เรื่อง : สุทธิพงษ์ สุริยะ
ตราสัญลักษณ์ที่สื่อสารและมีความหมายถึงผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการรับรู้และอธิบายความหมายตัวตนของแบรนด์ได้ดีนั้น ย่อมนำมาซึ่งการเข้าถึงผู้บริโภคให้เกิดการจดจำ ยอมรับได้ง่าย ฉะนั้นที่มาของโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อธุรกิจ อันจะแสดงถึงความโดดเด่นและชัดเจน ในการขับเคลื่อนสร้างความพึงพอใจให้ตอบสนองลูกค้าได้อย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมธุรกิจอาหาร หรือสินค้าการเกษตรของไทย หากได้เรียนรู้เข้าถึงแก่นของคำว่าแบรนด์แล้ว โลโก้จะไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่เสมือนรูปภาพติดร้านเท่านั้น โดยไม่สามารถสื่อสารความเป็นตัวตนใดๆ ออกมาได้เลย นั่นก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายหรือทำลายโอกาสในธุรกิจด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมามีหลายองค์กร บริษัท ห้างร้านและผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เข้ามาขอคำแนะนำปรึกษาการออกแบบสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจอาหารกับทาง ขาบสตูดิโอ ซึ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องของแบรนด์เป็นอันดับต้นๆ โดยมีโลโก้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้คำตอบ ในเรื่องของความหมายที่ซ่อนเร้นและมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะทำให้แบรนด์เกิดคุณค่าตามมา มากน้อยเพียงใด
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างโลโก้หรือตราสินค้าของบริษัท อมรินทร์ฟู้ดแอนด์เบเวอเรจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้นำทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์อันดับ 1ในเมืองไทย โดยมีนิตยสารในเครือมากมาย ซึ่งร้านเบเกอรีและเครื่องดื่ม H&C ภายใต้การบริหารของบริษัทอมรินทร์ฟู้ดแอนด์เบเวอเรจ จำกัด โดยทำเลร้านส่วนมากตั้งอยู่ในมุมของร้านจำหน่ายหนังสือร้านนายอินทร์ ต้องยอมรับว่า เบเกอรีของร้าน H&C มีมากมายทั้ง เค้ก พาย คุกกี้ ฯลฯ มีรสชาติอร่อยถูกปาก ราคามิตรภาพและใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ที่สำคัญเป็นเบเกอรีโฮมเมดและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
จากที่กล่าวมานี้ คือ โจทย์ที่ทางผู้เขียนได้พูดคุยกับทางผู้บริหาร เพื่อขอทราบถึงแนวทางในการออกแบบโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ ซึ่งเดิมโลโก้ของร้านมีสีเขียวอยู่แล้ว และเพื่อให้การสื่อสารที่ตรงกันและต่อเนื่อง จึงตกลงเลือกใช้สีเขียวเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากสีเขียวธรรมดาเป็นสีเขียวขี้ม้าเพื่อเป็นฉากหลัง
จากนั้นก็เลือกออกแบบฐานภาชนะสำหรับวางเค้กที่มีลักษณะเป็นชั้นๆ จำนวน 4 ชั้นด้วยกัน เสมือนเค้กรูปทรงงานแต่งงาน โดยวาดภาพเป็นลายเส้นเพื่อให้ดูน่ารักและอ่อนนุ่ม และใช้สีน้ำตาลแทนเนื้อเค้ก เพราะสีน้ำตาลจะไปจับคู่กับสีเขียวเข้ากันได้สวย ตามทฤษฎีคู่สีสากลนั่นเอง พร้อมให้มีลูกเล่นลายจุดวงกลม เพื่อให้เค้กดูน่าสนใจและมีชื่อร้านพร้อมคำขยายความเพิ่มเติมเป็น H&C HOMEMADE
ซึ่งพอใครเห็นป้ายโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ แค่เพียงแวบเดียวก็สามารถเข้าใจได้ว่า ร้านนี้จำหน่ายเบเกอรีอย่างแน่นอน เพราะมีรูปภาพเบเกอรีปรากฎสวยสะดุดตา ชวนน่ารับประทานและยิ่งได้เห็นคำขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า เค้กโฮมเมดอบใหม่ ร้อนๆ จากเตา ส่งกลิ่นหอมกรุ่น ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น รู้สึกพึงพอใจ อยากมีประสบการณ์ร่วม และเปิดใจรับอยากลิ้มลอง รสชาติความอร่อยของเค้กที่ปรากฏเห็น
โลโก้หรือตราสัญลักษณ์ที่ออกแบบทุกครั้งจะต้องตีโจทย์ว่ามาจากธุรกิจอาหารประเภทไหน ต้องพยายามทำความเข้าใจ ศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้เข้าถึงแก่น และนำสิ่งที่ได้จนกลายเป็นบทสรุป เพื่อนำมาออกแบบเป็นโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ สื่อสารได้อย่างชัดเจนก็จะทำให้สะท้อนตัวตนของแบรนด์ ให้เกิดคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่ม เพราะด้วยความหมายที่ได้ซ่อนเร้นไว้ในโลโก้ดังกล่าว สามารถอธิบายได้และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เข้าถึงตัวผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ สะท้อนจุดยืนและมีบุคลิกที่ชัดเจนนั่นเอง
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเพียงแค่โลโก้อย่างเดียวจะสามารถอธิบายและสื่อสารได้อย่างมากมายเช่นนี้ ผู้เขียนเคยเห็นโลโก้ของบริษัทอาหารมากมาย ซึ่งบางทีโลโก้ก็ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่รูปภาพติดร้านเท่านั้น แต่ไม่สามารถส่งสารและความเป็นตัวตนของแบรนด์ที่ได้ออกแบบมาสื่อถึงผู้บริโภคได้ จึงทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจตามมามากมาย
ถ้าหากต้องการให้แบรนด์เป็นที่กล่าวขาน ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ฉะนั้นการจะออกแบบโลโก้ หรือตราสัญลักษณ์สินค้าอาหาร จะต้องมีกระบวนการคิด เพราะอย่าลืมว่าการออกแบบโลโก้ก็คือ การสร้างแบรนด์ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม ทำอย่างไรให้แบรนด์ของเรามีคุณค่าในสายตาของผู้บริโภค ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจะต้องสำรวจตัวเองว่า พร้อมจะทำการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ปรับเปลี่ยนแบรนด์เพื่อสะท้อนตัวตน จุดยืนให้มีบุคลิกที่ชัดเจน เพื่อโอกาสทางธุรกิจที่สดใสนั่นเอง