5 รูปแบบการตั้งราคาธุรกิจบริการ แบบไหนเหมาะกับคุณมากที่สุด

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • การตั้งราคาในธุรกิจบริการ อาจมีความแตกต่างจากธุรกิจจำหน่ายสินค้าทั่วไปที่มีสิ่งของให้จับต้องได้

 

  • หลายธุรกิจจึงมักตั้งราคาแบบเหมาจ่ายบ้าง บ้างก็ตั้งตามจำนวนครั้งที่เข้าใช้งาน แล้วแบบไหนที่เหมาะกับธุรกิจคุณกันแน่

 

  • ชวนมาดู 5 ประเภทการคิดราคาแพ็กเกจตามการใช้บริการ มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

 

     ศาสตร์แห่งการตั้งราคา ไม่ได้มีแค่ ถูก หรือ แพง ตั้งแบบไหนให้โดนใจลูกค้า ให้ได้กำไรเยอะ แต่ยังรูปแบบการตั้งราคาหลายแบบให้เลือก โดยเฉพาะในธุรกิจบริการที่ไม่มีตัวสินค้าออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าจับต้องได้ เช่น ฟิตเนส, สปา, โรงเรียนสอนภาษา ฯลฯ จริงๆ แล้วเราควรตั้งราคาแบบใดกันแน่ แพ็กเกจแบบไหนที่จะเหมาะกับความต้องการใช้งานของลูกค้า แต่ละอย่างมีข้อดี ข้อเสียยังไง

     **รูปแบบการตั้งราคาสินค้า = ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย + ลักษณะการใช้งาน

  • ราคาเหมาจ่าย

 

     เป็นรูปแบบการกำหนดราคาที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะไม่ว่าใช้น้อย หรือใช้มาก ก็จ่ายราคาเดียวกัน เป็นการคิดราคาแบบถัวเฉลี่ย แต่ข้อเสียของการคิดราคาแบบนี้ ก็คือ ลูกค้าที่ใช้งานบ่อย หรือใช้งานจำนวนมากอาจรู้สึกคุ้มค่า แต่สำหรับลูกค้าที่ใช้น้อย หรือเรียกว่าใช้น้อยกว่าที่ต้องจ่าย จะรู้สึกว่าแพงเกินไป ราคาแบบเหมาจ่ายจึงใช้ได้ดีกับลูกค้าที่มีการใช้งานจำนวนเยอะมากกว่า

  • ราคาจ่ายตามการใช้งานจริง

 

     การคิดราคารูปแบบนี้ เรียกว่าแฟร์ทั้งสำหรับลูกค้าและธุรกิจ เพราะใช้เท่าไหร่ ก็จ่ายเท่านั้น ทำให้ลูกค้าใหม่ๆ กล้าเข้ามาทดลองใช้บริการมากขึ้น ลูกค้ารู้สึกว่าสามารถควบคุมเงินที่ต้องจ่ายได้ ไม่มีภาระผูกพันล่วงหน้า แต่ข้อเสียของการคิดราคารูปแบบนี้ ก็คือ เมื่อลูกค้าเกิดติดใจ จนอยากเป็นลูกค้าประจำของคุณแล้ว หรือต้องการเข้ามาใช้บริการบ่อยมากขึ้น อาจต้องจ่ายแพงขึ้นตามการใช้งาน ทั้งที่น่าจะได้ส่วนลด หรือสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นกว่าลูกค้าที่ใช้งานน้อย รวมถึงทำให้ไม่สามารถคาดเดารายได้ที่เข้ามาแต่ละเดือนได้ด้วย

  • คิดราคาตามขั้นบันได

 

     เป็นอีกวิธีที่ดี และเป็นทางเลือกอยู่ตรงกลางใช้ได้ทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ ลูกค้าที่ใช้งานเยอะและน้อย เพราะเป็นการผสมระหว่างการคิดราคาเหมาจ่าย+ราคาจ่ายตามการใช้งานจริงเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีการตั้งราคาเป็นขั้นบันได ผู้ใช้งานน้อยก็จ่ายเหมาน้อยกว่า ผู้ใช้งานเยอะก็จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นราคาโปรโมชั่นที่มีส่วนลด ไม่ได้คิดตามการใช้งานแบบเป๊ะๆ จึงเหมาะทั้งต่อลูกค้าที่ต้องการใช้งานแบบพรีเมียม หรือผู้ที่มีงบประมาณจำกัด

     แต่ข้อเสียของการคิดราคาแบบนี้ ก็คือ คุณอาจต้องยุ่งยากในระบบการจัดการสักหน่อย เพื่อแบ่งช่วงการใช้งานของลูกค้า และนำมาคิดโปรโมชั่นตามขั้นบันได การคาดเดารายได้ล่วงหน้าอาจทำได้ยากกว่า เพราะรายได้ผันผวนตามการใช้งาน โดยรูปแบบการคิดราคาแบบนี้อาจไม่ได้เหมาะเฉพาะธุรกิจที่ใช้บริการเท่านั้น แต่ยังสามารถดัดแปลงไปใช้กับธุรกิจขายปลีก-ส่ง ตามจำนวนที่ลูกค้าซื้อได้ด้วยเหมือนที่ห้างโมเดิร์นเทรดนิยมทำกัน เช่น ซื้อ 1 ชิ้น, 3 ชิ้น, 6 ชิ้น ราคาต่อชิ้นก็จะถูกลงและแตกต่างกันออกไป

  • คิดราคาต่อจำนวนผู้ใช้จริง

 

     การคิดราคาเช่นนี้ เป็นผลดีต่อผู้ใช้งานรายย่อยที่ใช้งานเพียงคนเดียว ไม่ได้มีการแชร์กับใคร จริงๆ แล้วรูปแบบก็คล้ายกับการจ่ายตามจริงตามการใช้งาน แต่ข้อดีสำหรับธุรกิจ ก็คือ วิธีนี้ทำให้ธุรกิจสามารถคาดเดารายได้ล่วงหน้าได้ตามจำนวนผู้ใช้งาน  เช่น มีผู้ใช้งาน 100 คน บริษัทก็จะมีรายได้จากผู้ใช้งาน 100 คน สำหรับฝั่งลูกค้าเอง ราคาก็ไม่แพงเท่ากับราคาเหมาจ่ายที่คนใช้เยอะใช้น้อยก็จ่ายเท่ากันด้วย

  • ราคาสมัครสมาชิก

 

     นับเป็นวิธีการตั้งราคาที่สุดยอดสำหรับธุรกิจเลย กับการที่จะมีรายได้เข้ามาประจำจากจำนวนสมาชิกหรือแฟนคลับที่มีอยู่ในมือ แถมได้ลูกค้าที่คอยให้การสนับสนุนแบรนด์ด้วย การกำหนดราคารูปแบบนี้ คุณจึงอาจต้องให้สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกสักหน่อยกับการที่เขายอมจ่ายรายได้ล่วงหน้าให้กับคุณเป็นเดือนๆ หรือเป็นปี จริงอยู่ว่าคุณอาจได้กำไรน้อยกว่าวิธีคิดราคารูปแบบอื่น แต่แลกกับรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวก็คุ้มกว่า และถึงจะได้รายได้หลักจากการใช้บริการน้อยกว่า แต่ในเมื่อมีสมาชิกประจำอยู่ในมือแล้ว คุณก็สามารถหารายได้เพิ่มจากบริการเสริมพิเศษอื่นๆ ได้ด้วย ดังนั้นธุรกิจใดสามารถมีสมาชิกอยู่ในมือได้ อย่าปล่อยให้หลุดลอยไป รักษาไว้ให้ดี เพราะพวกเขา คือ ฐานรายได้สำคัญของแบรนด์เลยทีเดียว

ที่มา : https://www.uschamber.com/co/start/strategy/types-of-pricing-models

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน