มากกว่า 10 ปีมาแล้วที่เราได้ยินคำว่า Digital Disruption หรือ Technology Disruption ซึ่งภาคธุรกิจได้เริ่มเตรียมปรับตัวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจมาตลอด ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 ยังเข้ามาเป็นปัจจัยเร่งให้สถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 8-10 ปีข้างหน้า ให้เกิดขึ้นในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้ ทำให้ทุกธุรกิจต้องกระโดดเข้าสู่ Digital Transformation อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้สามารถอยู่รอดและดำเนินธุรกิจต่อไปได้
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวเปิดรับเทคโนโลยีของผู้คนง่ายขึ้น และพร้อมใจที่จะก้าวอย่างรวดเร็ว ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ ดังนั้น หากธุรกิจไม่เร่งปรับตัวอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยมีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยืนยันได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทยนั้นเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ
- คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 77.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 62.5%
- คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 5.07 ชั่วโมงต่อวัน (เป็นอันดับที่ 3 ของโลก)
ไม่เพียงแค่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมากและหลายชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ยังยืนยันด้วยว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นกับระบบธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลมากพอสมควร ด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายบนระบบอินเทอร์เน็ต และการลดลงของการทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ เช่น การใช้เงินสด หรือธุรกรรมผ่านเช็ค
- ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้ Mobile Banking ต่อประชากร ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 74% เป็นอันดับที่ 1 ของโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งเพิ่มมาจากปีก่อน ๆ 63% (อันดับ 2 และ 3 ของโลก คือ สวีเดน 71% และ เกาหลีใต้ 66% )
- จำนวนธุรกรรมจ่ายผ่าน QR Code เพิ่มขึ้น 199% และจำนวนธุรกรรมบัตรเครดิต Online โตขึ้น 26%
- ธุรกรรมถอนเงินสดลดลง 18% และธุรกรรมเกี่ยวกับเช็คลดลง 19%
- จำนวนรายการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น 160% เป็นสัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลต่อช่องทางออฟไลน์กว่า 80%
ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงความต้องการที่เปลี่ยนไป ธุรกิจการค้าต่าง ๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลงจาก B2B หรือ OEM มาเป็น D2C (Direct to Customer) จากเดิมที่ผู้ผลิตเป็นเพียงผู้ผลิตเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือรับผลิต เพื่อส่งให้ส่วนของพ่อค้าคนกลาง เช่น Modern Trade ไล่ลงไปจนถึงร้านค้าปลีกก่อนจะถึงมือผู้บริโภค เปลี่ยนเป็นจากผู้ผลิตไปสู่มือผู้บริโภคได้เลย โดยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งทำให้ SME ที่อยู่ในช่วงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค จะต้องรีบเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถอยู่รอดและก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน
รู้จุดยืนที่ชัดเจน เตรียมรุกสู่ Transformation
เส้นทางการปรับปรุงธุรกิจไปสู่ความเป็นดิจิทัล มีหลายทางเลือกให้ตัดสินใจ โดยก่อนที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ต้องแน่ใจก่อนว่าธุรกิจของเรานั้นอยู่ในสภาวะใด ให้ผู้ประกอบการจินตนาการถึงฉากทัศน์ของธุรกิจ โดยพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลง 4 กลุ่ม ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า กิจการของเราอยู่ในกลุ่มใดใน 4 กลุ่มนี้
1) กลุ่มที่มีความชัดเจน เป็นธุรกิจที่มีทิศทาง กฎและระเบียบต่าง ๆ ที่มีต่อธุรกิจค่อนข้างตายตัวชัดเจน
2) กลุ่มที่มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่า ถ้าไม่เป็นแบบนี้ ก็จะเป็นแบบนั้น หรือเป็นอีกแบบหนึ่ง
3) กลุ่มที่จะมีความเปลี่ยนแปลงแบบเป็นช่วง ๆ ช่วงต้นจะเป็นแบบนี้ และต่อด้วยช่วงที่จะเป็นแบบนั้น
4) กลุ่มที่หาความชัดเจนไม่ได้ คาดเดาไม่ได้เลย
เมื่อเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้าแล้ว มองว่าธุรกิจของเราเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และวางกลยุทธ์จากยุทธศาสตร์ 5 F ว่าธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่นั้นจะเป็น F ไหน ซึ่งประกอบด้วย
และไม่ว่าเราจะเลือกกลยุทธ์ F ใดก็ตามสิ่งสำคัญคือธุรกิจจะต้องมีกระแสเงินสดเอาไว้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และการสร้างเครือข่ายในวงธุรกิจ (Connection) ก็เป็นตัวช่วยสำคัญไม่แพ้กัน
เมื่อมองเห็นภาพอนาคต รวมถึงตั้งกลยุทธ์ที่จะใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว จึงเริ่มเข้าสู่ Digital Transformation ในขั้นตอนต่อไป
Transform ให้ไว และได้ไปต่อในยุคดิจิทัล
จากเหตุผลต่าง ๆ ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งในภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย จาก B2B หรือ OEM มาเป็น D2C (Direct to Customer) ทำให้การดำเนินธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนไป ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นมีสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงนี้
- Data Driven เพราะข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ หัวใจแห่งการขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้งนี้ การ Direct to Customer อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลลูกค้า ซึ่งไม่ว่าธุรกิจที่จะอยู่ในช่วงไหนของห่วงโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการควรทราบความต้องการของลูกค้าปลายทางด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายละเอียดพฤติกรรมผู้บริโภครายย่อย ๆ ไปจนถึงข้อมูลของลักษณะการสั่งสินค้าของลูกค้ารายใหญ่ๆ
- ขจัด Pain point บน Business Ecosystem เพื่อสร้างความสมบูรณ์บน Platform ปัจจุบันนี้มีรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น การไลฟ์ขายของบนระบบออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเนื่องจาก Pain Point บางอย่าง เช่น การไลฟ์ขายทุเรียน ที่มาขจัด Pain Point ที่ลูกค้าอยากได้ทุเรียนพันธุ์หายากคุณภาพดี ซึ่งการที่เจ้าของสวนมาไลฟ์ขายของเองทำให้ลูกค้าแน่ใจว่าจะได้ของดีจากสวนที่เจ้าของสวนมีตัวตนอยู่จริง ทราบแหล่งที่มาชัดเจน จึงเกิดการซื้อขายกันขึ้น
ซึ่งการเติมเต็มระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น ยังมีขั้นตอนของการชำระเงิน การจัดการการจัดส่ง และการขนส่งเข้ามาอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิด Platform ที่ช่วยสร้าง “มูลค่าเศรษฐกิจ” ที่อยู่ระหว่างกลางผู้บริโภค (Consumer) และ ผู้ผลิต (Producer) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีการออกแบบจนถึงมือลูกค้ารายสุดท้าย เพื่อให้การแลกเปลี่ยนสมบูรณ์แบบมากที่สุด
- Agile Way เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงต้องก้าวให้ไว เมื่อโลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเก่า เราจะพบได้ว่า ยุคก่อนหน้านี้กว่าจะมีผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมก็ใช้เวลากันหลายปี แต่ในปัจจุบันอาจจะใช้เวลาเพียงครึ่งปีก็สามารถสร้างนวัตกรรมได้ หลักการแบบ Agile Way จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อให้ตอบสนองได้รวดเร็วทันเวลาและตรงความต้องการที่สุด หลัก Agile Way ประกอบไปด้วย 3 ส่วนประกอบสำคัญ ดังนี้
1) ระบุปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า อาจใช้การเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกับลูกค้า คุยกับกลุ่มลูกค้าโดยตรง รวมไปถึงการรับฟังความคิดเห็นของทีมงานที่ทำงานกับลูกค้าโดยตรงเพื่อให้เข้าใจลูกค้าในเชิงลึก
2) พัฒนาด้วยทีมงานหลายฝ่าย ระดมสมอง คิดนอกกรอบ พัฒนานวัตกรรมจากความคิดร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อระดมสมองจากหลายมุมมอง
3) ทดสอบนวัตกรรมกับลูกค้าก่อนออกใช้งานจริง เป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อปรับปรุงก่อนส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้าผู้ใช้งานจริง
ระหว่างการทำงานใน Agile Way จะมีการตรวจสอบให้แน่ใจอยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังพัฒนาไม่มีอะไรหลุดไปจากแผนการหรือความต้องการที่แท้จริง และหากมีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ความต้องการของลูกค้าเป้าหมายเปลี่ยนไปก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน
งบประมาณทางการตลาดต้องมี เนื่องจากในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เมื่อธุรกิจวางแผนมาอย่างดี มีทั้งข้อมูลที่ดี อยู่บนแพลตฟอร์มที่ดี และใช้วิธีการทำงานแบบ Agile Way สิ่งสุดท้ายที่จะลืมไม่ได้คือ การทำการตลาด เพื่อให้ลูกค้ารู้จักสินค้าของเราอย่างแท้จริง ในยุคดิจิทัลจึงต้องวางแผนสำหรับ Digital Marketing ด้วย โดยงบการตลาดก็ควรจะเป็น 20-30% ของยอดขายกระแสเงินสดต้องแข็งแกร่ง และต้องมีเครื่องมือทางการเงินที่ดี
การก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง หัวใจหลักที่จะทำให้ธุรกิจแข็งแรง คือการมีกระแสเงินสดอย่างพอเพียง โดยธุรกิจที่แข็งแรงจะสามารถประมาณการทางการเงินในอนาคตได้ และทราบมูลค่าของธุรกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งการสร้างมูลค่าของธุรกิจจะเพิ่มขึ้นต่อเมื่อสามารถสร้างกระแสเงินสด (Cash Flow) ออกมาให้ได้มากที่สุดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจสามารถบริหารปัจจัยหลัก (Value Drivers) 7 ปัจจัยได้ดี คือ
1. การสร้างจุดขายจุดแข็งให้กับองค์กร
2. การทำให้ยอดขายเติบโต
3. การทำให้กิจการมีกำไรดี
4. การบริหารภาษีอย่างประสิทธิภาพ
5. การใช้เงินทุนหมุนเวียนต่ำ
6. การใช้เงินลงทุนที่ต่ำ
7. การหาแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนต่ำที่สุด
ดังนั้นการเดินหน้าสู่การเป็นดิจิทัลจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือทางการเงินที่เข้าใจธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นอย่างดีในทุกส่วนของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งเงินทุน บัญชีสำหรับธุรกิจโดยเฉพาะ รวมทั้งการติดตามรายงานการเงินที่ง่าย และสะดวกสบาย นำเสนอในมุมที่เข้าใจผู้ประกอบการธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เพื่อให้ทุกการซื้อขายเป็นไปได้อย่างราบรื่นอีกด้วย
ที่มา :
“Road to Digital Transformation พลิกโฉมธุรกิจสู่การเป็น Smart SME ในยุคดิจิทัล” โดย finbiz by ttb และ ISMED
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี