“เอ็นไอเอ - อุทยานวิทย์ฯ” หนุนปั้นโลคอลซอฟต์พาวเวอร์โคราช ด้วย “โคดำลำตะคอง” พร้อมลุยจัดไทยแลนด์บีฟเฟสต์ 2024

     สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โชว์ศักยภาพและความสำเร็จจากการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ในส่วนภูมิภาค เมือง และย่านนวัตกรรม ผ่านตัวอย่างการผลักดันพื้นที่จังหวัด “นครราชสีมา” และจังหวัดใกล้เคียงกลุ่มนครชัยบุรินทร์ ให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงของประเทศไทย รวมถึงเป็นต้นแบบการสร้างมาตรฐานการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงโดยนำศักยภาพของพื้นที่มาร่วมกับการใช้นวัตกรรมเข้าไปปรับเปลี่ยนและยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสร้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ หรือชุมชน เติบโตอย่างเข้มแข็ง เพื่อผลักดันให้เนื้อวัว “โคดำลำตะคอง” เนื้อโคไทยคุณภาพสูงที่ได้จากนวัตกรรมการผสม 3 สายพันธุ์ “โคพื้นเมือง - วากิว - แองกัส” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยผ่านงาน Thailand Beef Fest 2024 โดยมีกิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ นิทรรศการแสดงพันธุ์วัวไทย เทคโนโลยีการถ่ายทอดพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง โรงเลี้ยงจำลอง การจัดแสดงสายพันธุ์วัว และนิทรรศการพันธุ์วัวเนื้อต่างประเทศ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 1-4 กุมภาพันธ์ 2567

     ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาและผลักดันให้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและกลุ่มนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์) เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงของประเทศไทย ทั้งในฐานะแหล่งผลิตโคเนื้อ และพื้นที่ต้นแบบด้านการสร้างมาตรฐานการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพทางภูมิศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งพื้นที่นี้มีความโดดเด่นทั้งในแง่ของปริมาณการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศไทยถึงร้อยละ 50 จากการผลิตโคเนื้อทั่วประเทศจำนวน 1.495 ล้านตัว และเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับการผลิตโคเนื้อที่สำคัญ เช่น หญ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพด และธัญพืช รวมถึงมีหน่วยขับเคลื่อนด้านงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูงแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่พร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร และผู้ประกอบการปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง เช่น การวิจัยด้านปรับปรุงสายพันธุ์ การพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงโคในทุกช่วงวัย การส่งเสริมกระบวนการเลี้ยงโคตามมาตรฐาน GFM และการส่งเสริมการแปรรูปเนื้อโค เพื่อเข้าไปปรับเปลี่ยนและยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ พร้อมส่งผลต่อการยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยเนื้อวัวคุณภาพสูงสามารถขายได้ 105 -145 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อวัวคุณภาพสูงของประเทศไทยยังไม่เพียงพอ ต้องมีการนำเข้าสูงกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี

     ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง และอำเภอวังน้ำเขียว รวมถึงยังมีร้านอาหารจำนวนมากที่มีเมนูสเต๊กและใช้เนื้อวัวคุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบ จึงมีโอกาสผลักดันให้เนื้อวัว “โคดำลำตะคอง” กลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ได้ ดังนั้น NIA จึงได้ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดงาน Thailand Beef Fest 2024 ขึ้นในวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีกิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ นิทรรศการแสดงพันธุ์วัวไทย เทคโนโลยีการถ่ายทอดพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง โรงเลี้ยงจำลอง จัดแสดงสายพันธุ์วัว นิทรรศการพันธุ์วัวเนื้อต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล โชว์การทำอาหารจากเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมโดยเชฟมืออาชีพ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูงในพื้นที่ และสร้างปรากฏการณ์สำหรับคนรักเนื้อวัวไทยกับการรวมที่สุดของ “เนื้อ” คุณภาพพรีเมี่ยมในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการร่วมศึกษาและต่อยอดไปสู่ “ย่านนวัตกรรมโคเนื้อ” เพื่อคิด ผลิต ขาย และพัฒนาโคเนื้อที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต หากประสบความสำเร็จก็สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว กลุ่มเมืองรอง และเมืองอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม

     ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า ข้อมูลจากปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาพบว่า มีเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจำนวนมากกว่า 185,400 ราย เป็นโคเนื้อมากกว่า 530,000 ตัว มีฟาร์มโคเนื้อที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP 7 แห่ง ฟาร์มโคเนื้อที่ได้รับรองมาตรฐาน GFM 133 แห่ง และมีโรงเชือดที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคฯ จึงเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ด้วยการรวมกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงโคและผู้ประกอบการ เพื่อเสาะหาความต้องการจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ แล้วนำมาจับคู่กับเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีนักวิจัยที่มีองค์ความรู้เข้ามาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างกิจกรรมที่จะส่งเสริมและขยายตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์มการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความพร้อมในการสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง โดยปัจจุบันมีเครือข่ายที่มีเทคโนโลยีสนับสนุนการเพิ่มมูลค่ามากมาย เช่น เทคโนโลยีการแยกเพศอสุจิโคด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี การมีศูนย์ตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมด้วยเทคนิค เพื่อตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมร่วมกับการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอที่ถูกพัฒนาขึ้น และเพื่อวิเคราะห์เครื่องหมายทางพันธุกรรมที่สำคัญและมีความเกี่ยวเนื่องกับปริมาณไขมันแทรกในเนื้อโค และจัดสร้างฐานข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบระดับเลือดผสมวากิวก่อนส่งเข้ากระบวนการขุน และใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงพันธุ์ในเชิงพาณิชย์ แพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบคุณภาพเนื้อระดับพันธุกรรมเพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจประวัติโคได้ง่าย และเพิ่มความมั่นใจถึงผลลัพธ์ที่ดีในการขุนโคลูกผสมวากิวแต่ละครั้ง”

     ดร. มาเรีย ราโฮฟสกายา ผู้ช่วยที่ปรึกษาเอกอัครราชทูต ฝ่ายกิจการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณ NIA ที่เชิญกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมโคเนื้อของสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมงาน Thailand Beef Fest 2024 เพื่อส่งเสริมการตลาดโคเนื้อในประเทศไทย และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-ไทย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโคเนื้อของสหรัฐฯ มีชื่อเสียงในการผลิตเนื้อวัวคุณภาพสูงที่เลี้ยงด้วยธัญพืช (Grain-fed) ผู้บริโภครู้ดีว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย นุ่ม อร่อย และน่าเชื่อถือ การเลี้ยงโคถือเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 17% ของสินค้าทางการเกษตรทั้งหมด การปรับปรุงการจัดการโคและพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการเข้าถึงอาหารคุณภาพสูงถือเป็นหัวใจสำคัญที่เจ้าของฟาร์มโคในสหรัฐฯ ต้องทำ เพื่อเลี้ยงโคมากกว่า 89 ล้านตัวทั่วทั้ง 50 รัฐของสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะขยายอุตสาหกรรมโคเนื้อ ทางสหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ และยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อปรับปรุงทางพันธุศาสตร์และโภชนาการของโค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเนื้อวัวคุณภาพสูงในประเทศไทยต่อไป

     อรรควัฒน์ วิริยะขจรเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.วี.เค.ฟาร์ม โปรดักส์ จำกัด ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยสุรนารี อธิบายถึงความพิเศษของเนื้อ “โคดำลำตะคอง” ว่า โคดำลำตะคองเป็นลูกผสม 3 สายพันธุ์ที่ดึงเอาคาแรคเตอร์และคุณภาพเนื้อที่โดดเด่นแตกต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ ได้แก่ ลูกผสมพื้นเมืองที่มีรสชาติเข้มข้นและกลิ่นหอม มีความถึกทน วากิว มีเอกลักษณ์คือปริมาณไขมันแทรกในเนื้อคล้ายกับลายหินอ่อน และแองกัส ที่มีการเจริญเติบโตไว มีอัตราการแลกเนื้อสูงและทนต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ดี ซึ่งปัจจุบันสามารถทำให้เกิด “พ่อพันธุ์กึ่งสำเร็จรูป” ลูกผสม 3 สายเลือด โดยการผสมเพียงครั้งเดียว ลดระยะเวลาในการผลิตลูกผสม 3 สายเลือด ลงไป 3 ปี นอกจากความพิเศษของสายพันธุ์ “โคดำลำตะคอง” แล้ว ยังมีการเลี้ยงอย่างปราณีตและพิถีพิถัน ตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ รวมถึงสูตรอาหารที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากวิทยาลัยด้วยเช่นกัน ทั้งยังเสริมด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของโคในสูตรและปริมาณที่แตกต่างไปตามช่วงอายุ ทำให้โคเหล่านี้มีสุขภาพดี เพราะเชื่อว่า “เนื้อที่ดี ต้องมาจากโคที่ดี” ดังนั้น “โคดำลำตะคอง” จึงเป็นเนื้อโคไทยคุณภาพสูง (Premium Beef) ที่มีกลิ่นรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ “โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ชุ่มมัน” มีลักษณะของชั้นไขมันที่แทรกระหว่างเนื้อ (Marbling Score) ซึ่งในนั้นมีโอเมก้า 9 ที่เป็นสารอาหารสำคัญ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูงในพื้นที่ เมื่อเทียบกับเนื้อโคที่เกษตรกรเลี้ยงแบบเดิมจะขายได้ในราคา 82 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่โคเนื้อคุณภาพสูงสามารถขายได้ 105-145 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นขั้นต่ำต่อปี 28 %ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคสามารถพัฒนาคุณภาพเนื้อโคคุณภาพสูงได้ถึงเกรดสูงสุด เกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่จะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 65 % ต่อปี

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS