สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ร่วมเสริมพลังการเพิ่มผลิตภาพ ส่งมอบบริการสำหรับองค์กรรัฐและเอกชน ด้วยชุดองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับความยั่งยืนและผลผลิตภายในประเทศ

     สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดย สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) โดย Prof. Kazuo Yamamoto ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการยกระดับการเพิ่มผลิตภาพและการขยายฐานการเข้าถึงบริการ สำหรับองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ในกลุ่มการเกษตร กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มการค้าและบริการ ที่ให้ความสำคัญสำหรับพัฒนาการจัดการองค์กรควบคู่ไปกับการสร้างผลลัพธ์องค์กรด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามที่ได้กำหนดไว้เป็นเป้าหมายสู่องค์กรสร้างผลิตภาพและความยั่งยืน

     สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและองค์กรรัฐ-เอกชน ทั้งในส่วนอุตสาหกรรมผลิต การค้า การบริการ ทุกๆ ขนาด รวมไปถึงความหลากหลายของสถานประกอบการในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับการรักษามาตรฐานระดับนานาชาติ ผ่านการควบคุมทางการค้าสร้างการยอมรับ พร้อมทั้งการสร้างความมั่นใจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจ จึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของทั้งสององค์กร เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาทักษะความสามารถของบุคคล และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของการศึกษาเชิงปฏิบัติการและการปฏิบัติการด้วยธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาหลักสูตรปฏิบัติการโดยใช้ทรัพยากรของทั้งสององค์กรโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมุ่งสู่สุขภาวะของกลุ่มเป้าหมายสูงสุด และเพื่อพัฒนาเนื้อหาและกลยุทธ์การสื่อสารสำหรับการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ เข้าถึงและขยายฐานการให้บริการของทั้งสององค์กรในรูปแบบ School of Practice สำหรับการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และการปฏิบัติเข้าสู่สังคม

     พร้อมกันนี้ Prof. Kazuo Yamamoto อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ได้กล่าวถึงการขยายโอกาส ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ จะสามารถนำมาซึ่งความร่วมกันพัฒนากิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ ให้มีรูปแบบความหลากหลาย เช่น หลักสูตรเรียนรู้ โครงการความร่วมมือ หรือการให้บริการ รวมถึงการจัดทัศนศึกษา หรือการพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้ การปฏิบัติการที่สนับสนุนต่อการเตรียมความพร้อมและทักษะให้กับบุคคลที่เข้าสู่องค์กรทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือ การร่วมกันสนับสนุนการทำงานวิจัย การใช้ผลลัพธ์ของงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่งานวิจัย โดยผลักดันให้เกิดการใช้บริการห้องปฏิบัติการ หรือห้องทดสอบที่ AIT มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครือข่ายร่วมกันระหว่างองค์กร บุคลากร และศิษย์เก่า/สมาชิก สำหรับการขยายขอบเขตการให้บริการของทั้งสององค์กร ควบคู่ไปด้วยกัน

     และกล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี จะร่วมกันใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งสององค์กรเพื่อสร้างแรงผลักดันที่มีค่าในแต่ละอุตสาหกรรมของประเทศไทย อันเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าและพัฒนาทักษะบุคลากรสำหรับอนาคต

     โดยสุวรรณชัย ได้กล่าวทิ้งทายว่า “อย่างไรก็ตาม ในความร่วมมือกันนี้ จะเป็นการกระตุ้นการก้าวไปข้างหน้า ผ่านการส่งเสริมให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพในทุกองค์กรของประเทศไทย ด้วยผสานความแข็งแกร่งของ FTPI กับ AIT  โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาการเพิ่มผลิตภาพสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของทุกภาคส่วนในการรวมพลังขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตต่อไป”

     ในก้าวแรกหลังความร่วมมือนี้ จะเป็นการพัฒนาหลักสูตรปฏิบัติการ ที่มุ่งเน้นการสร้างกระบวนการคิดด้วยความเข้าใจในองค์ประกอบสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างมีความเข้มข้นตามมาตรฐานการจัดการที่มีข้อกำหนดไว้ และสร้างการเข้าถึงบริการของห้องปฏิบัติการ แนส แล็ป ที่มีอยู่ภายใน AIT ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ที่มีความพร้อมให้บริการด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีเครื่องมือที่ทันสมัยตามระบบมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 : 2017 สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบพารามิเตอร์ ทดสอบตัวอย่างหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ตัวอย่างน้ำเสียชุมชนที่มีความเข้มข้นต่ำไปจนถึง น้ำเสีย ตัวอย่างกากตะกอนจากระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลที่มีความเข้มข้นสูง เป็นต้น

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS