“เทศกาลกินเจ” กลับมาอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ถึง 21 ตุลาคม 2558 คาดว่าบรรยากาศการกินเจในพื้นที่กรุงเทพฯ น่าจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกับทุกๆ ปี
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจะสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ยังสามารถปรับตัวได้ เพราะการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่เน้นด้านอาหารและเครื่องดื่มเจเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคก็มีการใช้จ่ายเป็นประจำอยู่แล้วในช่วงวันปกติ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจากอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่เจมาเป็นเจ
ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงตลาดผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจในปีนี้ นอกเหนือจากผู้บริโภคกลุ่มดั้งเดิมที่รับประทานอาหารเจเป็นประจำและตั้งใจถือศีลกินเจในช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ยังมีกลุ่มผู้บริโภคเจรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานต้นๆ หันมาให้ความสนใจกินเจกันมากขึ้น
โดยมีแรงจูงใจสำคัญมาจากการตั้งใจกินเจเพื่อสุขภาพ หรือให้การตอบรับกับอาหารเชิงสุขภาพ/อาหารคลีน (Clean Food) ซึ่งเป็นเทรนด์การบริโภคที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมสำหรับคนรักสุขภาพในปีนี้เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการกินเจตามกระแสเทศกาล ที่ได้รับแรงหนุนจากคนใกล้ตัว
ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลกินเจนั้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคเจรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 20-39 ปี โดยจัดอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ซึ่งมีจำนวนกว่า 1 ล้านคนในกรุงเทพฯ
กลุ่มนี้สนใจกินเจเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากความนิยมบริโภคอาหารเชิงสุขภาพ/ อาหารคลีนที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนักแสดงหรือผู้มีชื่อเสียงด้านการดูแลสุขภาพและออกกำลังกาย อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่สนใจกินเจตามกระแสเทศกาล (ส่วนใหญ่ตั้งใจรับประทานบางมื้อ เฉลี่ยอย่างน้อย 3-4 วันจาก 9 วัน) ซึ่งได้รับแรงหนุนหรือการชักชวนจากคนใกล้ตัว ครอบครัว/เพื่อนฝูง
โดยรูปแบบการบริโภคของกลุ่มนี้ จะเน้นเรื่องความสะดวกในการรับประทานมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น การรับประทานอาหารเจที่ร้านอาหาร จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะร้านอาหารที่อยู่ใกล้สถานที่ทำงานและสถานศึกษา รองลงมาคือ การซื้ออาหารเจสำเร็จรูปจากร้านอาหารมารับประทานที่บ้าน และซื้ออาหารเจแบบตักขายข้างทาง ตามลำดับ โดยมีเมนูยอดฮิตได้แก่ ข้าวราดแกง เมนูประเภทเส้นและเมนูของทอดเจต่างๆ ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เป็นที่สังเกตว่า ในปีนี้เมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ก็เริ่มเป็นทางเลือกใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคให้การตอบรับมากขึ้น โดยพิจารณาถึงส่วนประกอบในอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงอาหารเจแนวสุขภาพ อาหารคลีน (สูตรเจ) หรือเมนูอาหารเจที่ไม่มัน หรือมีส่วนประกอบจากแป้งที่ไม่มากเกินไป โดยจะเน้นไปที่คุณค่าทางอาหารที่ร่างกายได้รับ จำนวนแคลอรี่ หรือกรรมวิธีการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เพื่อให้ดีต่อสุขภาพและช่วยควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมไปในตัว เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ควรวางแผนและปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดรับกับความต้องการที่เกิดขึ้นทั้งกลุ่มตลาดเดิม และกลุ่มที่มาแรงอย่างผู้บริโภคเจรุ่นใหม่ ซึ่งมีความเต็มใจที่จะจ่ายค่อนข้างสูง และคาดว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาผลักดันให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า
เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ 79 ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่าอยากให้มีเมนูอาหารเจนอกเทศกาลมากขึ้น ดังนั้น โอกาสทางธุรกิจไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ แต่อาจจะรวมไปถึงช่วงเวลาอื่นๆ ด้วยเช่น วันพระ วันเกิด หรือช่วงเวลาที่สะดวกตลอดทั้งปี (ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจากสูตรเจ เป็นสูตรมังสวิรัติหรืออาหารคลีนตามความสะดวก)
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 2558 จะมีค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารและเครื่องดื่มเจของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเม็ดเงินสะพัดกว่า 4,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.5 (YoY) หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 270 บาท/คน/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 240 บาท/คน/วัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)