ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ปรับกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจ แสดงให้เห็นว่า SMEs เข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับธุรกิจเป็นรูปแบบดิจิทัล การใช้โซลูชันดิจิทัลเพื่อโอกาสการเติบโตของธุรกิจ
ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคได้เริ่มหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ซึ่งจากวิกฤตที่ยืดเยื้อยิ่งทำให้เทรนด์นี้มาแรงยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2564 (e-Conomy SEA Report 2021) คาดว่าภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าร้อยละ 68 จะผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยมีอัตราการเติบโตอยูที่ร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน นับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2563 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2564 โดยกว่าร้อยละ 67 ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก
แนวโน้มการเติบโตดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงโอกาสอันมากมายของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี (SMEs) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผลสำรวจ ASEAN SME Transformation Study ของธนาคารยูโอบี เผยว่าธุรกิจเอสเอ็มอีได้ปรับกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยร้อยละ 60 มุ่งเน้นที่การปรับธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล ร้อยละ 58 มุ่งดำเนินกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล และร้อยละ 52 เน้นปรับปรุงการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า SMEs เข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับธุรกิจเป็นรูปแบบดิจิทัล การใช้โซลูชันดิจิทัลเพื่อโอกาสการเติบโตของธุรกิจ และเล็งเห็นว่ากลยุทธ์ดิจิทัลสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ และยังช่วยพัฒนาให้ธุรกิจยั่งยืนด้วย
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เดอะ ฟินแล็บ และ พันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs บนเส้นทางการก้าวสู่ธุรกิจดิจิทัล ผ่านโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 2,200 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ ได้จัดการช่องโหว่ของธุรกิจ ด้วยการใช้ดิจิทัลโซลูชันขยายธุรกิจบนโลกออนไลน์ เพิ่มความคล่องตัวของระบบปฏิบัติการหลังบ้าน และปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และเดอะ ฟินแล็บ ยังสนับสนุนเอสเอ็มอี ในส่วนบริการให้คำปรึกษา และจัดหาแหล่งทุนผ่านโปรแกรมการสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม (ITAP)
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอสเอ็มอีได้ให้ความสำคัญกับการปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล เพื่อเป็นหนทางสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันยังเป็นการเตรียมความพร้อมธุรกิจสู่ความท้าทายในอนาคต
และนี่คือเอสเอ็มอีของไทย 3 ราย ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้กลยุทธ์ดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสภาวะธุรกิจปัจจุบัน
สร้างธุรกิจดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จด้วยการเริ่มต้นอย่างเหมาะสม
คุณากร ธนสารสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อยืดตราห่านคู่ กล่าวว่า “เราตระหนักถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จึงได้ขยายธุรกิจไปยังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อใช้ประโยชน์จากการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการใช้ช่องทางออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของเรายังขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการใช้แรงงานในการผลิต
“ขณะที่บริษัทกำลังหาทางออกให้กับธุรกิจและไม่แน่ใจว่าจะเริ่มที่ใด บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด บริษัทคู่ค้าของเราที่ได้เข้าร่วมโครงการ SBTP ก่อนหน้า ได้แนะนำและติดต่อโครงการให้เรา โดยในช่วง 2-3 เดือน ที่เข้าร่วมโครงการ เราได้ทราบถึงช่องว่างของธุรกิจ และสามารถลำดับความสำคัญของกระบวนการปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล สิ่งสำคัญของธุรกิจเราคือความต้องการระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) สำหรับการวางแผนการจัดการ เพื่อช่วยบริษัทปรับปรุงกระบวนการบริหารให้ทันสมัย ซึ่งจะทำให้พนักงานมีเวลาในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ และส่งมอบบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม ภายในหนึ่งเดือนที่ได้ใช้โปรแกรม SAP Business One ซึ่งเป็นระบบ ERP ที่ราคาไม่สูง บริษัทเรามีประสิทธิภาพการขายทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ การจัดการซัพพลายเชน และกระบวนการจัดส่งที่ดีขึ้น
เราต้องขอบคุณโครงการที่จัดหาโซลูชันดิจิทัลที่ทันสมัยที่สุดตรงกับความต้องการของเรา และได้ติดต่อ ITAP เพื่อให้คำปรึกษาทางเทคนิคและความช่วยเหลือทางการเงิน ภายใต้โปรแกรม ITAP เราได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อช่วยในการใช้โซลูชันเทคโนโลยีของบริษัท
ธุรกิจยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล
กนิษฐา ตรีรัตนภรณ์ กรรมการผู้จัดการ Kingdom Organic Network เครือข่ายคลังอาหารด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกโดยเครือข่ายเกษตรกรปลอดสารเคมี เล่าว่า โครงการ SBTP ทำให้เธอตระหนักว่าดิจิทัลโซลูชันและเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อธุรกิจของเธอในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่การทำธุรกรรมออนไลน์ การบริหารจัดการโครงการ ไปจนถึงการทำฟาร์มอัจฉริยะ
“เราใช้ดิจิทัลโซลูชันเพื่อจัดการโครงการ ซึ่งเราต้องทำงานร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่นจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า โซลูชันช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการดำเนินงานแต่ละวัน การจัดการงบประมาณและคลังสินค้า รวมถึงการวิจัยและการพัฒนา เทคโนโลยีไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการขนส่ง แต่ยังช่วยให้เครือข่ายเกษตรกรท้องถิ่นได้รับทักษะทางดิจิทัล เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการฟาร์มของตนเองด้วย
เครือข่ายของโครงการ SBTP เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีจากองค์กรนวัตกรรมชั้นนำ เพื่อให้แน่ใจว่าเราเดินบนเส้นทางสู่ดิจิทัลอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงโปรแกรม ITAP ด้วยความสนับสนุนและเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และเดอะ ฟินแล็บ สามารถปรับธุรกิจเราสู่ดิจิทัลได้
โอกาสใหม่ในยุค New Normal
ธวัชชัย ประกอบ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมดิไทม์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ กล่าวว่า “ในอดีตกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราคือกลุ่มแพทย์ โรงพยาบาลรัฐและ โรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ธุรกิจเราจึงอาศัยเทคนิคการขายและความสัมพันธ์ระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ เราสังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค จากที่เคยขอคำแนะนำจากแพทย์ เป็นการค้นหาข้อมูลเครื่องมือแพทย์ทางออนไลน์โดยตรง เพื่อเรียนรู้ฟังก์ชันการทำงาน คุณภาพและราคาสินค้า ก่อนถามความเห็นแพทย์
“เมื่อทราบถึงโอกาสในการสร้างมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานจริง เราจึงต้องการสร้างแบรนด์สินค้าบนช่องทางออนไลน์ และเปิดการมองเห็นให้กับลูกค้าเป้าหมาย ด้วยการแสดงผลิตภัณฑ์เหล่านั้นในเครื่องมือค้นหา
เราเคยเข้าร่วมอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัล และการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลอยู่หลายครั้ง แต่พบว่า ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เสนอหลักสูตรได้ตรงตามความต้องการของเรามากที่สุด หลังจากเข้าร่วมโครงการ SBTP เราได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับดิจิทัลโซลูชันที่ช่วยในการสร้างแบรนด์ การขายออนไลน์ และการตลาดดิจิทัล เราจะนำมาอบรมพนักงานของเราต่อไป พร้อมวางแผนเวลาและทรัพยากรเพื่อใช้ประโยชน์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ เราต้องการให้พนักงานของเรามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
“เราภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์รายแรกๆ ที่เริ่มปรับองค์กรสู่ดิจิทัล เราให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการตลาดดิจิทัลสูงสุด และยังต้องการสร้างความคล่องตัวให้กับกระบวนการหน้าบ้านและหลังบ้านด้วย อีกทั้งการสนับสนุนด้านแหล่งทุนและการให้คำปรึกษาในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ยิ่งทำให้เรามั่นใจกับการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว”
ด้วยความร่วมมือของ depa สวทช. และสสว. โครงการ SBTP มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมสู่อนาคต สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล หรือกำลังประสบปัญหาดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ทาง www.facebook.com/uob.th หรือhttps://thefinlab.com/th/thailand
www.smethailandlcub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี