ตัวแทนธุรกิจเอกชนชั้นนำ ร่วมอภิปรายสถานการณ์-ปัญหาเศรษฐกิจไทยเนื่องใน “วันธรรมศาสตร์” 10 ธ.ค. สะท้อนปัญหาด้านทรัพยากร-โครงสร้างประชากร พร้อมจำนวนแรงงานที่ยังไม่สอดคล้องความต้องการ ย้ำอุปสรรคด้านกฎหมาย-กฎระเบียบของรัฐ จำเป็นต้องลดความซับซ้อน ด้าน “ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์” ยันบทบาทมหาวิทยาลัยต้องมีส่วนเข้าไปแก้ไข ตอบโจทย์อุตสาหกรรม-ช่วยขับเคลื่อนประเทศ
พิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เปิดเผยในการอภิปรายหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย ในยุคดิจิตอล” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2566 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันแม้สถานการณ์ของโลกจะอยู่ในความยุ่งเหยิง ซับซ้อน และไม่แน่นอน แต่หนึ่งในสิ่งที่แน่นอนคือจำนวนทรัพยากรบนโลกที่ร่อยหรอน้อยลงทุกวัน เมื่อหารเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรที่มีมากขึ้นหลายเท่าจากในอดีต
“อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือสมัยก่อนพ่อมีลูก 8 คนยังเลี้ยงได้ แต่คนรุ่นหลังแค่มีลูกคนเดียวยังแทบตาย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ประเมินได้บนความไม่แน่นอน คือทิศทางของอนาคตที่จะอยู่บนการแย่งชิงฐานทรัพยากร และพยากรณ์ได้ว่ามนุษย์จะลำบากขึ้นอย่างแน่นอน” นายพิชัย ระบุ
พิชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้จำนวนการบริโภคจะเพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งเอเชียก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่แข่งขันในเชิงการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และการใช้เทคโนโลยีจะน่ากลัวมากขึ้น ขณะเดียวกันท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองโลกที่มีการแบ่งขั้ว การกีดกันการค้า ตลอดจนกระแสของการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชนต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นโจทย์ที่เราจะต้องนำมาคิดและปรับตัว
พิชัย กล่าวอีกว่า ไทยในฐานะที่เป็นประเทศขนาดเล็กคงจะต้องวางตัวและเดินตามกระแสเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ควรจะต้องพึ่งพากำลังการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่เห็นได้จากสถานการณ์โควิด-19 ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตที่เพิ่มความทันสมัย พร้อมกันนั้นก็จะต้องลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบบางอย่างที่เก่ามาก และบางอันก็ขัดกันเอง ซึ่งทำให้คนทำธุรกิจมีความยากลำบาก
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจเผชิญในปัจจุบัน คือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในหลากหลายมิติ และไม่มีสูตรตายตัวอีกต่อไปว่าทำสิ่งใดแล้วจะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะบทเรียนสำคัญจากช่วงโควิด-19 คือไม่มีใครทราบได้ว่าสถานการณ์จะเป็นไปอีกนานเท่าไร จึงแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถมีแผนธุรกิจเดียวได้ แต่จำเป็นจะต้องมีแผนสำรองถัดไปเตรียมเอาไว้ด้วย
ศุภจี กล่าวว่า ขณะเดียวกันในโลกธุรกิจก็มีความทับซ้อนกันมากยิ่งขึ้น จนไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะอยู่รอดปลอดภัยไปได้ตลอด ตัวอย่างเช่นธนาคาร ปัจจุบันไม่ได้แข่งขันกับธนาคารด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นใหม่ๆ ในสายเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อที่เข้ามาเป็นคู่แข่งด้วย รวมไปถึงอีกปัญหาสำคัญในขณะนี้คือความขัดแย้งทางความคิด ที่มีความแตกต่างกันระหว่างคนหลากหลายเจนเนอเรชั่น อันเป็นสิ่งที่หลายองค์กรพบเจอในปัจจุบัน
“ภาคธุรกิจไทยยังเจอกับแรงกดดันต่างๆ เช่น ภูมิทัศน์ของโลกที่ปัจจุบันมีแนวคิดเปลี่ยนจากโลกาภิวัฒน์ กลับมาสู่การพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่จะทำให้มีคนเข้าสู่ระบบแรงงานน้อยลง แต่ขณะเดียวกันก็มีความไม่สอดคล้องกันระหว่างทักษะที่ภาคธุรกิจต้องการ กับปริมาณแรงงานที่ถูกผลิตออกมาด้วย ซึ่งตรงนี้อาจต้องพึ่งมหาวิทยาลัยในการช่วยผลิตคน หรือให้ข้อเสนอแนะแก่ภาคส่วนต่างๆ ในฐานะสถาบันวิชาการ” นางศุภจี ระบุ
ศุภจี ยังกล่าวอีกว่า แม้จะเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ แต่ก็ยังมีโอกาสหากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันผลักให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาต่อไปได้ จึงอยากฝาก 6 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ที่ประกอบด้วย “3 สร้าง” ได้แก่ สร้าง Branding ประเทศไทย เช่นการเข้าสู่ตลาดพรีเมียมมากขึ้น, สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว, สร้างมาตรฐานยกระดับแรงงาน ผนวกกับ “2 กระตุ้น” คือ กระตุ้นประสิทธิภาพ เช่นให้สิทธิประโยชน์ภาคธุรกิจมากขึ้น, กระตุ้นความยั่งยืน และ “1 ลด” คือ ลดความซับซ้อน โดยเฉพาะกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ
ด้าน ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากมุมมองของตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำในครั้งนี้ ทำให้ได้พบถึงภาพปัญหาที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโครงสร้างประชากร หรือความซ้ำซ้อนยุ่งยากของกฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีบทบาท
“ตัวอย่างเช่น ปัญหาความไม่ได้สมดุลของตลาดแรงงาน ที่สถาบันการศึกษาไม่ได้ผลิตคนตามความต้องการของตลาด ผลิตได้มากแต่ตลาดไม่ต้องการ หรือที่ตลาดต้องการกลับมีไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานของทรัพยากรบุคลากรที่ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการยกระดับมาตรฐาน ที่มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องทำมากขึ้น และยังรวมไปถึงบทบาทการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ระบุ
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า จากมุมมองอันมีค่าของภาคธุรกิจนี้ ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยไทย และถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองจะต้องเดินหน้าพูดคุยกับภาคธุรกิจเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อนำมุมมองข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุงหลักสูตร พัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่จะยกระดับการพัฒนาของประเทศต่อไปได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี