TEXT : Sir.min
ตั้งแต่บริการธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นมาก เรามักได้เห็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไปจนถึงความพยายามในการคิดค้นรูปแบบการขนส่ง เพื่อนำสินค้าไปส่งให้ถึงมือลูกค้าได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ล่าสุดใครจะคิด แม้แต่บนกำแพงเมืองจีนที่ยาวกว่า 20,000 กม. ที่มีความสูงเทียบเท่ากับภูเขาลูกหนึ่งดีๆ นี่เอง แต่เมื่อต้องการ น้ำสักขวด หรือขนมสักห่อ เพียงแค่จิ้มกดสั่งผ่านมือถือ ก็มีบริการเดลิเวอรี่ไปส่งให้ได้! ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แถมจ่ายค่าบริการเพียงชิ้นละไม่กี่สิบบาท
การให้บริการดังกล่าวเกิดขึ้น โดย Meituan (เหม่ยถวน) แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารยอดนิยมของจีน ได้เปิดตัวบริการโดรนส่งอาหารขึ้นครั้งแรกในกรุงปักกิ่ง เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อจัดส่งอาหารเครื่องดื่มให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมกำแพงเมืองจีน โดยตั้งจุดเซ็นตอร์ในการรับ-ส่งสินค้าอยู่ที่ “ด่านปาต้าหลิง” จุดท่องเที่ยวชมวิวกำแพงเมืองจีนยอดนิยมเริ่มเปิดให้เข้าชมเมื่อปลายปี 2566 เพื่อช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่อาจเตรียมเสบียงไปไม่พอ เช่น น้ำดื่ม เป็นต้น
รู้ไหม?
อาหารเดลิเวอรีเกิดขึ้นจริงๆ ครั้งแรกในปี 2432 เมื่อกษัตริย์ (King Umberto I) และราชินีแห่งอิตาลีเสด็จไปยังเนเปิลส์ และไม่ค่อยถูกพระทัยอาหารท้องถิ่นนัก จึงมีกระแสรับสั่งให้ Raffaele Esposito เชฟชาวบ้านทำขนมปัง ทำพิซซ่าหน้าหนึ่งมาส่งถวายให้ ที่มา : Timeless History
กระบวนการทำงาน คือ นักท่องเที่ยวสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อสั่งสินค้าที่ต้องการ เช่น น้ำดื่ม, ขนมขบเคี้ยว, อาหารมื้อเบาๆ, ร่มกันแดด, เวชภัณฑ์ ยาฉุกเฉินได้ โดยสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 2.3 กิโลกรัม โดยหลังจากมีการสั่งออร์เดอร์และชำระเงินเข้ามาเรียบร้อยแล้ว พนักงานของ Meituan จะไปรับสินค้าจากร้านค้าใกล้เคียงและนำขึ้นไปส่งที่ดาดฟ้าของโรงแรมที่อยู่บริเวณใกล้ๆ เพื่อชั่งน้ำหนักและบรรจุหีบห่อ โดยใช้ระยะเวลาในการบินเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้นก็ถึงยังเป้าหมาย ขณะที่หากเป็นการเดินเท้าขึ้นมาต้องใช้เวลาถึง 50 นาทีทีเดียว
โดยค่าบริการในการจัดส่งอยู่ที่ 4 หยวน (56 เซ็นต์) หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราว 20 บาทต่อครั้งเท่านั้น! แทบไม่ต่างจากราคาการให้บริการส่งอาหารบนท้องถนนทั่วไปจากแพลตฟอร์มเลย นอกจากนี้ขากลับยังช่วยลำเลียงขยะจากบนกำแพงเมืองจีนกลับลงมาให้ด้วย ซึ่งอนาคตอาจขยายบริการส่งของใช้จำเป็นให้กับนักเดินทางที่ชอบปีนป่ายเขาสูงลูกต่างๆ ก็เป็นได้
มีการกล่าวว่า การขนส่งทางอากาศโดยโดรน ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ” ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การทำการค้าที่เกิดขึ้นในน่านฟ้าที่อยู่เหนือพื้นผิวโลก 0.6 ไมล์ กำลังได้รับความนิยมและเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน
โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจการบินระดับต่ำนี้ อาจสร้างมูลค่าให้กับจีนกว่า 279 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 (ตามรายงานของสำนักข่าว Reuters) ทั้งโดรนส่งของที่ขับเคลื่อนโดยไร้คนขับ และแท็กซี่ทางอากาศเชิงพาณิชย์ที่มีลูกเรือ ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไร เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกโดรนสำหรับผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่แล้ว โดยสำนักข่าว SCMP (South China Morning Post) รายงานว่า ณ เดือนมิถุนายนของปีนี้ มีอากาศยานไร้คนขับที่จดทะเบียนในประเทศจีน 1.87 ล้านคัน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน
รู้ไหม?
กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน และหน่วยงานอื่นๆ อีก 3 แห่ง เผยว่าในปี 2030 โดรนจะถูกหลอมรวมเข้าสู่วิถีการผลิตและวิถีชีวิตแทบทุกมิติของคนจีนอย่างเต็มรูปแบบ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ และตลาดมีขนาดใหญ่ถึงระดับล้านล้านหยวน ที่มา : www.xinhuathai.com
โดยบริการขนส่งโดยโดรนขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศจีนเมื่อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง เริ่มจากปี 2559 ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง JD ได้เปิดตัวทดลองการใช้เครื่องบินไร้คนขับชื่อ “UAV” ขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับการขนส่งในเขตชนบท โดยโดรนดังกล่าวสามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงสุด 15 กิโลกรัม บินในระยะทางสูงสุด 20 กิโลเมตร ทำให้ช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งโดยรถยนต์บนถนนภูเขาที่คดเคี้ยวจาก 4 ชั่วโมงเหลือเพียงไม่ถึง 20 นาทีได้ ตามที่สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานไว้ในตอนนั้น
ขณะที่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา SCMP รายงานเพิ่มเติมว่าบริษัทโดรน Phoenix Wings ได้เริ่มเส้นทางขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ด้วยโดรน เพื่อเร่งการจัดส่งสินค้าระหว่างเซินเจิ้นและจงซาน ซึ่งเป็นเส้นทางยาว 43 ไมล์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน บริการจัดส่งดังกล่าวยังมีราคาประหยัด โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 5.60 ดอลล่าสหรัฐฯ ต่อหนึ่งคำสั่งซื้อ และสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 45 นาที ช่วยลดระยะเวลาในการจัดส่งได้เกือบหนึ่งชั่วโมง
จะเห็นได้ว่ารูปแบบการให้บริการดังกล่าว ไม่ได้อาศัยเพียงแค่การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่สุดล้ำมาใช้เท่านั้น แต่ต้องอาศัยการวางระบบและบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างเหมาะสม เกิดความสะดวกรวดเร็วและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคได้ด้วย จึงจะเกิดความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : https://edition.cnn.com/2024/08/22/tech/china-drone-delivery-great-wall-intl-hnk/index.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี