จากภาพรวมตลาด e-Commerce ปี 2022 ที่เติบโตขึ้นมากกว่า 140 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทุกธุรกิจต่างให้ความสำคัญที่จะเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซไปโดยปริยาย โดยการช้อปปิ้งนับเป็นกิจกรรมที่คนไทยนิยมทำมากที่สุดเป็นอันดับ 3 บนโลกออนไลน์ โดยผู้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 9 ใน 10 มักหาข้อมูลและทำการเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้ออยู่เสมอ โดยแบ่งพฤติกรรมได้ คือ
- 55 % เช็กข้อมูลออนไลน์ก่อนซื้อ
- 28 % เช็คข้อมูลออนไลน์และไปดูที่หน้าร้าน
- 10 % ไปดูที่หน้าร้าน
- 8 % ซื้อเลย ไม่หาข้อมูลก่อน
แต่ในขณะที่เหมือนจะมีโอกาสมากมายในการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ ปริมาณคู่แข่งร้านค้าต่างๆ ก็ย่อมต้องมากตามไปด้วย ทำยังไงธุรกิจขายดี ลูกค้าหาร้านได้เจอ ลองไปฟังคำแนะนำจาก Priceza เว็บไซต์สำหรับค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาที่มาแนะเคล็ดลับโดยตรงด้วยตัวเองเลย
หาสินค้าขายดีมาขาย
ข้อแรกสั้นๆ ง่ายๆ เลย คือ หาสินค้าขายดีมาขาย โดยลองสำรวจความต้องการของผู้บริโภค ความต้องการของตลาดว่าช่วงนี้อะไรกำลังมา อะไรกำลังเป็นเทรนด์ หรือมีสินค้าอะไรอีกบ้างที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นๆ ได้ หรือเราเองสามารถปรับสินค้าที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคได้ยังไง ซึ่งหากเรามีสินค้าดีเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ในมือแล้วสเต็ปต่อไปก็ไม่ยากว่าจะทำยังไงให้ขายดีได้
วางในที่ที่หาซื้อง่าย
ข้อต่อมาหลังจากการเฟ้นหาสินค้าดีเป็นที่ต้องการของตลาดมาขายแล้ว ก็คือ ทำตัวเองให้สามารถหาซื้อได้ง่ายด้วย โดยช่องทางการค้าขายออนไลน์นั้นมีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์แบรนด์, มาร์เก็ตเพลส, โซเชียลคอมเมิร์ซต่างๆ ดังนั้นแล้วเราควรเลือกใช้ให้เหมาะกับสินค้าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการ ช่องทางใดควรใช้เป็นช่องทางหลัก ช่องทางใดควรใช้เป็นช่องทางรอง ซึ่งแน่นอนว่าการทำให้สามารถค้นพบได้ในหลากหลายช่องทาง ย่อมสร้างโอกาสที่มากกว่า แต่ทั้งนี้ต้องดูกันที่ความเหมาะสมกับกลยุทธ์ธุรกิจที่วางไว้ด้วย
ทำให้ลูกค้าเห็นเยอะๆ
แน่นอนว่าถึงแม้เราจะคัดเลือกช่องทางที่เหมาะสมได้แล้ว แต่การจะทำให้สินค้าของเราเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ลูกค้าสามารถค้นหาได้เจอ บางครั้งอาจต้องลงทุนทุ่มงบโฆษณาหรือทำการตลาดกันบ้าง เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นได้
บริการดี ตอบเร็ว ส่งของตรงเวลา
3 สิ่งนี้ คือ หัวใจสำคัญสำหรับการทำธุรกิจออนไลน์เลย ที่จะช่วยให้คุณได้ทั้งยอดขายที่เพิ่มขึ้น จำนวนลูกค้าที่มากขึ้นหลังจากที่เราสามารถทำให้ลูกค้าตัดสินใจคลิกเข้ามาซื้อสินค้าของเราได้แล้ว โดยวิธีการที่จะช่วยให้คุณสามารถให้ดูแลลูกค้าได้ดี ไม่จำเป็นที่จะต้องลงมือทำเองทุกอย่างทุกขั้นตอน ยกตัวอย่างเช่นการจัดส่งสินค้าแทนที่จะทำเองคุณอาจจ้าง Outsource ภายนอกให้เข้ามาช่วยดูแลบริหารจัดการคลังสินค้า รวมถึงจัดส่ง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว สร้างความประทับใจแก่ลูกค้าก็ได้ เพื่อจะได้นำเวลาไปบริหารจัดการส่วนอื่นๆ เช่น หากลยุทธ์ใหม่ๆ มาดึงดูดใจลูกค้า เป็นต้น
ดูแลรักษาฐานลูกค้าไว้ให้ดี
ผ่านมาจนถึงข้อสุดท้าย เมื่อคุณสามารถทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจมาเป็นลูกค้าของคุณได้แล้ว ซึ่งการจะได้ลูกค้ามาแต่ละคนในปริมาณคู่แข่งที่มากมายมหาศาลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ดังนั้นแล้วคุณต้องพยายามรักษาพวกเขาให้ดีๆ ไม่ให้หลุดลอยไปไหน โดยนอกจากการให้บริการที่ดี ประทับใจแล้ว อาจลองเพิ่มในส่วนของการดูแลเฉพาะบุคคลเข้าไปด้วย โดยการใช้เทคโนโลยีเก็บสถิติ วิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของลูกค้า เพื่อหากเวลามีสินค้าอะไรที่เหมาะสมกับลูกค้าคนนั้นๆ คุณจะได้นำเสนอได้ถูกต้อง จากที่จะขายได้เพียงแค่อย่างเดียว หรือชิ้นเดียว คุณก็อาจขายได้เพิ่มขึ้นจากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ในมือ โดยไม่ต้องเสียเวลาวิ่งตามหาลูกค้าใหม่ๆ นั่นเอง
ที่มา : งานสัมมนา depa
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี