Digital Marketing

Font สำคัญฉะนี้ เลือกให้เหมาะสมช่วยประหยัดงบ





     การลดต้นทุนเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ หลายบริษัทต่างมีนโยบายในการประหยัดงบแตกต่างกันไป อย่างการใช้พรินเตอร์ในออฟฟิศ เท่าที่เห็นมักเน้นการประหยัดกระดาษ แต่สิ่งที่เปลืองไม่แพ้กันคือหมึกพิมพ์ ความจริงมีการพูดถึง Eco Font หรือฟอนต์รักษ์โลกมานานเกือบสิบปีแล้ว แต่หลายองค์กรก็ยังไม่ค่อยจะตื่นตัวในเรื่องนี้ทั้งที่การเลือกใช้ฟอนต์หรือรูปแบบตัวอักษรที่เหมาะสมจะช่วยประหยัดได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดเวลาในการพิมพ์ ซึ่งนั่นหมายถึงประหยัดไฟฟ้าไปด้วย ประหยัดงบในการซื้อหมึกพิมพ์ ว่ากันว่าหมึกพิมพ์มีราคาแพงกว่าน้ำหอมเมื่อเทียบในปริมาณเท่ากัน มีการยกตัวอย่างน้ำหอมชาแนล นัมเบอร์ 5 ว่ามีราคา 38 เหรียญต่อออนซ์ ในขณะที่หมึกพิมพ์ของเอชพีปริมาณเท่ากันอาจมีราคาถึง 75 เหรียญ ที่สำคัญยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ด้วย
 


Cr.howdesign.com

     ส่วนใหญ่ Eco Font จะมีลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่

     1. ขนาดจะเป็นเส้นเล็กบาง ทำให้ใช้หมึกในการพิมพ์น้อย เช่น ฟอนต์ Times New Roman ที่ค่อนข้างประหยัดหมึก

     2. เป็นฟอนต์ประเภท Sans Serif หรือฟอนต์ที่ไม่มีเชิง ไม่ขีดต่อท้ายที่ปลายอักษร ขีดหรือเชิงเหล่านี้แค่เพิ่มเข้ามาก็เท่ากับเพิ่มหมึกในการพิมพ์

     3. ฟอนต์ต้องอ่านง่าย การประหยัดหมึกเป็นเรื่องดีแต่ต้องคำนึงความสบายตาเวลาอ่านด้วย

     มาดูตัวอย่างฟอนต์ประหยัดหมึกที่น่าสนใจว่ามีอะไรบ้าง
 

     Ryman Eco ออกแบบโดย Dan Rhatigan แห่งเอเจนซี่ Grey London ภายใต้ความร่วมมือกับ Ryman Stationery บริษัทเครื่องเขียนขนาดใหญ่ในอังกฤษ ได้รับการยกย่องว่าเป็นฟอนต์ประหยัดหมึกที่สวยงามสุด และสามารถลดการใช้หมึกลงได้ 33% เมื่อเทียบกับฟอนต์ทั่วไป ตัวอักษรของ Ryman Eco มีลักษณะเป็นเส้นเรียงกันตรงกลางเว้นว่างไว้ แต่เมื่อปรับขนาดฟอนต์ให้เล็กลง ช่องว่างตรงกลางจะมองไม่ค่อยเห็น ถือเป็นฟอนต์ที่น่าสนใจ ดึงดูดผู้อ่านได้ดี

 

     Ecofont Sans เป็นฟอนต์ที่สร้างสรรค์โดยบริษัท Ecofont ลักษณะเด่นคือมีจุดไข่ปลาสีขาวตามแนวเส้นตัวอักษร ทำให้ลดการใช้หมึกลงได้ นอกจากฟอนต์แล้ว บริษัทยังพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถสร้างจุดไข่ปลาบนฟอนต์อื่นได้ เช่น ฟอนต์ Ariel, Calibri, Times New Roman และ Verdana เป็นต้น การใช้ซอฟต์แวร์ Ecofont จะช่วยลดการใช้หมึกลงได้ 50% เลยทีเดียว 
 
 

     Courier ตัวอักษรมีลักษณะเดียวกับตัวอักษรของเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งหมายถึงการออกแบบเพื่อประหยัดหมึกอยู่แล้ว ฟอนต์เป็นเส้นบางแต่ไม่เล็กมาก ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดฟอนต์เพราะอยู่ในขนาดที่สบายตา   


 
     Century Gothic เป็นฟอนต์ Sans Serif คือเป็นเส้นเล็ก บาง ไม่มีเชิงหรือขีดที่ปลายตัวอักษร ลักษณะฟอนต์เรียบง่ายจึงประหยัดหมึกแต่ข้อเสียคือขนาดตัวอักษรมีความกว้างจึงอาจทำให้เปลืองกระดาษเวลาพิมพ์

  

     Brush cript อาจลวงตาว่าเป็นฟอนต์ที่มีความหนา แต่พิสูจน์แล้วว่าประหยัดหมึกกว่า Times New Roman เสียอีก ถือเป็นฟอนต์ทางเลือก เหมาะสำหรับทำโลโก้ หรือพิมพ์หัวเรื่อง ใช้หมึกน้อยกว่าพิมพ์ตัวหนาแบบ Bold  



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี