สสว. ผนึกสถาบันอาหาร กระทรวงอุสาหกรรม เร่งเติมพื้นที่ปลูกมะพร้าว ผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกใหม่ ภายใต้ “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560
สสว. ผนึกสถาบันอาหาร กระทรวงอุสาหกรรม เร่งเติมพื้นที่ปลูกมะพร้าว ผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกใหม่ ภายใต้ “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว” หวังช่วยลดการนำเข้า ให้มีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งป้อนสู่ภาคการผลิตและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกในระยะยาว ล่าสุดจัดประชุมกลุ่มเกษตรกรราว 135 รายในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หนุนให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกมะพร้าวบนพื้นที่ 500 ไร่ โดยแบ่งใช้ประโยชน์จากที่ดินส.ป.ก.ที่เพิ่งได้รับการจัดสรรมาจากรัฐบาลรวม 970 ไร่ เมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่ชาวนาใน อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ราว 130 ราย เตรียมลงมือปลูกมะพร้าวน้ำหอมแซมที่นารวม 260 ไร่ หวังเป็นรายได้เสริม ตั้งเป้าหนุนเกษตรกรผู้ปลูกใหม่ที่ จ.นครสวรรค์ อีก 300 ไร่ เป็นลำดับต่อไป
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ตามที่สถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่ายSME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว โดยเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการต้นน้ำเป็นหลัก เนื่องจากผลผลิตในปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ต้องพึ่งพิงการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าว เนื่องจากผลผลิตในปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สนับสนุนให้มีการเพิ่มผลผลิต ด้วยการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก และพันธุ์มะพร้าวคุณภาพ ขณะเดียวกันในภาคการผลิตและแปรรูปจะมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจมะพร้าวประเภท การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว และเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่มนี้ตลาดมีอัตราการเติบโตสูง
ในปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกมะพร้าวที่ให้ผลทั่วประเทศราว 1,135,821 ไร่ ได้ผลผลิตผลแก่ประมาณ 857,710 ตัน ลดลงเล็กน้อยจากปี 2558 ที่มีเนื้อที่ให้ผลผลิตราว 1,185,177 ไร่ ได้ผลผลิตผลแก่ประมาณ 904,025 ตัน เนื่องจากมะพร้าวได้รับผลกระทบจากการระบาดของแมลงศัตรูพืชมาหลายปี ทำให้ต้นมะพร้าวถูกทำลาย บางส่วนเริ่มไม่ให้ผลผลิต เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตามในแง่มูลค่าของผลผลิตพบว่าราคาต่อตันเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด โดยในปี 2559 ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 11,488 บาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 ที่ขายได้ราคาเฉลี่ยตันละ 7,768 บาท
“ขณะที่ความต้องการใช้มะพร้าวผลในประเทศขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตในประเทศ โดยในปี 2559 มีความต้องการใช้ 1,115,620 ตัน เป็นการใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงร้อยละ 60 ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกะทิสำเร็จรูปร้อยละ 35 และใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันมะพร้าวร้อยละ 5 ของผลผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตามสำหรับการนำเข้ามะพร้าวผลแห้งและกะทิสำเร็จรูปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยนำมาใช้ในอุตสาหกรรมกะทิกระป๋องสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก พบว่าในปี 2559 มีการนำเข้ามะพร้าวผลแห้ง 171,848 ตัน มูลค่า 1,843 ล้านบาท และนำเข้ากะทิสำเร็จรูป 39,064 ตัน มูลค่า 1,536 ล้านบาท สำหรับการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในรูปมะพร้าวผลสด และกะทิสำเร็จรูป โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคในต่างประเทศมีความนิยมบริโภคมะพร้าวผลสด และใช้กะทิสำเร็จรูปในการปรุงอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2559 มีการส่งออกมะพร้าวผลสด 79,062 ตัน มูลค่า 2,108 ล้านบาท มะพร้าวฝอย 1,338 ตัน มูลค่า 68 ล้านบาท และกะทิสำเร็จรูป 201,497 ตัน มูลค่า 10,928 ล้านบาท ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย จีน และฮ่องกง”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการมอบเอกสารที่ดินทำกินตามโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแปลงที่ดินที่ยึดคืนมาได้ และส.ป.ก.นำมาพัฒนาจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ในรูปสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 185 รายในเขตพื้นที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่รวม 970 ไร่ นั้น คณะทำงานได้มีการหารือร่วมกันกับทางเกษตรอำเภอปากช่อง เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินดังกล่าว สร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกใหม่ โดยจัดแบ่งเนื้อที่ราว 500 ไร่ สำหรับไว้ปลูกมะพร้าว เพิ่มจากพื้นที่เดิมที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด และอ้อยเป็นพืชหลัก
โดยได้มีการจัดประชุมเปิดกลุ่มสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกใหม่ที่อ.ปากช่องไปเมื่อเร็วๆนี้ได้รับความร่วมมือจากนายอุทัย สมรรถชัย เกษตรอำเภอปากช่อง มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมจำนวน 135 ราย เพื่อจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์การผลิตและการตลาดพร้อมแนวโน้มอุตสาหกรรมมะพร้าวความสำคัญของการรวมกลุ่มเครือข่าย(Cluster) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะพร้าว โดย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการและการตลาด นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเรื่องการเลือกพื้นที่ปลูก การเลือกพันธุ์มะพร้าว เทคนิคการปลูก การดูแลรักษา และการปลูกพืชเสริมกรณีผู้ปลูกใหม่ โดยเตรียมจัดประชุมกลุ่มเครือข่ายขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวไปยังเกษตรกรผู้ปลูกใหม่ใน พื้นที่เป้าหมายจ.นครสวรรค์ อีกราว 300 ไร่ เป็นลำดับต่อไป
“ก่อนหน้านี้กลุ่มเกษตรกรทำนาในอ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ได้ให้ความสนใจสร้างเครือข่ายเพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมโดยเข้าร่วมกับโครงการฯ แล้ว ราว 130 ราย จะใช้วิธีปลูกมะพร้าวน้ำหอมแซมที่นา เฉลี่ยรายละ 2 ไร่ รวม 260 ไร่ ปลูกไร่ละ 20 ต้น รวมประมาณ 5,200 ต้น เนื่องจากมีความพร้อมด้านแหล่งน้ำ ทั้งตลาดในพื้นที่มีความต้องการผลผลิต และเกษตรกรส่วนใหญ่มีความกระตือรือร้นที่จะสร้างอาชีพเสริม ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่ปลูก อีกไม่เกิน 3 ปีจะสามารถทำรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างแน่นอน”
ทั้งนี้จ.นครราชสีมา ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ให้ผลอยู่ราว 376 ไร่ ได้ผลผลิตต่อปี 324 ตัน นับเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวมากเป็นอันดับสองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากจ.สุรินทร์ ที่มีพื้นที่ปลูก 1,020 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 773 ตัน ส่วนจ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่ปลูก 100 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย ปีละ 54 ตัน โดยภาพรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ให้ผลราว 2,884 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยรวมปีละ 2,123 ตัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี