Text: Neung Cch.
การได้เห็นสินค้าของตัวเองได้วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำคงเป็นความใฝ่ฝันของผู้ประกอบการหลายๆ คน แต่การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน
ทำไมต้อง Modern Trade?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไม Modern Trade ถึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ
- เข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก: ด้วยจำนวนสาขาของ Modern Trade ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายและมีกำลังซื้อสูงจึงสร้างโอกาสทางการค้าได้
- สร้างความน่าเชื่อถือ: ด้วยภาพลักษณ์ Modern Trade การที่สินค้าได้เข้าไปจำหน่ายในนั้นย่อมจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
- ช่วยขยายตลาดและเพิ่มยอดขายได้อย่างรวดเร็ว
เปิดหมดเปลือก ความลับจากวงใน
จากกิจกรรม Big Match โดยคณะกรรมการจับคู่ธุรกิจ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมตัวแทนจากโมเดิร์นเทรดมาเปิดเผยข้อมูลในเสวนา “Pain Point การพัฒนาสินค้าเขา Modern Trade ความท้าทาย โอกาส และ กลยุทธพัฒนาผู้ประกอบการและเกษตรกรในอนาคต” สรุปได้ดังนี้
1. ของต้องมี ถ้าไม่อยากถูกปัดตกแต่แรก
- เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เช่น มาตรฐานอย.
- ความอดทน ใจสู้
- ความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้า
“โมเดิร์นเทรดทุกรายหวังดีต่อท่าน การที่โมเดิร์นเทรดเข้มงวดเหมือนกับเป็นการช่วยพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานตรงความต้องการตลาด เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นขอให้ผู้ประกอบการอย่าได้ท้อ” สกล เตชะสถาพร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกด (มหาชน)
2. สิ่งที่ Modern Trade มองหา
- สินค้าที่ขายได้เร็ว เนื่องจากทางโมเดิร์นเทรดเองต้องบริหาร Shelf ให้ productivity มากที่สุด ฉะนั้นสินค้าที่วางบน shelf จะต้องสามารถขายได้ไว
- สินค้าที่มีความโดดเด่น ถ้าสินเหมือนกันเหมือนบังคับให้ผู้บริโภคเลือกซื้อของแต่ตัวเดิมๆ ฉะนั้นสินค้าที่จะเข้าไปขายต้องมีความต่าง ซึ่งความต่างในที่นี้สามารถต่างได้ทั้งในแง่ คุณสมบัติ คุณลักษณะ แพ็กเกจจิ้ง ฯลฯ
- สินค้าเข้ากับกลุ่มลูกค้าของ Modern Trade เช่น ถ้าอยากขายสินค้าในแม็กโครต้องขายเป็นแพ็ก ต้องบรรจุสินค้าเป็นขนาดครึ่งโหล หนึ่งโหล เป็นต้น
- ความสามารถในการผลิตที่สม่ำเสมอ สามารถส่งของให้สินค้าได้ในเวลาและจำนวนตามที่ตกลง
- บรรจุภัณฑ์ที่เจ๋ง ต้องขายตัวเองได้ บางทีสินค้าดีๆ จุดขายดีแล้ว แต่ถ้าสินค้าไม่สามารถดึงดูดคนก็ลำบาก การที่สินค้าต้องไปวางเรียงรายโดยไม่มีคนทำหน้าที่แนะนำหรือเชียร์สินค้าก็อาจทำให้ผู้บริโภคมองข้ามไป
“Buyer ของโมเดิร์นเทรดไม่ได้พิจารณาสินค้าจากเรื่องราคาถูกหรือแพงเท่านั้น แต่ยังมองหาสินค้าที่มี value ให้ผู้บริโภคได้ด้วย สินค้าบางอย่างราคาสูงแต่ขายได้ดี เพราะมี value บางอย่างที่ผู้บริโภครับได้ ไม่แนะนำแข่งเรื่องราคา” ศิริพร เดชสิงห์ ตัวแทนจาก บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)
3. สิ่งที่พาผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จ
- ทำ Market Research อาจทำได้ง่าย เช่น ลงพื้นที่สำรวจจุดขาย วิเคราะห์คู่แข่ง ทั้งเรื่องราคาสินค้า และตัวสินค้า
- แบ่งงบสำหรับทำการตลาด
- คำนวณต้นทุน ให้เหมาะกับราคาสินค้า
- สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีคงไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว การมีพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบ หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าจะช่วยทำให้สินค้าเข้มแข็งขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้ในการเข้าโมเดิร์นเทรดคือ การได้ทำตลาดใหญ่ขึ้น อยากให้ผู้ประกอบการเตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งสำหรับทำมาร์เก็ตติ้งเพิ่มเติมจากที่เคยทำมา เช่น การจัดบูธแนะนำสินค้า เพื่อให้อย่างน้อยสินค้าเป็นที่รู้จักในซุปเปอร์มาร์เก็ต” เกิรกชัย อัศววิภาพันธ์ ตัวแทนจาก บริษัทเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี