สุทธิพงษ์ สุริยะ karb@karbstyle.com
จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งคลุกคลีอยู่กับแวดวงอาหาร วัตถุดิบ เชฟและเปิดสตูดิโออาหารเพื่อให้คำปรึกษารับออกแบบสร้างภาพลักษณ์และแบรนดิ้งให้กับธุรกิจอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมายนับสิบกว่าปี สิ่งหนึ่งที่ผู้คนในโลกของวงการอาหารได้เรียนรู้และเข้าใจกฏกติกามาตรฐานสากลซึ่งยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมา นั่นก็คือคำว่า Fresh&Simple
สองคำนี้ฟังดูอาจจะแสนธรรมดา แต่มีความหมายลึกซึ้งกินใจเพราะเรื่องของอาหารไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน อาทิ เมนูในจานอาหาร งานออกแบบ บรรจุภัณฑ์หรือภาพอาหารที่ปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เราจะนำเสนอให้เข้าถึงความสดใหม่ตามปรัชญาของเชฟคือ เลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ อาหารจึงจะอร่อย ขณะเดียวกันการสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้จะต้องเรียบง่าย แต่ได้อารมณ์เข้าถึงแก่นและสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดีด้วย นิยามเรียบหรู ดูคลาสสิก หรือ ‘เรียบ...แต่ไม่ง่าย’ เราจะต้องนำเอาทั้ง 2 ความหมายนี้คือ ความสดใหม่กับความเรียบง่าย มาผนวกเข้ากับอาหารซึ่งเป็นแนวคิดของสากลได้อย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ได้ประสบและเคยเห็นมาซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ถูกมองข้ามไปก็คือ ส่วนมากจะไม่วิเคราะห์ตามคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าเป็นเช่นไร สีสัน รูปทรงหรือผิวสัมผัสที่เป็นแก่นแท้ของวัตถุดิบอาหารนั้นๆ เพื่อหาจุดเด่นแล้วนำมาสร้างเป็นเครื่องมือในการออกแบบธีมรวมของงาน
โดยยกตัวอย่างลูกค้ากลุ่ม บริษัท กมลกิจ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในบทบาทผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ของประเทศเพื่อไปจำหน่ายยังตลาดทั่วโลก ได้ให้ทางขาบสตูดิโอเป็นผู้ออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับลงโฆษณาครบรอบ 5 ปี ของนิตยสารข้าวไทยและไดอารี่ประจำปีของ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งในรูปแบบของการลงโฆษณา เราจะสร้างสรรค์ให้เกิดการสื่อสารการตลาดและแบรนด์ให้โดดเด่นได้อย่างไร
ตามปกตินิตยสารข้าวไทยเล่มครบรอบปี ก็จะมีสปอนเซอร์ผู้ผลิตข้าวในประเทศไทยลงโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์บริษัทของตนเองให้เป็นที่รับรู้สู่สาธารณะ แต่ละรายก็จะสร้างสรรค์ชิ้นงานอย่างสุดฝีมือ แต่พอหน้าโฆษณามาอยู่รวมกันเยอะๆแล้ว ก็จะทำให้ความโดดเด่นลดน้อยลงไปเพราะมีองค์ประกอบสีสันการดีไซน์ตามคอนเซ็ปต่างๆและจินตนาการของแต่ละบริษัทนั่นเอง
สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงและนำมาพิจารณาคือ ในท่ามกลางความหลากหลายของหน้าโฆษณาเหล่านี้ เราจะส่งความเป็นอัตลักษณ์ออกมาได้อย่างไร นั่นก็แปลว่าควรนำเอาหลักคิดตามมาตรฐานสากลของการออกแบบอาหารมาใช้ด้วยทุกครั้ง Simple Style เพื่อให้งานออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์หน้าโฆษณาสวยงามลงตัว เน้นความเรียบง่าย โก้ แฝงไว้ด้วยรสนิยมที่ดูคลาสสิกอย่างแท้จริง นั่นก็คือ เรียนรู้การจับคู่สีสากลว่าสีอะไรควรคู่กับสีอะไร เพื่อให้อารมณ์ของธีมงานโดยรวม เมื่อแล้วเสร็จจะมากไปด้วยสไตล์ ดูเมื่อไรก็ไม่เบื่อนั่นเอง
เราจะต้องวิเคราะห์เพื่อให้ตกผลึกทางความคิดมาตรฐานเดียวกับสากล ซึ่งพระเอกของงานในที่นี้คือ ข้าวนึ่งมีลักษณะจะเป็นสีขาวออกนวลจับคู่กับสีเขียวพาสเทลของถ้วยชาม ซึ่งเป็นสีธรรมชาติสื่อถึงที่มาของข้าวนั่นเอง ขณะเดียวกันสีเขียวก็นำมาจับคู่สีสากลได้กับสีน้ำตาลของเขียงและช้อนไม้คลาสสิก สรุปแล้วงานออกแบบชิ้นนี้เกิดจากวิเคราะห์ตัวของผลิตภัณฑ์ให้ได้และขับเคลื่อนนำส่งให้สอดคล้องกับสิ่งอื่นๆที่จะมากระทบ
เราจับประเด็นของธีมสีโดยรวมในการออกแบบได้ 3 สีด้วยกัน คือ ขาว เขียว น้ำตาล จากนั้นจึงเป็นที่มาของการนำเอาอุปกรณ์ข้าวของสีดังกล่าวมาใช้สำหรับถ่ายภาพต่อไป หลังจากที่ได้รูปภาพแล้วก็จะนำมาออกแบบ เลือกใช้แนวคิดความเรียบง่าย คลาสสิกมากำหนดงานให้อยู่ในคอนเซ็ป
ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าให้กับข้าวไทยในเชิงของแนวคิด จิตวิญญาณในการดำรงชีพของผู้คนที่เติบโตมาจากปัจจัยขั้นพื้นฐานเดียวกันนั่นคือ การบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก พยายามสื่อสารให้เห็นถึงการใส่ใจในรายละเอียดของอุปกรณ์ทุกชนิด ให้สอดคล้องกันเพื่อสื่อความพิเศษของชิ้นงานว่าได้ผ่านกระบวนการคิดมาเป็นอย่างดีจนเข้าถึงแก่นของงานได้อย่างถ่องแท้
ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้ ฟังดูเหมือนจะง่ายแต่ทุกสิ่งอย่างล้วนกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี ฉะนั้นไม่ว่านิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดใดจะเชิญชวนให้ลงโฆษณาในวาระครบรอบปีของนิตยสาร เราก็ควรจะทำการบ้านเพื่อสร้างการจดจำแบรนด์ให้เกิดขึ้นในระยะยาวให้มีความพิเศษและสมบูรณ์แบบด้วยตัวเอง
ฉะนั้นการที่เราได้ออกแบบงานในลักษณะเช่นนี้ก็ย่อมทำให้ผลงานเป็นที่ประจักษ์และกล่าวขานได้ถึงความใส่ใจ คิดอย่างมีตรรกะและปรัชญาแฝงไว้ จะว่าไปแล้วก็คล้ายกันกับงานปีใหม่ ผู้คนจำนวนมากพากันฉลองงานรื่นเริง แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เข้าวัดเพื่อสวดมนต์ ในท่ามกลางความวุ่นวายก็มักจะมีความเงียบสงบซุกซ่อนอาไว้อยู่เสมอ เพราะสุดท้ายแล้วความงามที่เป็นอมตะก็คือความเรียบง่ายและการปล่อยวางนั่นเอง
www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)