Text : กฤษณา สังข์วงค์
จริงอยู่ว่าการทำตลาดออนไลน์ไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่ก็ใช่ว่าทุกแบรนด์ที่เข้าไปค้าขายบนโลกออนไลน์จะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นก่อนลงไปทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง มาเช็กให้แน่ใจเสียก่อนว่า มีความพร้อมแค่ไหนที่จะเข้าไปยืน ณ พื้นที่นั้น
1. สินค้าเป็นที่รู้จัก?
ก่อนสินค้าจะขายได้ กลุ่มเป้าหมายที่ทางบริษัทกำหนดไว้ต้องรู้จักเสียก่อนว่าสินค้าคืออะไร แบรนด์ไหนเป็นเจ้าของ เพราะเมื่อสินค้าเป็นที่รู้จัก การลงไปทำตลาดออนไลน์ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องเสียเวลา และเสียเงินโฆษณาสินค้าซ้ำเพื่อให้เป็นที่รู้จัก แต่อาจต้องประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมถึงช่องทางออนไลน์ที่เข้าไปทำธุรกิจ รวมทั้งโปรโมตเพียงสินค้าตัวใหม่ และโปรโมชั่น
2. มีสินค้าสำหรับทดลอง?
ลูกค้าที่ได้ทดลองใช้สินค้าก่อนซื้อมีแนวโน้มในการตัดสินใจซื้อมากกว่าลูกค้าที่ไม่ได้ทดลองสินค้า ทั้งนี้การให้ลูกค้าได้ทดลองใช้สินค้าถือเป็นข้อดี เพราะลูกค้าจะแนะนำถึงจุดเด่นและจุดด้อยของสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุง พัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น และทำให้สินค้าออกมาตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า และแม้ว่าการนำสินค้าออกมาให้ทดลองใช้ฟรีๆ นั้น ผู้ประกอบการหลายรายอาจมองว่า เป็นการสูญเงินโดยใช่เหตุ แต่กระนั้นก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะหลังจากลูกค้าได้ทดลองใช้แล้ว พวกเขาจะเกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้าด้วย
3. สินค้าเป็นที่จดจำ?
เมื่อสินค้าเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากลูกค้าแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การตอกย้ำภาพสินค้าให้ชัด อาจเลือกวิธีโพสต์ภาพและข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้านั้นซ้ำๆ เพื่อให้ลูกค้าจดจำสินค้าได้ และรู้สึกว่าสินค้านั้นได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม อย่ากระหน่ำโพสต์จนลืมดูแฟลตฟอร์มของสื่อออนไลน์ที่ใช้ เพราะสื่อออนไลน์แต่ละชนิดมีแฟลตฟอร์มการใช้งานที่ต่างกันไป เช่น อินสตาแกรมเน้นใช้ภาพถ่ายเป็นหลัก ในขณะที่เฟซบุ๊กสามารถโพสต์ทั้งข้อความและรูปภาพได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)