TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
Main Idea
- จะดีแค่ไหนถ้าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ทั้งวันสามารถช่วยบำบัด หรือมีคุณสมบัติเหมือนยา
- ไม่ใช่เรื่องอนาคต เพราะขณะนี้มีนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่ใช้เทคโนโลยี Red Light Therapy (RLT) แสงสีแดงและแสงอินฟราเรดผ่านผิวหนังเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ/ข้อต่อ และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น
- และนวัตกรรมนี้กำลังแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลกที่เรียกว่า "Well fashion”
หลายปีที่ผ่านมา เราอาจเคยได้ยินนวัตกรรมเสื้อผ้าที่ทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น เช่น Dry Fit เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษในการระบายความชื้น หรือเหงื่อออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว ให้ความรู้สึกสบายตัวขณะสวมใส่ รวมถึงนวัตกรรมสิ่งทอแบบ antimicrobial textiles หรือผ้าต้านจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติต้านจุลินทรีย์ที่เคลือบอยู่บนเส้นใยผ้า ช่วยป้องกันเชื้อรา และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือเสื้อผ้าที่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และเสื้อผ้าที่เก็บข้อมูลจากสัญญาณชีพขณะสวมใส่ เป็นต้น
แต่นวัตกรรมเหล่านี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ทำให้บรรดาแบรนด์แฟชั่นและผู้ผลิตเสื้อผ้าต่าง ๆ คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือศาสตร์ต่าง ๆ ที่สามารถผสานกับเครื่องนุ่งห่มได้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกายและอารมณ์ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘Well fashion” เทรนด์เสื้อผ้าอัจฉริยะแบบใหม่ที่เน้นการดูแลและบำบัดร่างกายผู้สวมใส่ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้าผสมสมุนไพรเพื่อบำบัดบางอาการ หรือเสื้อผ้าที่ใช้เทคโนโลยี Red Light Therapy (RLT) สามารถปล่อยแสงสีแดงและแสงอินฟราเรดผ่านผิวหนังเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ/ข้อต่อ และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น
ทำความรู้จัก Well fashion
‘Well fashion” กลายเป็นกระแสในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการพัฒนาเสื้อผ้าที่มีสรรพคุณเหมือนสกินแคร์ที่ช่วยแก้ปัญหาผิวหนังหรือสวมใส่แล้วดีต่อสุขภาพผิว เคนเน็ธ เลา เจ้าของบริษัทคอมฟี่นิต (Comfiknit) ผู้ผลิตสิ่งทอในฮ่องกงให้ความเห็นว่า “คนส่วนใหญ่มองเสื้อผ้าโดยเน้นความสวยงามเป็นหลัก แต่ถ้านึกได้ว่ามีผ้าบางอย่างที่เราสวมใส่และสัมผัสผิวเรา 24 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะเริ่มเกิดคำถามแล้วว่าตกลงมันดีหรือไม่ดีอย่างไร เราอาจจะกังวลกับอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค หรือกระทั่งเครื่องประทินผิว แต่สำหรับเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ มีใครนึกถึงบ้าง”
เมื่อไม่นานมานี้ "คอมฟี่นิต" แบรนด์เสื้อผ้าและสิ่งทอของเคนเน็ธได้เปิดตัวเสื้อยืดสำหรับผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เสื้อดังกล่าวตัดเย็บด้วยผ้าที่ไม่เพียงสามารถขจัดเหงื่อแต่ยังคงความความชุ่มชื้นที่พอเหมาะในการส้างสมดุลความเป็นกรดด่างที่ทำให้ผิวมีสุขภาพดีและแข็งแรง คุณสมบัติของเสื้อยืดรุ่นนี้ได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยหลายแห่ง รวมถึงสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนางาซากิ “เราไม่ได้ใส่อะไรลงไปในผ้า แต่เราใช้คุณสมบัติทางธรรมชาติของผ้าที่สามารถทำงานได้เหมือนยา ผ้าถักทอ 3 ชั้นซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษจะมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อผิวเวลาสวมใส่ และคุณสมบัตินี้จะถาวรและคงอยู่ตลอดไป
คอมฟี่นิตไม่ใช่ผู้ผลิตรายเดียวที่รังสรรค์เสื้อผ้าแนว ‘Well fashion” บริษัทเสื้อผ้ากีฬาชั้นนำของอเมริกาอย่าง อันเดอร์อาร์เมอร์ ก็แนะนำ “UA Rush” เสื้อและกางเกงที่ใช้เทคโนโลยีอินฟาเรดในการบรรจุแร่ที่จะจับพลังงานที่ใช้ขณะออกกำลังกายและสะท้อนเข้าสู่กล้ามเนื้อผู้สวมใส่ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้พลังงาน ความแข็งแกร่ง และความอดทนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อให้กับผู้สวมใส่อีกด้วย
ด้านบริษัทลูมิตัน สตาร์ทอัพอีกรายในสหรัฐฯ ซึ่งนำเสนอเสื้อผ้าที่สามารถเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นแสงอินฟาเรดสีแดงเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ/ข้อต่อ และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รวมถึงปกป้องผิวจากแสงยูวี ทำให้รู้สึกเย็นสบาย เกตส์ ไฮน์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลูมิตันกล่าวว่า “ในวงการแพทย์มีการใช้แสงสีแดงเพื่อช่วยในการบำบัดอยู่แล้ว แต่เราใช้เทคโนโลยีทำให้เสื้อผ้าดูดซับแสงอาทิตย์แล้วแปรเป็นแสงสีแดงที่กระตุ้นเซลล์และไมโทคอนเดรีย (เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์) ทำให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วและลดอาการอักเสบ”
นอกจากนั้น ยังมีผู้ผลิตเสื้อผ้าอีกหลายแบรนด์ที่จับกระแส ‘Well fashion” รวมถึง “บูกิ” (Buki) แบรนด์เสื้อผ้าลำลองที่คิดค้นผ้าผสมคอลลาเจนจากทะเลลึก เมื่อสวมใส่จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิว ทำให้ผิวนุ่มและอิ่มน้ำตลอดเวลา และแบรนด์ “พีเอช5” (PH5) ผู้ผลิตชุดนอนที่ทำเสื้อผ้าผสมโมเลกุลไฮยาลูรอน เมื่อสัมผัสกับผิวจะมีคุณสมบัติเหมือนมาสก์พอกหน้าและครีมบำรุงผิว
ที่อินเดียซึ่งขึ้นชื่อด้านศาสตร์อายุรเวท ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์มูนซุนบลูมส์ (Monsoon Blooms) ก็นำศาสตร์ด้านนี้มาใช้ในการผลิตด้วยการย้อมผ้าด้วยสมุนไพรหลายอย่าง ทำให้เสื้อผ้ากลายเป็นยาบำบัดผิวหนัง ยกตัวอย่าง การนำสะเดามาใช้ช่วยฆ่าเชื้อ ต่อต้านการอักเสบ และยับยั้งฮีสตามีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือการใช้เครื่องเทศ เช่น ลูกซัด (Fenugreek) ที่วิตามินและแร่ธาตุในการบำรุงผิว
อย่างไรก็ตาม ‘Well fashion” หรือเสื้อผ้าเพื่อการบำบัดเหล่านี้ผลิตออกมาเพียงล็อตเล็ก ๆ และโดยมากเป็นเสื้อผ้าลำลองหรือชุดกีฬามากกว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น ที่สวมใส่ทุกวัน ส่วนการคิดค้นนวัตกรรมนั้นก็มีหลากหลายระดับ ในอนาคตจะมีการผลิตจำนวนมาก หรือได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้บริโภคหรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี