Text : กองบรรณาธิการ
ในยุคที่โซเชียล มีเดีย ทรงพลังช่วยกระจายการสื่อสารแบบ word of mouth ได้อย่างรวดเร็ว แบบไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหา ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นทั้งเครื่องมือในการทำธุรกิจเพื่อขายและโปรโมทสินค้า โดยหลายคนเมื่อโพสต์อะไรไปแล้วก็รอดูจำนวนคนไลก์ คนแชร์ เพราะคิดว่านั่นคือการโปรโมทไปแล้ว แต่อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เราโพสต์ไปนั้นจะมีคนเห็นสักกี่คน และจะโดนใจใครสักกี่คน เพราะหากเนื้อหาสิ่งที่โพสต์ไม่เป็นที่ต้องตาถูกใจแล้วล่ะก็ อย่าได้หวังว่าจะมีใครมาอ่านมาไลก์ ดังนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้เนื้อหาสิ่งที่โพสต์ถูกใจและกระจายออกไปให้มากที่สุด ?
เริ่มต้นที่แบรนด์
“การสร้างแบรนด์คือจุดเริ่มต้น ส่วนออนไลน์คือช่องทางของดิจิทัล ฉะนั้น ก่อนไปถึงดิจิทัลออนไลน์ หรือการทำมาร์เก็ตติ้งผ่านดิจิทัล ก็ควรที่จะมีแบรนดดิ้งที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เขาอยากได้อะไรจากเรา บางทีเห็นสินค้าคนอื่นขายดี ก็อยากทำบ้าง จนลืมดูว่าจริงๆ แล้วอะไรคือตัวเขากันแน่ เพราะแบรนดิ้งก็เปรียบเสมือนมนุษย์ ที่ต้องการความสำเร็จเหมือนกัน ซึ่งความสำเร็จตรงนี้สามารถส่งต่อไปยังลูกค้าได้”
ด้วยเหตุนี้ สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย แห่ง The Brand Matters Bangkok จึงบอกว่าแบรนด์ที่ดีจึงควรที่จะมีดีเอ็นเอเดียวกับเจ้าของธุรกิจ เพราะถ้าเป็นเจ้าของแบรนด์ แต่แบรนด์ไม่ใช่ตัวเรา ก็จะไม่เข้าใจแบรนด์ตัวเองอย่างถ่องแท้ โดยสุวิทย์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจและสร้างแบรนด์ว่า ประการแรก ต้องรู้จักวิเคราะห์ตัวเองให้เป็น พร้อมกันนั้นก็ต้องอย่าลืมที่จะชำเลืองมองคนอื่นด้วย เพราะถ้าทำโดยไม่สนใจโลกภายนอก ก็จะไม่มีคำว่าสำเร็จ ประการถัดมา จะทำธุรกิจอะไรก็ตาม จะต้องทำจากความสามารถของตัวเอง เพราะถ้าแบรนด์ไม่มีความสามารถแต่อาศัยไปยืมจมูกคนอื่นก็จะไม่มีวันสำเร็จเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดผ่านออนไลน์หรือออฟไลน์ควรจะสื่อสารความเป็นแบรนด์ออกเหมือนกัน ความหมายเดียวกัน เพียงแต่อาจจะแตกต่างกันที่สำนวน และที่สำคัญควรจะต้องเรียนรู้นิสัยใจคอของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายด้วยว่าคือใคร มีพฤติกรรมอย่างไร และเขาคุยอะไรกัน เพื่อที่จะได้สื่อสารและทำแบรนด์คอนเทนต์ได้ตรง
“ความสำเร็จของการทำแบรนด์คอนเทนต์ ก็จะต้องเริ่มต้นที่แบรนด์ก่อน จะสังเกตเห็นว่าบางคนทำคอนเทนต์แบบนี้แล้วประสบความสำเร็จ ก็พยายามจะทำคอนเทนต์แบบนั้นบ้าง โดยลืมที่จะสร้างแบรนด์ พอแบรนด์ไม่ชัดอย่างมากก็ได้แค่คนมากดไลก์ บางคนมองว่าควรจะทำคอนเทนต์ให้ดังๆ ก่อน เพื่อจะได้ขายของได้เร็ว แล้วก็รีบจบ แล้วเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ อย่างนี้ก็จะไม่มีความยั่งยืนทั้งในแง่การทำธุรกิจและการสร้างแบรนด์ในระยะยาว”
สร้างแบรนด์คอนเทนต์
สำหรับการทำแบรนด์คอนเทนต์นั้น ดร.เอกสิทธิ์ เทียมแก้ว กล่าวว่า “เรื่องดิจิทัลคอนเทนต์ คนมักเข้าใจว่าเนื้อหาต้องดีมาก แต่จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งอยู่ที่ที่เราเอาคอนเทนต์ไปปล่อย สไตล์ และช่วงเวลาการปล่อยด้วย เช่น เฟซบุ๊กที่เหมาะกับการปล่อยคอนเทนต์ที่เป็นสินค้าผู้หญิง คือช่วง 2-4 ทุ่ม หรือบางคนที่ไม่ต้องการเสียเงินเยอะ แต่อยากให้มีอิมแพคก็เข้าไปปล่อยในพันธุ์ทิพแบบเนียนๆ หรือบางทีการปล่อยคอนเทนต์ ก็เริ่มจากเชิงลบไปก่อนให้เป็นไวรัล แล้วค่อยดึงเข้ามาหาแบรนด์ หากสังเกตจะเห็นว่าคอนเทนต์ที่น่าสนใจมักจะขึ้นหัวข้อ รูปที่น่าสนใจ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร คนก็จะคลิกเข้าไปดู ก็จะเป็นแนวนี้ค่อนข้างเยอะ”
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบกันดีเนื่องจากมีคนเล่นเฟซบุ๊กจำนวนมาก ดังนั้น คอนเทนต์ในเฟซบุ๊กจึงมีจำนวนมากตามไปด้วย ซึ่งเมื่อมีคอนเทนต์มากๆ พฤติกรรมของคนเวลาอ่านคอนเทนต์ในเฟซบุ๊ก ก็คือจะสแกนไปเรื่อยๆ แล้วจะหยุดเลื่อนเมื่อเจอคอนเทนต์ที่น่าสนใจจริงๆ หรือไม่ก็หยุดเมื่อคอนเทนต์นั้นเกี่ยวกับตัวเขา ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คอนเทนต์ให้ถูกใจ
การทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ ง่ายๆ คือทำคอนเทนต์ที่โฟกัสไปที่ลูกค้าเรา ให้เกี่ยวกับเขาที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องมีควมสม่ำเสมอ ไม่หายนานเกินไป เพราะถ้าหายนานเกินไปเขาก็จะลืม นอกจากนี้ ต้องมีกลยุทธ์ในการใช้เครื่องมือให้เป็น ลูกค้าอยู่ที่ไหนเราต้องอยู่ที่นั่น เวลานี้เขาทำอะไรเราต้องไปที่นั่น
เช่น ถ้าลูกค้าเป็นผู้ชายๆ จะไม่ค่อยเล่นอินสตาแกรม ก็ไม่ต้องเน้นอินสตาแกรมก็ได้ ก็ต้องรู้จักเลือกเครื่องมือไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อิสตาแกรม หรืออื่นๆ ให้ตรงกับลูกค้าด้วย ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งความเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องอาศัยตัวบุคคลกินเอง โชว์เอง ใช้การรีวิว ถ่ายรูปการส่งของ หรือรูปลูกค้า เพราะลูกค้าจะเชื่อใจต่อเมื่อเห็นภาพว่ามีคนซื้อ พอเริ่มเชื่อใจกันก็ซื้อกันไป สิ่งที่เจ้าของแบรนด์ต้องทำคือจะทำยังไงก็ได้ที่จะดึงเขาให้อยู่กับเราได้นานที่สุด ก็ต้องมีกลยุทธ์การตลาด มีโปรโมชั่น มีตัวแทนจำหน่ายจำหน่ายเพื่อกระตุ้นยอดขายเหมือนออฟไลน์ แต่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการกระจายสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อดึงคนเข้ามา
ที่สำคัญ ดร.เอกสิทธิ์ แนะนำว่าหัวใจของการทำคือต้องลงมือทำเลย เพราะการเริ่มต้นบนออนไลน์นั้นใช้งบน้อยกว่าเริ่มได้ง่ายกว่า และเมื่อเริ่มต้นทำแล้วต้องมีต้องสม่ำเสมอให้ลูกค้าเห็นตลอดเวลา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)