดับแบรนด์ใหญ่ แต่ราคาสำหรับ SME เพื่อที่ SME จะสามารถควักกระเป๋าจ่ายได้ โดยจะช่วยตั้งแต่การพัฒนาสินค้า เพราะแพ็กเกจจิ้งที่ดีจะต้องสร้างความแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่งและต้องสามารถพรีเซนต์จุดขายของแบรนด์ได้ ดังนั้น กระบวนการทำงานจึงไม่ใช่แค่การออกแบบ แต่จะต้องไปหาข้อมูลในตลาดด้วย กล่าวคือจะต้องศึกษาลึกลงไปเรื่องตัวสินค้าของลูกค้า สำรวจตลาด สำรวจคู่แข่งของลูกค้า เพราะจะต้องหาจุดขาย นำเรื่องที่น่าสนใจออกมาสื่อสาร ฉะนั้นจะรู้แบบตื้นๆ ไม่ได้
“บางทีสินค้าของ SME ที่เอามาให้เราออกแบบแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากที่มีวางขายในตลาด ราคาก็ไม่ได้ถูกกว่าเพราะผลิตจำนวนน้อย ช่องทางการซื้อก็ไม่สะดวก แถมเป็นแบรนด์ใหม่อีกต่างหาก ดังนั้น ไม่มีอะไรที่จะเป็นจุดขายได้เลย เราก็ต้องช่วยหาความแตกต่างให้ได้ บางทีก็ต้องไปคุยกับทีมวิจัยและพัฒนาถึงกับให้มีการปรับสูตร ใส่อะไรบางอย่างลงไปเพื่อให้มีอะไรแตกต่าง หรือว่าเปลี่ยนไซส์ เปลี่ยนรูปแบบการบรรจุ เรียกว่าพัฒนาตั้งแต่ตัวสินค้าเลย หรือบางทีก็หาเรื่องของแบรนด์คอมมูนิเคชั่นให้ว่าถ้าจุดขายอย่างนี้สื่อสารออกไปยังไง”
“ยกตัวอย่างลูกค้าจำหน่ายผลไม้แปรรูปที่ประเทศจีน ก็ต้องมีการบ้านขอให้ลูกค้าไปหามาให้ได้ก่อนว่าคู่แข่งมีใคร ทางเราก็ช่วยหาด้วยส่วนหนึ่ง แล้วมานั่งวิเคราะห์ดูแต่ละแบรนด์เขาใช้จุดขายอะไรบ้าง แล้วจุดขายของแบรนด์เราคืออะไร ถ้าแตกต่างก็ต้องแตกต่างอย่างฉลาด หมายความว่าดูทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าออกแบบแบบนี้กับการพรีเซนต์จุดขายแบบนี้จะอยู่ได้หรือไม่ หลังจากนั้นมาดูจุดขายของแบรนด์ว่าคืออะไร ซึ่งด้วยสิ่งที่เราพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้ ทำให้เขาสามารถนำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดที่จีนได้แล้ว”
นนท์ปกรณ์ย้ำในตอนท้ายด้วยว่า แพ็กเกจจิ้งที่ดีต้องตอบโจทย์ภาพลักษณ์ของแบรนด์และการขาย เบื้องหลังการออกแบบแพ็กเกจจิ้งจึงไม่ใช่แค่การเลือกแบบและสี แต่คือเรื่องของการสร้างแบรนด์ด้วย
แพ็กเกจจิ้งสำคัญหรือไม่เมื่อสินค้าขายบนออนไลน์
มีข้อมูลจากการสำรวจระบุว่า แพ็กเกจจิ้งจะมีอิทธิพลต่อผู้ซื้อใน 2 ช่วงสำคัญคือ ช่วงแรกเมื่อตอนที่ตัดสินใจซื้อครั้งแรก โดยแพ็กเกจจิ้งจะทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และช่วงที่สองแพ็กเกจจิ้งจะมีผลทำให้อยากกลับมาซื้อซ้ำ หมายความว่า เมื่อซื้อสินค้าไปแล้วถ้าแพ็กเกจจิ้งไม่เวิร์กจะมีส่วนทำให้ลูกค้าไม่อยากกลับมาซื้อแบรนด์นี้อีกครั้ง ในทางกลับกันแต่ถ้าแพ็กเกจจิ้งดีเขาจะกลับมาซื้อซ้ำอีก
ดังนั้น แม้จะจำหน่ายสินค้าบนออนไลน์แพ็กเกจจิ้งก็ยังสำคัญมากอยู่ แต่แค่ว่าจะมีความสำคัญในสถานที่ที่ต่างกัน เช่น เมื่อตอนเป็นออฟไลน์ความสำคัญจะมีมากตอนที่เห็นที่ชั้นวางจำหน่าย แต่ถ้าเป็นออนไลน์จะเห็นสินค้าจริงก็ต่อเมื่อได้รับสินค้า ซึ่งแม้จะเป็นเช่นนั้นนนท์ปกรณ์ก็บอกว่า การตัดสินใจซื้อในครั้งแรกแพ็กเกจจิ้งก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยจะเป็นส่วนประกอบการตัดสินใจว่ามันสมกับราคาที่ตั้งไว้หรือไม่
“เดี๋ยวนี้การขายสินค้าเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จะเป็นระบบตัวแทนจำหน่ายบนออนไลน์ แบรนด์จะต้องทำให้ตัวแทนเกิดอารมณ์ว่าอยากขาย มั่นใจว่าแบรนด์นี้เจ๋ง เราทำให้แบรนด์เครื่องสำอางให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งเป็นแบรนด์เล็กๆ เพิ่งเริ่มต้น แพ็กเกจจิ้งที่เราออกแบบให้เขาหรูกว่าสินค้าที่วางบนเคาน์เตอร์แบรนด์เสียอีก เรียกว่าเมื่อตัวแทนเห็นแล้วถ้าขายไม่ได้ก็เป็นเพราะขายไม่เก่งเอง แต่แพ็กเกจจิ้งที่หรูทำให้ตัวแทนรู้สึกมั่นใจว่ายังไงก็ขายได้เป็นการสร้างความมั่นใจ ขณะเดียวกันเราจะเห็นคอมเมนต์ของลูกค้าว่า เขายังไม่พูดถึงใช้ดีหรือไม่ดีเลย แต่พูดแล้วว่าแพ็กเกจจิ้งสวยจังเลย มันก็มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี