TEXT : กองบรรณาธิการ
ถ้าเมื่อ 10 กว่าปีก่อน E-Commerce หรือการค้าขายผ่านโลกออนไลน์เป็นเรื่องไกลตัวที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ในวันนี้ “META – Commerce” เทรนด์การค้ายุคใหม่ที่ผู้ซื้อจะได้รับประสบการณ์เสมือนจริงจากการเลือกซื้อสินค้าในรูปแบบกราฟิก 3 มิติ มากกว่าการซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซที่ใช้กันในปัจจุบัน ก็คงจะไม่แตกต่างกัน เพราะอีกสิบปีข้างหน้านี่อาจกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนกับที่เรากำลังซื้อของผ่านโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ก็ได้
META – Commerce คือ อะไร?
กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) คนใหม่ล่าสุดได้เล่าถึง META – Commerce เทรนด์การตลาดออนไลน์อนาคตที่คิดว่าไม่เกินสิบปีต่อจากนี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอนว่า
“Meta - Commerce จริงๆ ก็คือ การซื้อขายสินค้าบนโลกเสมือนจริง หรือ Metaverse ซึ่งเราคิดว่าต่อไปอีคอมเมิร์ซจะพัฒนาไปแนวทางนี้ โดย ณ ตอนนี้เราอาจเริ่มต้นจากการซื้อขายสินค้าในเกมก่อน แต่ต่อไปจะกลายเป็นอนาคตการค้าออนไลน์ที่เติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแน่นอน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึง สัมผัส หรือทำความรู้จักกับสินค้านั้นๆ ได้วิเศษมากขึ้นกว่ารูปแบบการซื้อขายออนไลน์ที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสทางการขายให้กับธุรกิจนั่นเอง”
จีน นำร่องพัฒนา Metaverse เบอร์ต้นๆ ของโลก
โดยถ้าพูดถึงการพัฒนาโลก Metaverse ว่าไปถึงไหนกันแล้ว นายกสมาคม THECA กล่าวว่า 3 ประเทศที่เป็น Top 3 ที่เริ่มมีการวางแผนเตรียมความพร้อมรองรับโลกเสมือนจริงดังกล่าวแล้ว ได้แก่ อิสราเอล, สหรัฐอเมริกา และจีน โดยเฉพาะกับจีนที่เคยมีการบล็อกหรือสั่งห้ามประชากรไม่ให้เล่นเฟซบุ๊ก แต่ ณ วันนี้กลับเป็นประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลก Metaverse เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีการพัฒนาสูงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ราว 57 เปอร์เซ็นต์
โดยในปี 2565 จีนได้มีการออกนโยบายเกี่ยวกับ Metaverse ไปแล้วกว่า 7 มณฑล17 เมือง ตัวอย่างเช่น ในกรุงปักกิ่งที่มีการให้เงินอุดหนุนทางค่าเช่าสถานที่ให้กับองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Metaverse และสนับสนุนการรวมตัวกันขององค์กร และหน่วยงานบริการ Metaverse ไปจนถึงจัดตั้ง Sub-Fund กองทุน Metaverse ที่มุ่งเน้นการลงทุนระยะแรกและระยะยาวขึ้นมา
หรืออย่างในเขตเทียนเฮอที่มีการเปิดตัวการลงทุนทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นล้านหยวน นําร่องอุตสาหกรรม Metaverse 10 แห่งแรก ที่ได้รับมอบป้ายอย่างเป็นทางการในโครงการก่อสร้าง 15 แอปพลิเคชั่นนําร่อง รวมถึงได้มีการเซ็นสัญญาร่วมกับผู้ประกอบการ 30 เจ้า เช่น Zhengjia Plaza, NetEase และ Kugou เพื่อสร้างศูนย์สร้างภาพ AI และ Metaverse ในอนาคต
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการนำเสนอข่าวของหลายสำนักเมื่อต้นปี ที่กล่าวว่านักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ได้คาดการณ์ว่าตลาด Metaverse ในประเทศจีนมีแนวโน้มมีมูลค่าสูงถึง 52 ล้านล้านหยวน หรือราว 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Tencent, NetEase, ByteDance และ Alibaba จะเข้ามาเป็นผู้เล่นคนสำคัญในโลก Metaverse เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์จาก CloudTree ที่มองว่า Metaverse จะกลายมาเป็นอนาคตของการติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์
การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และอนาคต Meta – Commerce ในไทย
โดยหากมองภาพรวมมูลค่าอีคอมเมิร์ซตลาดโลกในปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้าไว้ว่าน่าจะแตะสูงถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากคิดเป็นเฉพาะ Meta - Commerce น่าจะอยู่ที่ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยทั้งรายย่อยและรายใหญ่พบว่าในปี 2565 นี้ตัวเลขโดยประมาณการน่าจะสูงถึง 8.17 แสนล้านบาท และในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2568 น่าจะเติบโตสูงขึ้นถึง 4 ล้านล้านบาท เรียกว่าเติบโตกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว เหตุผลเนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีความคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจต่างๆ ก็หันมาทำการค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย
หากแบ่งตามประเภทธุรกิจ พบว่าธุรกิจที่มีมูลค่าเติบโตสูงที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 ประเภทธุรกิจ e-Commerce / Shopping Online โดยคาดการณ์การเติบโตกว่า 128.5 % ในปี 2568 โดยมีมูลค่าสูงถึง 120,000 ล้านบาท อันดับที่ 2 ได้แก่ ประเภทธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ โดยคาดการณ์การเติบโตกว่า 29.91 % โดยมีมูลค่าสูงถึง 29,000 ล้านบาท ในปี 2568 และอันดับที่ 3 ประเภทธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหาร โดยคาดการณ์การเติบโตกว่า 22.37 % โดยมีมูลค่าสูงถึง 18,000 ล้านบาท ในปี 2568
โดย ณ ปัจจุบันนี้หากมองความพร้อมของประชากรชาวไทยที่มีต่อโลก Metaverse น่าจะอยู่ที่ราว 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ โดยมองว่าจะเริ่มฉายภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น เช่น การใช้แว่น VR ให้เห็นได้ใน 5 – 10 ปีต่อจากนี้ โดยเริ่มกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ก่อน
ซึ่งแม้วันนี้ Meta – Commerce อาจเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่คุ้นเคยสักเท่าไหร่ และมองภาพไม่ออก แต่ต่อไปในอนาคตก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งเหมือนกับที่เราทำการค้าขายกันบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันนี้ก็ได้
“การพูดถึง Meta - Commerce ในวันนี้ ก็เหมือนกับว่าเราพูด E-Commerce เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคนก็ไม่อยากฟัง เพราะเข้าใจยาก และไม่เชื่อว่าจะใช้ได้จริงเหรอ แต่พอมาถึงทุกวันนี้ทุกอย่างก็กลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการที่เราเริ่มพูดถึง Meta - Commerce เพราะเรารู้ดีว่าอีกไม่เกินสิบปีข้างหน้านี้ ก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องใช้เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต่อไปเทคโนโลยีจะถูกลงจนทุกคนสามารถใช้ได้ และเมื่อถึงวันนั้นรูปแบบการค้าบน Meta – Commerce จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญให้ SME หรือผู้ประกอบการรายเล็กๆ สามารถทำการแข่งขันกับรายใหญ่ได้อย่างเท่าเทียมในการจูงใจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและมีประสบการณ์ร่วมกับสินค้านั้นๆ ได้มากขึ้น ก่อนทำการตัดสินใจซื้อ”
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจับจุดจากตรงไหนดี นายกสมาคมฯ แนะนำว่าอยากให้เริ่มต้นจากการทดลองเป็นผู้ใช้งานก่อน เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ จนวันหนึ่งเมื่อมีโอกาสเหมาะเข้ามาจะได้นำมาใช้พัฒนาธุรกิจต่อไป
“ยังไม่จำเป็นที่เราต้องเริ่มลงทุนทำเลยในวันนี้ ขอแค่ได้ลองเข้าไปเล่น ไปเรียนรู้และใช้ให้เป็นก่อน AR เป็นยังไง VR เป็นยังไง เพราะคุณไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าต้องทำยังไง จนกว่าจะได้ลองเป็นลูกค้าเอง หรือผู้ใช้งานจริงก่อน เหมือนตอนยุคแรกของอีคอมเมิร์ซ เราก็ต้องลองเข้าไปซื้อขายจริงก่อน ถึงค่อยมาเป็นผู้ขายเต็มตัว”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี