TEXT : กองบรรณาธิการ
Main idea
- สถิติตัวเลขจากการวิเคราะห์ อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- แต่รู้ไหมว่านอกจากข้อมูลตัวเลขต่างๆ แล้ว บางครั้งสินค้าที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน หากลองสังเกตให้ดีๆ และนำมาคิดวิเคราะห์ เราอาจเจอข้อมูลดีๆ ที่ซ่อนอยู่ นำมาใช้เป็นแนวทาง วางแผนทำธุรกิจต่อไปในอนาคตก็เป็นได้
ปกติแล้วการทำนายล่วงหน้าว่าเศรษฐกิจจะดี หรือแย่ เรามักอิงจากตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งมักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ใหญ่ๆ ระดับโลก แต่รู้ไหมว่านอกจากนี้ยังมีวิธีดูตัวชี้วัดเศรษฐกิจง่ายๆ ได้จากข้าวของในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางอย่างดูแปลก ไม่น่าเชื่อ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว จะแปลกแค่ไหน และมีอะไรบ้างลองไปดูกัน
ดัชนีลิปสติก – ขายดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ
Leonard Lauder หนึ่งในทายาทมหาเศรษฐีของเครื่องสำอาง Estée Lauder ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าตั้งแต่ปี 2544 เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย เขาพบว่ายอดขายลิปสติกกลับเพิ่มขึ้น แทนที่จะลดลง เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นเนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจแย่ ยอดขายจากการซื้อชุดเดรสหรือกระเป๋าแบรนด์เนมหรูที่เป็นสินค้าราคาสูงลดลง ในขณะที่ลิปสติกยังเป็นสินค้าที่พอซื้อได้ และเป็นสิ่งทดแทนที่พอช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้บ้าง ดังนั้นยอดขายลิปสติกจึงเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ในขณะที่สินค้าเครื่องแต่งกายอื่นๆ กลับลดลง
ซึ่งทฤษฎีของลอเดอร์ก็ตรงกับข้อมูลจากหลายๆ ที่ เช่น ในปีเดียวกันยอดขายลิปสติกที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 11% ขณะที่แบรนด์เครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของโลกบางแบรนด์รายงานว่ายอดขายเพิ่มขึ้นในปี 2551 ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังถดถอย และมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยนอกจากลิปสติกแล้ว น้ำยาทาเล็บก็เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่สามารถช่วยทดแทนความรู้สึกดังกล่าวได้เช่นกัน
ดัชนีชุดชั้นในชาย - ยอดขายลดลง เมื่อเศรษฐกิจแย่
Alan Greenspan อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวไว้ว่าเมื่อเศรษฐกิจแย่ลง ผู้ชายจะเลิกซื้อชุดชั้นในใหม่ เนื่องจากชุดชั้นในเป็นเสื้อผ้าที่ผู้ชายสวมใส่น้อย และมักได้รับความสนใจน้อยเมื่อเทียบกับเสื้อผ้าชุดอื่นๆ เพราะต้องสวมใส่อยู่ด้านใน ไม่มีใครมองเห็น จนเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น พวกเขาจึงจะเริ่มเปลี่ยนบ็อกเซอร์หรือกางเกงชั้นในอีกครั้ง โดยระบุว่ายอดขายชุดชั้นในชายของสหรัฐฯ ในปี 2551 และ 2552 ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ลดลงอย่างมาก และกลับมาเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2553 - 2558 ตามข้อมูลของ Euromonitor บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดชื่อดังจากอังกฤษ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แม้เศรษฐกิจโดยรวมต้องหยุดชะงัก แต่กลับพบว่ายอดขายชั้นในชายไม่ได้ตกลงไปด้วย เนื่องจากเมื่อต้องกักตัวอยู่บ้านเป็นระยะเวลานานๆ ผู้ชายต้องการการสวมใส่ที่สบาย ยอดชุดชั้นในชายจึงอาจไม่ได้ลดลงตามสถิติที่เคยมีมา
ดัชนีชายกระโปรง – จะสั้นลงเมื่อเศรษฐกิจดี และยาวขึ้นเมื่อเศรษฐกิจแย่
มีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นชายกระโปรงและเดรสจะสั้นลง และจะยาวขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยลองดูได้จากปี 2503 ที่แฟชั่นมินิสเกิร์ต หรือกระโปรงสั้นได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ประชากรมีความสดใส ร่าเริง ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู ขณะที่ในปี 2513 ช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน กระโปรงจะกลับมายาวขึ้นอีกครั้ง โดยผู้หญิงนิยมใส่ชุดสม็อคยาวกันมากขึ้น สอดคล้องไปกับบรรยากาศที่อึมครึม ไม่สดใส เหมือนกับเช่นช่วงระบาดโควิด-19 ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่กับบ้าน ดังนั้นจึงมักสวมใส่ด้วยชุดสบายๆ หลวมๆ ก็เหมือนกับชายกระโปรงที่ยาว
ดัชนีผ้าอ้อม – ยอดขายลดลงเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ครีมทาผิวเด็กกลับสูงขึ้น
ผ้าอ้อม คือ หนึ่งในสินค้าที่จำเป็นของแม่และเด็ก แต่ด้วยราคาที่สูง และการใช้งานที่ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ โดยคิดเป็นเฉลี่ยต่อปีของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ที่มีลูกเล็กจะอยู่ที่ 500-900 ดอลล่าร์ต่อปี ดังนั้นในปี 2554 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำพ่อแม่บางคนจึงอาจหาวิธีลดปริมาณการใช้ลง เช่น ใช้เฉพาะช่วงกลางคืนในเวลานอน ส่วนกลางวันอาจใช้ผ้าอ้อมผ้าซักได้ ฝึกให้ขับถ่ายเป็นเวลา นั่งกระโถนบ้าง หรือเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ที่มีคุณภาพด้อยลงมาหน่อย จึงอาจทำให้เด็กเกิดความเปียกชื้นที่ผิวหนัง ทำให้เป็นผดผื่นคันได้ ยอดขายครีมทาผิวจึงเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 8% ตามข้อมูลหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลที่รายงานไว้ในช่วงเวลานั้น
ดัชนีกล่องกระดาษแข็ง
ดัชนีสุดท้ายนี้อาจไม่แปลกเท่าไหร่ และอยู่ใกล้ตัวกับผู้ประกอบการธุรกิจไม่ว่าจะทั้งออฟไลน์ หรือออนไลน์ เพราะกล่องกระดาษแข็ง คือ บรรจุภัณฑ์สำคัญที่ใช้ในการขนส่งสินค้าไปยังที่ต่างๆ ไม่ว่าร้านค้า คลังสินค้า หรือแม้แต่ผู้บริโภคเองก็ตาม ฉะนั้นเมื่อเศรษฐกิจดี ยอดขายสินค้ามีปริมาณมาก ดัชนีกล่องกระดาษแข็งจึงเพิ่มสูงขึ้นไปตามด้วยนั่นเอง
อยากลองวิเคราะห์ด้วยตัวเองต้องเริ่มต้นยังไง
สรุป ดัชนีแปลกๆ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบนำมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วหากเราลองฝึกสังเกตดูจากสิ่งเล็กๆ รอบตัว ลองวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล เราอาจมองเห็นแนวโน้มจากความเชื่อมโยงในสิ่งของต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค แม้จะไม่ได้วิเคราะห์ออกมาเป็นตัวเลขเป๊ะๆ แต่ก็นำมาใช้คาดเดาทิศทางอนาคตให้ธุรกิจต่อไปได้
ซึ่งหากใครอยากลองเริ่มฝึกวิเคราะห์ด้วยตัวเอง อาจเริ่มได้จาก
1. สังเกตจากสิ่งรอบข้าง ดูว่าแต่ละสินค้ารอบตัวในชีวิตประจำวันของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
2. จดรวมรวบสถิติ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดูว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ อะไร จดบันทึกข้อมูลสินค้าและสถานการณ์รอบข้างที่เกิดขึ้นเอาไว้
3.หาจุดเชื่อมโยงด้วยเหตุและผล ลองนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ หาเหตุผล และจุดเชื่อมโยงกัน ไม่แน่คุณอาจได้ข้อมูลดีๆ กลับมาใช้ในธุรกิจก็ได้
https://businessreview.berkeley.edu/economic-indicators-lipstick-and-underwear/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี