TEXT : Nitta Su.
PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
Main Idea
- แม้ทุกวันนี้เราจะก้าวเข้าสู่โลกการค้าออนไลน์กันมาหลายสิบปีแล้ว แต่น่าแปลกที่คำถามเบสิกง่ายๆ อย่าง จะขายออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ดี? ขายออฟไลน์อย่างเดียว ไม่ทำออนไลน์จะผิดไหม? ถ้าเพิ่งเริ่มออนไลน์วันนี้ จะเชยไหม ยังทันไหม? ยังคงเกิดขึ้นจริงและมีอยู่ในใจของผู้ประกอบการไทยหลายคน
- วันนี้ SME Thailand ชวนมารีเช็คหาคำตอบกันให้ชัดๆ อีกรอบจาก “เมธปริยา คำนวณวุฒิ” นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทยคนล่าสุดกัน
รู้จักสมาคมฯ
“สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย จริงๆ เดิมเราชื่อว่า “สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย” ก่อตั้งมาได้ประมาณ 22 ปีแล้ว โดยเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนทำเว็บไซต์ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 สาขา ได้แก่ โปรแกรมเมอร์, ดีไซน์เนอร์, มาร์เก็ตติ้ง และคอนเทนต์ จนมาทุกวันนี้สื่อออนไลน์ต่างๆ เริ่มเยอะขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะแค่เว็บไซต์อย่างเดียวแลว แต่ยังมีคอนเทนต์ในสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ เช่น Facebook Page, YouTube, Tiktok, IG เกิดขึ้นอีกมาก เราเลยมีการรีแบรนด์ใหม่ โดยมองว่าควรขยายโอกาสและองค์ความรู้ที่เรามี เพื่อเปิดรับสมาชิกให้มากขึ้น สร้างคนดิจิทัลมีคุณภาพออกสู่สังคมไทยให้มากขึ้น
“โดยประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับนอกจากองค์ความรู้ในการทำเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ และการอัพเดตเทรนด์ใหม่ๆ แล้ว ยังได้คอนเนคชั่นกลับไปด้วย เพราะเรารวบรวมคนออนไลน์ทุกแขนงไว้ที่นี่ นอกจากนี้ในอีกมุมหนึ่งยังเป็นการช่วยรีเช็คให้กับผู้บริโภคได้ด้วย เพราะก่อนการรับรองเป็นสมาชิกสมาคม เราจะมีขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่อยืนยันตัวตนผู้ประกอบการตาม 4 สาขาที่บอกไป ฉะนั้นจึงน่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้เรามีการคืนความสู่สังคมด้วย โดยทุกปีจะมีการจัดงาน Young Webmaster Camp สร้างเด็กดิจิทัลคุณภาพออกมาปีละ 80-100 คน”
กลยุทธ์ทำตลาดออฟไลน์ – ออนไลน์แบบมืออาชีพ
มาถึงการหาคำตอบที่ยังคาใจของผู้ประกอบการหลายคนเกี่ยวกับการทำตลาดออฟไลน์กับออนไลน์ว่าแบบไหนดีกว่ากัน หรือจะได้ไหมหากวันนี้เราไม่ทำออนไลน์ หรือถ้าเพิ่งเริ่มทำออนไลน์วันนี้จะสายเกินไปไหม นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ฯ ได้ให้แง่คิดเป็นข้อๆ ไว้ดังนี้
- ออนไลน์ - ออฟไลน์ ไม่สำคัญ ให้ดูที่ journey customer เป็นหลัก
“เชื่อว่าจนถึงวันนี้ก็ยังมีผู้ประกอบการที่แยกระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์ออกจากกันอยู่ จริงๆ มาถึงวันนี้แล้วอยากบอกว่าเราไม่ควรมองแยกกันแล้ว แต่อยากให้มองที่ Journey Customer เป็นหลักว่าจะทำยังไงเพื่อให้ลูกค้ารู้จักเรา เห็นเรา สามารถเข้าถึงสินค้าของเราได้ และถ้าสนใจเขาสามารถไปซื้อได้ที่ไหน ซึ่งเมื่อเราเข้าใจเส้นทางของลูกค้าได้ว่าเขา คือ ใคร มีพฤติกรรมยังไง เราก็จะรู้ว่าต้องเริ่มจากอะไรก่อน ยกตัวอย่างเช่นเคส “บ๊วยรัศมีแข” ของคุณรัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น เราจะทำยังไงให้ลูกค้ามาเจอได้ เสิร์ชคำว่า รัศมีแข ในกูเกิ้ลไหม เพราะลูกค้าน่าจะรู้จักอยู่แล้ว หรือถ้าไม่รู้จักล่ะ จะลองทำแอดรูปบ๊วยสวยๆ น่ากินขึ้นในเฟซบุ๊กไหม คือ เราต้องคิดก่อนว่าจะขายให้ลูกค้าที่รู้จักคุณรัศมีแข หรือขายให้คนที่ไม่รู้จัก แต่ชอบกินบ๊วย เพราะวิธีทำก็จะแตกต่างกันเลย
และสมมติถ้าคิดได้แล้ว ก็ต้องมาดูเส้นทางการไปต่อของลูกค้าอีก เช่น ลูกค้าเสิร์ชเจอในกูเกิ้ล เราจะให้เขาไปอ่านข้อมูลได้ที่ไหน เว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊ก ถ้าเขาสนใจจะสั่งซื้อได้ช่องทางไหนบ้าง ถ้าเป็นออนไลน์ก็ช้อปปี้กับลาซาด้าไหม หรือถ้าอยากขายออฟไลน์ อยากให้คนเห็นเยอะๆ จะต้องเข้าเซเว่นหรือเปล่า”
- ถึงทำออนไลน์ ก็อย่าทำแค่แพลตฟอร์มเดียว
“ในการทำตลาดออนไลน์ ไม่ใช่ว่าเราทำแค่ช่องทางใดช่องหนึ่งแล้วจะจบแล้ว แต่อยากให้ลองแยกออกมาเป็นแต่ละแพลตฟอร์มเลย เช่น ช้อปปี้, ลาซาด้า, เฟซบุ๊ก, ติ๊กต๊อก เพราะแต่ละอย่าง ก็ทำหน้าที่แตกต่างกัน บางทีเราอาจจำเป็นต้องมีมากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม เช่น เราเปิดบัญชีขายในช้อปปี้ไว้ แต่ลูกค้าสะดวกซื้อจากลาซาด้า เพราะเป็นสมาชิกอยู่ และมีโปรโมชั่นพิเศษ เราก็อาจต้องเปิดขายในลาซาด้าด้วย”
- ไม่ต้องใช้ออนไลน์ ก็ได้ ไม่ผิด ถ้าพอใจยอดขาย
“ถามว่าวันนี้ถึงจะหันมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่มีคนที่ทำออฟไลน์อย่างเดียวไหม ยังมีค่ะ ซึ่งก็ไม่ผิด ถ้าเขาพอใจเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น มีร้านขายกาแฟอยู่ในหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งทุกวันขายดีมาก แค่นี้ก็จะทำไม่ทันแล้ว ดังนั้นก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่เขาจะต้องทำตลาดออนไลน์เพิ่ม เพื่อให้คนเข้ามาแย่งซื้ออีก แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งเขาอยากขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น จ้างลูกน้องเพิ่ม ขยายสาขา เขาค่อยกลับมาทำตลาดออนไลน์ก็ได้ ไม่มีอะไรผิดหรือถูก ขึ้นอยู่กับความพอใจและจำเป็นของแต่ละคนมากกว่า”
- ข้อดีของออนไลน์ สะดวก ลงทุนน้อย เริ่มต้นด้วยตัวเองได้
“ถึงบางธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องใช้ออนไลน์ ก็ได้ แต่อยากให้ลองเปิดใจ เพราะยังไงออนไลน์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น เราเปิดร้านกาแฟขายอยู่อีกตึกหนึ่ง อยากได้ลูกค้าเพิ่ม ก็เลยไปทำใบปลิวมาแจก ค่าใบปลิวในละ 1 บาท จ้างคนไปยืนแจกอีกวันละ 400 บาท ซึ่งมันอาจได้ผลเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วถ้าคุณใช้เงินนั้นมาลองยิงแอดเลยดีกว่าไหม อันไหนง่ายกว่า บางทีก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดู คือ สุดท้ายแล้วอาจไม่ใช้ออนไลน์ก็ได้ แต่อยากให้ลองเปิดใจไว้ด้วย เพราะข้อดีออนไลน์ คือ ลงทุนน้อย สามารถเริ่มต้นทำเองง่ายๆ ด้วยตัวเองได้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี