แกะรอย Boost Juice แบรนด์สมูทตี้เพื่อสุขภาพของอดีตพนักงานบริษัท ที่ปัจจุบันมีกว่า 640 สาขาทั่วโลก

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • Boost Juice แบรนด์เก่าแก่ที่กำเนิดขึ้นเมื่อ 23 ปีก่อน จากหญิงสาวที่ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย และไม่เคยบริหารธุรกิจ

 

  • ในวัย 32 ปีเมื่อเธอต้องเลี้ยงลูก 3 คน จึงอยากเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าลูกจ้าง

 

  • เธอและสามีจึงวางแผนธุรกิจที่ทุกอย่างเหมือนจะพร้อม ขาดอยู่อย่างเดียว ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อ

 

  • แต่ไม่มีอะไรหยุดยั้งพวกเขาได้ และแล้วในปี 2000 Boost Juice สาขาแรกก็ได้ฤกษ์เปิดบริการที่ออสเตรเลีย ก็ติดลมบน ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น

 

     ถ้าพูดถึงแบรนด์น้ำผักผลไม้ซึ่งได้รับความนิยมในบ้านเราชนิดที่ไม่ว่าสาขาไหนก็เห็นต่อคิวยาวแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้น Boost Juice บาร์สมูทตี้สัญชาติออสเตรเลีย ธุรกิจบาร์น้ำผลไม้มีมานานแล้วควบคู่กันมากับกระแสรักสุขภาพ และดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ว่าจะร้านเล็กหรือร้านแฟรนไชส์ หากเคยไปยืนดูคนขายหรือพนักงานจะเห็นว่าหลัก ๆ แล้วก็คือการนำผลไม้และผักมาปั่น หรือคั้นเพื่อให้ได้น้ำเท่านั้นเอง แต่อะไรที่ทำให้ Boost Juice โดดเด่นจากเจ้าอื่นจนทำให้สามารถขยายสาขาไป 640 แห่งในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก 

คุณแม่ลูก 3 ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ

     Boost Juice เป็นแบรนด์เก่าแก่ที่กำเนิดขึ้นเมื่อ 23 ปีก่อนโดยจานีน อัลลิส สตรีผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของออสเตรเลียทั้งที่ตอนเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ เธอเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือน เป็นแม่ของลูก ๆ ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย และไม่เคยบริหารธุรกิจใด ๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์เมื่อจานีนตัดสินใจทำธุรกิจบาร์สมูทตี้ก็เห็นจะเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการเดินสายทำงานในประเทศต่าง ๆ ช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น เช่น เป็นพี่เลี้ยงเด็กในฝรั่งเศส ทำงานส่งเสริมการขายในโปรตุเกส ทำงานในแคมป์ที่อเมริกา เป็นพนักงานต้อนรับบนเรือยอทช์เดวิด โบวี่ นักร้องชื่อดัง

     จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัวและมีลูก จานีนก็ยังทำงานเป็นพนักงานบริษัท อย่างไรก็ตาม ในวัย 32 ปีและกำลังเป็นแม่ลูกอ่อนเลี้ยงลูกคนที่ 3 เธอเริ่มไม่อยากเป็นลูกจ้างและอยากเป็นเจ้าของกิจการมากกว่า ปี 1999 จานีนและเจฟฟ์ อัลลีส สามีของเธอเดินทางไปสหรัฐฯ เมื่อปี 1999 และเธอก็สังเกตว่าน้ำผลไม้สดและสมูทตี้เป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายในหมู่คนอเมริกัน ขณะที่ในออสเตรเลีย ทางเลือกของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยังจำกัดเมื่อเทียบกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่พบเห็นได้มากกว่า

     เมื่อกลับมาถึงออสเตรเลีย จานีนและสามีได้เขียนแผนธุรกิจด้วยกัน และให้นักโภชนาการ และนักธรรมชาติบำบัดช่วยคิดเมนูน้ำผลไม้ และสมูทตี้ที่ไม่แต่งกลิ่น แต่งสี และปลอดสารกันเสีย ทุกอย่างเหมือนจะพร้อม ขาดอยู่อย่างเดียว ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อ สองสามีภรรยาลงทุนขายบ้านเพื่อนำเงินมาเริ่มต้นธุรกิจกิจ ไม่มีอะไรหยุดยั้งพวกเขาได้ และแล้วในปี 2000 Boost Juice สาขาแรกก็ได้ฤกษ์เปิดบริการที่เมืองแอดิเลด รัฐเซ้าท์ออสเตรเลียเพื่อเสิร์ฟเครื่องดื่มที่คัดสรรวัตถุดิบสดใหม่คุณภาพสูง และออกแบบมาให้มีความอร่อยและดีต่อสุขภาพ

     ไม่นาน Boost Juice ก็ติดลมบน ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น จากกิจการเล็ก ๆ ก็ขยับไปก่อตั้งบริษัท Retail Zoo อันเป็นบริษัทแม่ และแตกไลน์ไปยังธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่ แต่ธุรกิจหลักยังคงเป็น Boost Juice ที่แม้จะเน้นขยายสาขาด้วยการทำแฟรนไชส์ แต่ที่ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จนั้น เจฟฟ์ อัลลิส ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจกล่าวว่ามาจากปัจจัยหลักคือการใส่ใจ รับฟังความคิดเห็น และมอบประสบการณ์ดี ๆ ให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีต่อตัวเองที่ได้อุดหนุนสินค้าของแบรนด์

ขึ้นสู่แบรนด์สมูทตี้ท้อป 5 ระดับโลก

     จากแบรนด์ท้องถิ่นในออสเตรเลียที่สามารถสยายปีกไปยังต่างแดนกลายเป็นแบรนด์สมูทตี้ท้อป 5 ระดับโลก บทเรียนธุรกิจที่ได้จาก Boost Juice ประกอบด้วย

     1.ในการเริ่มต้นธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่หรือมีความเฉพาะอาจเป็นข้อได้เปรียบแต่ก็ไม่มีความจำเป็นเสมอไป แม้จะเป็นสินค้าและบริการประเภทเดียวกันที่มีดาษดื่นในตลาด แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การสร้างจุดขายหรือ Unique Selling Point (USP) ให้โดดเด่นจากคู่แข่งมากพอที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อ 

     2.สร้างแบรนด์ที่เห็นได้ชัดเจน มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ หนึ่งในนั้นคือภาษาของแบรนด์ที่มองเห็นได้ (visual brand language) นั่นคือการใช้องค์ประกอบการออกแบบโดยเจตนา ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ตัวอักษร การจัดวางและอื่น ๆ เช่น โลโก้ของ Boost Juice ที่เจตนาใช้สีสันสดใสมองเห็นเด่นชัดอย่างสีเขียว และสีส้มเพื่อสื่อถึงบุคลิกภาพของแบรนด์ว่าเป็นแบรนด์เพื่อสุขภาพที่มีความสนุกสนานและเปี่ยมด้วยพลัง  

     3.ทำการตลาดแบบหลากหลายและปรับตัว ใช้สื่อทุกช่องทาง ทั้งสื่อดั้งเดิมที่สื่อสารแบบทางเดียว (วิทยุ ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์) และสื่อใหม่ประเภทสื่อดิจิทัลที่ลูกค้าสามารถปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ได้ ถ้าสื่อใดสื่อหนึ่งไม่เวิร์กก็ต้องปรับตามการเปลี่ยนแปลงในสังคม และอย่าลืมกางปฏิทินวางแผนการตลาดล่วงหน้าว่าในแต่ละเดือนมีเทศกาลอะไรแล้วทำแคมเปญให้สอดคล้องกับอีเวนต์นั้น ๆ เพื่อให้แบรนด์ได้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา

     4.การเข้าถึงผู้บริโภค สินค้าและบริการต่อให้ดีแค่ไหน หากเข้าถึงยากก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คู่แข่งที่อยู่ใกล้กว่าแย่งชิงลูกค้าไป กรณีของ Boost Juice นอกจากขยายสาขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การจำหน่ายผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์และเดลิเวอรี่ถึงที่ยังเป็นการอำนวยความสะดวกอย่างที่สุดแก่ลูกค้าอีกด้วย

Sources:

https://www.smartcompany.com.au/industries/retail/how-to-succeed-in-retail-four-tips-from-boost-juice-ceo-jeff-allis/

https://www.news.com.au/finance/work/at-work/boost-juice-founder-claims-foreigners-work-harder-than-some-aussies/news-story/0531f9b0dd43bccf367e2442ebf1edc7

https://business.localsearch.com.au/case-study/from-kitchen-table-to-500-stores-the-boost-juice-success-story/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน