Digital Marketing
เริ่มต้นธุรกิจในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไร?…ให้เป็นต่อ
Text : เจษฎา ปุรินทวงศ์กุล
ในช่วงการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น นับได้ว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นยิ่งกว่าคลังความรู้ เพราะมีทั้งอาจารย์ที่มากประสบการณ์ ที่ปรึกษาในด้านต่างๆ ห้องแล็บ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น ใครที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท สามารถวางแผนและเตรียมก้าวขึ้นแท่นผู้ประกอบการมือใหม่ได้ไม่ยาก เริ่มจาก
1. เก็บรวบรวมข้อมูล
เรามีโอกาสพบกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ มากมาย อาจเป็นอาจารย์พิเศษที่ทางคณะเชิญมาสอน การบรรยายหัวข้อพิเศษที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรมหาวิทยาลัย งานแสดงสินค้าหรือนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย ไปฝึกงาน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้มีประสบการณ์หรือเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ พร้อมที่จะให้ความรู้และเอ็นดู “นักศึกษา” มากกว่าผู้ประกอบการภายนอกที่เป็นใครก็ไม่รู้ ดังนั้น พยายามเก็บข้อมูลติดต่อของบุคคลเหล่านี้พร้อมกับรายละเอียดเอาไว้เผื่อต้องติดต่อกับเขาในอนาคต โดยจดบันทึกเอาไว้ให้เป็นระเบียบ เช่น คุณ A เบอร์ติดต่อ xxx บรรยายหัวข้อการเขียนแผนธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัย B วันที่ C เดือน E พ.ศ. F เพื่อให้สามารถอ้างอิงรายละเอียดสำหรับการติดต่อได้ เป็นต้น
2. ทำความรู้จักกับอาจารย์ให้มากที่สุด
การทำธุรกิจต้องมีเรื่องแผนธุรกิจ การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบตราสินค้า บรรจุภัณฑ์และโลโก้ เราจึงควรทำความรู้จักกับคณาจารย์ที่มีศาสตร์และความรู้ทางด้านนี้เอาไว้ หากอาจารย์มีแนวโน้มให้ความรู้และถ่ายทอดวิชาให้ด้วยดี อาจเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่สนใจเลยก็ได้เช่นกัน
3. ร่างแผนธุรกิจ
แผนธุรกิจเปรียบเสมือนแผนที่นำทางในการเดินหน้าทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องจุดแข็ง จุดอ่อน กลุ่มเป้าหมาย แผนระยะสั้นระยะยาว ซึ่งหากเรารู้ว่าเราจะขายหรือเปิดบริการอะไร แผนธุรกิจควรสอดรับกับเป้าหมายทั้งหมด โดยรายละเอียดคร่าวๆ ที่ควรนำไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญก็คือ
- รายละเอียดโดยย่อของธุรกิจ
- ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวคิดที่มา กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ จุดเด่น และเป้าหมายโดยรวม
- การวิเคราะห์ SWOT รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย
- แผนผังองค์กรในปัจจุบันและอนาคต
- ประมาณการค่าใช้จ่าย รายรับ และรายจ่ายในแต่ละเดือน
- เอกสารที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เช่น ทะเบียนพาณิชย์ เครื่องหมายการค้า หากยังไม่มีเอกสารอะไรเลย ก็ลิสต์ไปสอบถามคร่าวๆ ว่าธุรกิจของเราจำเป็นต้องจำทะเบียนเหล่านี้ด้วยใช่หรือไม่
หลังจากได้แผนธุรกิจแล้ว ลองนำไปให้อาจารย์ที่มีความรู้ด้านการตลาดช่วยวิเคราะห์ให้ ว่าดีแล้วหรือยัง ขาดรายละเอียดในส่วนใดไปบ้างหรือเปล่า
การเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ไม่มีอะไรต้องเสีย เพราะเราคือผู้ที่อยู่ในช่วงแห่งการเรียนรู้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี