TEXT : ปองกมล ศรีสืบ
Main Idea
- กว่า 52 ล้านคน คือ จำนวนคนไทยที่เชื่อเรื่องความมู
- ตั้งแต่แบรนด์เล็กไล่ถึงแบรนด์ใหญ่จึงให้ความสนใจตลาดสายมู เพราะแค่ 10% ของตลาดนี้ก็ 5 ล้านกว่าคนแล้ว
- ถ้าแบรนด์หรือธุรกิจสนใจตลาดนี้จะทำอย่างไรให้แบรนด์ปัง สามารถบาลานซ์ระหว่าง ความมู ไม่ให้ดูเป็นเรื่องงมงาย แต่ได้ยอดขายเพิ่ม
คงไม่ต้องอ้างอิงที่มาที่ไปให้มากความว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสของ “สายมู” มาแรงขนาดไหน
กระแสความเชื่อต่างๆ และการทำนายทายทักด้านโหราศาสตร์ ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อการออกวาง จำหน่ายผลิตภัณฑ์สายมูในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการแก้ดวงหรือเพื่อการเสริมดวงก็ตาม
ความน่าสนใจของตลาดสายมู คือเป็นตลาดที่สามารถกวาดผู้คนมาได้ทุก Segment
อะไรจะขนาดนั้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับประเภทเดียวกัน ในตลาดจะมีตั้งแต่ราคาหลักร้อย ไปจนถึงหลักหมื่นปลายๆ แบบนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Segment ไหน ก็สามารถจับจ่ายเป็นเจ้าของได้ตามกำลังซื้อ หรือแม้แต่การตลาดรอบๆ ตัว ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ล้วนแต่มีแคมเปญมูเตลูเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
มูแบบไหนให้แบรนด์ปัง
ลองมาสังเกตการแล้วคิดนอกกรอบไปพร้อมกันว่า เราจะลงมาเล่นกับเทรนด์นี้ได้อย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็มีตัวเลขทางสถิติเคาะออกมาแล้วว่าคนไทยที่เชื่อเรื่องความมู มีอยู่ถึง 52 ล้านคน!!!
กวาดมาได้แค่ 10% ก็ 5 ล้านกว่าคนแล้ว มูอะไร มูอย่างไร น่าคิดจริงๆ
เริ่มจากช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาไปจนถึงตรุษจีน จะสังเกตเห็นได้ว่ากระเช้าของขวัญเริ่มมี Theme กระเช้าเสริมมงคล ของฝากของขวัญต่างๆ ก็อิงกับการเสริมมงคล แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และบ้านจัดสรร ก็มีการเอาเรื่องฮวงจุ้ยเข้ามาทำการตลาด ค่ายรถยนต์มีการใช้คอนเทนต์ สีเสริมดวงช่วยลูกค้าเลือกสีรถ หรือค่ายโทรศัพท์ที่ใช้ซินแสมาช่วยเลือกเบอร์มงคลเสริมดวง
หรือจะมูแบบง่ายๆ ตรงตัวก็มีหลายแบรนด์ที่นำเอาเรื่องการทำนายดวงประจำวัน ประจำสัปดาห์ หรือประจำเดือนส่งให้ลูกค้าสมาชิก ทั้งระดับธนาคาร ห้างสรรพสินค้า หรือแบรนด์ใหญ่ต่างๆ ก็ใช้วิธีนี้กันเยอะ
พูดถึงค่ายใหญ่ๆ แล้ว มีอีกตัวอย่างที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ QR Code แม่มณีของ SCB จากที่เปิดตัว มาครั้งแรก ลูกค้าไม่ยอมวางป้าย QR Code โอนเงินหน้าร้าน แต่เมื่อพลิกไอเดียสร้าง ‘แม่มณี’ ขึ้นมาคู่กับ QR Code เท่านั้นแหละ เปิดตัวแม่มณีครั้งแรกก็มียอดวิวสูงถึง 8 ล้านครั้ง มียอดคนสมัครใช้งานกว่า 1.2 ล้านคน แล้วภายใน 6 เดือนแรก ก็มียอดทำธุรกิจมากกว่า 1.8 ล้านบาท เคสนี้ เป็นอะไรที่คลาสสิกและ Touching ได้ตรงจริตคนไทยมากๆ แค่เปลี่ยน QR Code ธรรมดาๆ เป็นรูปนางกวักเท่านั้นเอง ประเด็นที่ทำให้ประสบ ความสำเร็จ คงไม่ใช่แค่เรื่องความมูอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าถึงใจคนได้มากกว่า
เทคนิคทำสินค้าให้เข้ากับมู
ทีนี้ มาอ้างอิงถึงข้อมูลงานวิจัยกันบ้าง มีผลการทำสำรวจออกมาว่า 5 อันดับความเชื่อของคนไทย เรียงตามลำดับคือ โหราศาสตร์ / พระเครื่อง / สีมงคล / ตัวเลขมงคล และเรื่องเหนือธรรมชาติ
แน่นอนว่าอันดับเหล่านี้ส่งผลกับแคมเปญการตลาดอย่างไม่น่าเชื่อ อันดับแรก โหราศาสตร์ มีการเอาโหราศาสตร์ไปใช้ในการทำการตลาด ใครเกิดวันไหน เกิดเดือนไหน ราศีใด หรือปีนกษัตรอะไร ต้องทำอะไร เสริมแบบไหนแก้อย่างไร เอาข้อมูลพวกนี้แหละ มาเชื่อมโยงกับการตลาดของตัวเองให้ได้ เป็นกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี
ว่าด้วยเรื่องโหราศาสตร์นี่ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะคิดแคมเปญไม่ยาก แต่ถ้าไม่เกี่ยวล่ะ จะไปทางไหน ลองมาดูตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบมากก็คือ กระดาษทิชชู่ Zilk ซึ่งดึงหมอช้างมาทำแคมเปญ สร้าง ลวดลายกล่องทิชชู่เป็น 4 คอลเลกชั่น สำหรับใช้แก้ชงและเสริมมงคลภายในบ้านไปพร้อมๆ กัน นอกจากคอนเทนต์โดนใจแล้ว ดีไซน์ก็สวย แถมยังเป็นกราฟฟิกรูปเสริมมงคลแก้ชงไปอีก
จากแค่ทิชชู ก็คือ ทิชชู แต่ถ้ามันเสริมมงคลได้ Why Not ? ล่ะ
สถิติอันดับสอง เป็นเรื่องของพระเครื่อง ถ้าตลาดของผลิตภัณฑ์เราไม่เกี่ยวแต่อยากมีเอี่ยวบ้าง ต้องทำไง ลองคิดในแง่ของการเอาพระเครื่องมาเป็นกิมมิคสิ เล่นตรงตัวคุณอาจจะไปทำบุญ เช่าวัตถุมงคล ในกระแส แล้วเอามาทำโปรโมชั่นแถมไปกับยอดซื้อ หรือเอารูปพระเครื่องมาใช้เป็นดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ ซะเลยก็ได้ จะเสื้อผ้า Accessory แก้วน้ำ หรือแม้แต่หน้าขนมเค้กก็ทำได้ (น่าจะมีคนทำแล้วด้วย)
อันดับ 3 สีมงคล เรื่องนี้น่าเล่นมากและเป็นหัวข้อที่นักการตลาดของแบรนด์ต่างๆ เอาไปใช้กันอย่าง แพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ รวมไปถึงสินค้าไอที Gadget ต่างๆ ก็ล้วนแต่ ใช้ความเชื่อมโยงของสีมงคลได้ หรือแม้แต่ ถุงผ้า กระเป๋า ถุงเท้า ฯลฯ อันนี้เล่นง่ายเลย เพราะทุกอย่างต้องมีสี
ลำดับถัดมาเรื่องตัวเลข ส่วนมากคนจะนึกถึงเบอร์โทรศัพท์มือถือ แต่ว่าถ้าคุณอยู่ในธุรกิจที่ไม่เกี่ยว คุณก็เอาตัวเลขเสริมดวงมาเสริมกับผลิตภัณฑ์ได้ ลองนั่งนึกเล่นๆ ดูว่าเอาไปแปะตรงไหนได้บ้าง อย่างล่าสุด เทรนที่มาแรงอีกอย่างก็คือ วอลเปเปอร์โทรศัพท์มือถือสายมู ที่ใส่กราฟฟิคมาทั้ง พระเครื่อง ยันต์ สี และตัวเลข แค่ภาพเดียว ก็ได้ครบจบทุกเรื่อง แค่ทำการบ้านหาคอนเทนต์และทำงานกราฟฟิกดีไซน์ให้เก๋ๆ ก็ปังแล้ว
จากที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคคนไทย จะเห็นได้ว่าความมูนั้น อยู่รอบตัวเราในทุกๆ เรื่อง
มันอยู่ที่ว่าคุณจะจับเทรนด์นี้แล้วลงเล่นในตลาดนี้หรือไม่เท่านั้น
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ ต้องมองตลาดให้ขาด และต้องตีโจทย์ให้แตกว่าในการเล่นกับเทรนด์นี้ จะต้องก้าวข้ามเส้นระหว่าง ความเชื่อ ความมู กับความงมงายให้ได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์
นอกจากนี้ถ้าสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความมูกับ Brand Personality ให้ได้ก่อนจะตัดสินใจ Launch แคมเปญออกไป ก็น่าจะปังกว่าเล่นแคมเปญเรียบๆ ธรรมดาๆ
เผลอๆ ก่อนเล่นเทรนด์สายมู เจ้าของธุรกิจก็อาจจะมูนำไปก่อนแล้วก็ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี