ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center: SMC ภายใต้การสนับสนุนจาก EECi ARIPOLIS ในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยการบริการของ SMC มีหลายด้าน เช่น การตรวจประเมินความพร้อมโรงงาน การให้คำปรึกษา การบริการ Testbed และการฝึกอบรม เป็นต้น ซึ่งการฝึกอบรมได้มีการให้บริการอบรมมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 4,235 คน จาก 200 หน่วยงาน ผ่านหลักสูตร Industrial Automation การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) การประยุกต์ใช้ Thailand I4.0 Index และ ฝึกปฏิบัติ (Assessor) การประเมินเบื้องต้นด้วยตนเอง พื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ฯลฯ
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่า “ในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและการปรับตัวเพื่อก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็มีความต้องการการพัฒนากำลังคนที่มากขึ้น มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนสถานประกอบการที่หลากหลาย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน จึงจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม SMC ACADEMY ดำเนินการจัดอบรมในรูปแบบ In-House Training และ Public Training โดยจัดอบรมในกลุ่มหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทางด้านโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1) Automation & Robotics กลุ่ม 2) Internet of Things & Edge Computing กลุ่ม 3) AI & Data Technology กลุ่ม 4 Lean Management & Smart Manufacturing กลุ่ม 5) Factory Management กลุ่ม 6)Smart Factory Executive Program
อีกทั้งยังมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม ได้แก่ Modern Automotive Innovation และ Smart Agriculture ซึ่งแต่ละกลุ่มหลักสูตรได้นำองค์ความรู้พื้นฐานของเทคโนโลยีนั้น และงานวิจัยจากนักวิจัยภายใน SMC จัดทำเป็นหลักสูตรเฉพาะทางได้แก่ Daysie Platform, NOMADML, NETPIE Platform, UNAI เป็นต้น รูปแบบการอบรมมีทั้งการอบรมแบบทฤษฎี และภาคปฏิบัติซึ่งเน้นลงมือทำจริงให้เข้าใจถึงการใช้งานจริงของเทคโนโลยีนั้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ที่หน้างานของผู้เข้าอบรมได้ ซึ่งในปี 2567 นี้ SMC ACADEMY ได้ผลิตหลักสูตรสำหรับจัดอบรมขึ้นมาทั้ง 28 หลักสูตร และมีแผนการจัดอบรมมากกว่า 30 ครั้ง
“ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ตั้งเป้าหมายยกระดับค่าเฉลี่ยความพร้อมของอุตสาหกรรมไทย อย่างน้อย 1 ระดับ (อ้างอิง Thailand i4.0 index) ภายใน 5 ปี จากปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2566) ค่าเฉลี่ย 2.8 โดยอีก 5 ปีข้างหน้าหวังจะเห็น 3.8 โดยมีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนเพื่อไปยกระดับค่าเฉลี่ยความพร้อมให้อุตสาหกรรมโดยรวม คือ ร้อยละ 10 ของโรงงานในประเทศใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของ SMC ซึ่งหนึ่งในบริการ คือการฝึกอบรมด้วย SMC ACADEMY ร้อยละ 10 คือประมาณ 7000 โรงงาน ในระยะเวลา 5 ปี”ดร.พนิตา กล่าวเสริม
ศูนย์ฝึกอบรม SMC ACADEMY มีแผนการจัดอบรมในปี 2567 ในช่วงเดือน มิ.ย. - ธ.ค. 2567 ตามปฏิทินการจัดอบรม โดยมีเป้าหมายที่จะจัดอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมจำนวน 500 คน ซึ่งหลักสูตรสามารถจัดแบบ customize ได้ตามความต้องการของอุตสาหกรรม หรือทางอุตสาหกรรมสามารถเลือกหลักสูตรอบรมตามชุดหลักสูตรที่ทาง SMC ACADEMY ออกแบบขึ้นมาโดยมี 7 ชุดหลักสูตร (ที่ควรเรียนต่อเนื่องกัน) ได้แก่
ชุดที่ 1 พื้นฐานเทคโนโลยี 4.0 เพื่อสร้างความเข้าใจสำหรับผู้บริหารในโรงงานอุตสาหกรรม
ชุดที่ 2 สำหรับสร้างทีม Innovation/Improvement
ชุดที่ 3 พัฒนา Industrial IoT จนถึงประยุกต์ใช้ AIoT (AI + IoT)
ชุดที่ 4 พัฒนาการผลิตด้วย Automation & Robotics ร่วมกับ Machine Vision และ AI
ชุดที่ 5 ปรับปรุงโรงงานด้วย Lean เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงาน
ชุดที่ 6 ดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถไฟฟ้าแบบฉบับ Zero to Hero
ชุดที่ 7 พัฒนาเทคโนโลยีระบบเกษตรอัจฉริยะแบบเข้มข้นโดยใช้ HandySense
สุดท้ายนี้หลักสูตรทั้งหมดนี้เป็นหลักสูตรที่ถูกออกแบบ พัฒนาจากงานวิจัยโดยนักวิจัยและทีม SMC ACADEMY ทั้งนี้ทาง SMC ACADEMY พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรจัดทำ พัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม หรือตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะทางในอนาคตอีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี